‘IMF’ เผยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดันโอกาสเศรษฐกิจเวียดนาม

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีทิศทางที่จะขยายตัว 6.5% จากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปี 2567

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องหนี้สาธารณะและการปรับกันชนทางการคลังให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

การค้าชายแดนเมียนมา-จีนพุ่งขึ้นเป็น 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและจีนมีมูลค่าทะลุ 3.279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่บันทึกไว้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งที่ 178.25 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565-2566 อย่างไรก็ดี เมียนมาดำเนินการค้าขายข้ามพรมแดนกับจีนเพื่อนบ้านผ่านทาง มูเซ, แลวแจ, ชีงชเวห่อ, กัมปติ และ เชียงตุง โดยด่านมูเซบันทึกตัวเลขการค้าสูงสุดที่ 2.055 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือด่านชีงชเวห่อมูลค่าการค้าอยู่ที่กว่า 703 ล้านดอลลาร์, ด่านกัมปติ มูลค่าการค้ากว่า 208 ล้านดอลลาร์, ด่านแลวแจมูลค่าการค้าอยู่ที่ 158.568 ล้านดอลลาร์ และด่านเชียงตุง 154.239 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-surges-to-us3-2b-in-fy2023-2024/#article-title

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยสินเชื่ออสังหาฯ พุ่งต่อเนื่อง ปี 2558-2566

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยื่นส่งรายงานให้กับคณะผู้แทนสมัชชาแห่งชาติในเรื่องการจัดการตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2558-2566 จากเอกสารรายงานระบุว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาฯ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 2.88 พันล้านล้านด่อง และได้มีการจัดสรรเงินไปยังกองทุนอสังหาฯ ประมาณ 1.09 พันล้านล้านด่อง และใช้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอีกราว 1.79 พันล้านล้านด่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อคงค้างอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2558-2566 คิดเป็นสัดส่วนราว 18-21% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของเศรษฐกิจเวียดนาม และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องควบคุมกระแสเงินสดเข้าสู่ภาคอสังหาฯ และดำเนินการออกหนังสือเวียดนามเลขที่ 36, 22 และ 41 ซึ่งกำหนดว่าเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวจะอยู่ในอัตรา 24-34%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-loans-increased-in-2015-2023-period-report-2271387.html

มูดี้ส์ชี้จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3%

คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า “มูดี้ส์” หรือ Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากข้อแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย มีนโยบายมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้

ในขณะที่ข้อที่สอง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลัง อย่างต่อเนื่อง ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบาย ทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2778901

สปป.ลาว แจ้งปรับราคาน้ำมันวันนี้ เบนซินปรับขึ้น ดีเซลปรับลดลง

ทางการ สปป.ลาว แจ้งปรับราคาขายปลีกน้ำมันมีผล 06.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2567 โดยราคาน้ำมันเบนซิน 95 ปรับขึ้น 550 กีบต่อลิตร มาอยู่ที่ 33.200 กีบต่อลิตร เบนซิน 91 ปรับขึ้น 440 กีบต่อลิตร มาอยู่ที่ 25.250 กีบต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับลดลง 160 กีบต่อลิตร มาอยู่ที่ 21.120 กีบต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาสำหรับขายปลีกในแขวงเวียงจันทน์ อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับขึ้นเป็นไปตามราคาตลาดโลกและน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้า และจะเปลี่ยนแปลงราคาในช่วงทุกๆ 7 วัน

ที่มา : https://www.vientianetimeslao.la/%e0%bb%81%e0%ba%88%e0%bb%89%e0%ba%87%e0%ba%9b%e0%ba%b1%e0%ba%9a%e0%ba%a5%e0%ba%b2%e0%ba%84%e0%ba%b2%e0%ba%99%e0%bb%89%e0%ba%b3%e0%ba%a1%e0%ba%b1%e0%ba%99-%e0%bb%81%e0%ba%ad%e0%ba%b1%e0%ba%94%e0%ba%8a/

นักท่องเที่ยวและขาวบ้านเมืองหลวงพระบาง ร่วมงานเทศกาลปีใหม่ลาว 2567

ชาวหลวงพระบางและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมขบวนอัญเชิญพระบาง เพื่อนำไปประดิษฐานชั่วคราวที่วัดใหม่สุวรรณภูมิมาราม สำหรับให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้พรมน้ำหอมและสรงน้ำพระบาง ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสปีใหม่ลาว โดยจะจัดงานจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2567 นอกจากนี้ ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม รวมทั้งการแสดงของโรงละครพระลักษณ์พระราม ซึ่งจะจัดขึ้นในตอนกลางคืนเพื่อความบันเทิงแก่ผู้คนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ

ที่มา : https://kpl.gov.la/EN/detail.aspx?id=81963

‘เวียดนาม-กัมพูชา’ ยอดการค้า พุ่ง 25%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานว่าเวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากประเทศจีน โดยปริมาณการค้าของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มูลค่าที่ 2.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเวียดนามยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของกัมพูชาไปยังตลาดเวียดนาม คือ สินค้าการเกษตร อาทิเช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าวและยางพารา เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียมและเหล็กเส้นดิบจากเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501474739/cambodias-trade-with-vietnam-rises-nearly-25/

กรมประมงเมียนมาบังคับใช้ข้อจำกัดในการทำประมงในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูตกปลา

ตามที่กรมประมงเมียนมาระบุ การออกใบอนุญาตทำการประมงในทะเลเมียนมานั้นขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ตกปลาที่ใช้ในช่วงนอกฤดูตกปลา แม้ว่าฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูประมงของปีนี้ถูกกำหนดไว้เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน แต่ก็มีการออกใบอนุญาตทำการประมงในบางภูมิภาคและรัฐ เนื่องจากประสบปัญหาของสมาคมผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าอนุญาตให้ทำการประมงได้เฉพาะในเขตย่างกุ้งในเดือนเมษายน ในเขตตะนาวศรีเดือนเมษายนและพฤษภาคม และในเขตอิระวดีและรัฐมอญในเดือนเมษายน แต่เฉพาะกับเรือประมงบางประเภทเท่านั้น นอกจากนี้ เรือประมงนอกชายฝั่งอื่นๆ ทั้งหมดจะต้องหยุดดำเนินการเป็นเวลาสามเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งกรมประมงระบุเฉพาะเรือประมงในฝั่งเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงได้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fd-implements-fishing-restrictions-during-non-fishing-season/#article-title

การค้าชายแดนเมียนมา-ไทยมีมูลค่ารวม 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เผยว่า การค้าชายแดนของเมียนมากับประเทศไทยมีมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา (เมษายน 2566 -มีนาคม 2567) โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 927 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าที่บันทึกไว้ในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่มีมูลค่า 5.35 พันล้านดอลลาร์โดยเมียนมาดำเนินการค้าขายข้ามพรมแดนกับไทยผ่านชายแดนท่าขี้เหล็ก เมียวดี เกาะสอง มะริด บ้านพุน้ำร้อน และมอตอง อย่างไรก็ดี ด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนมีการค้าขายที่ครอบคลุมมากที่สุดซึ่งมีมูลค่า 2.69 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา นอกจากนี้ ที่ด่านชายแดนเมียวดี มูลค่าการค้าอยู่ที่ 1.147 พันล้านดอลลาร์, ที่เกาะสอง 234.38 ล้านดอลลาร์, ที่ท่าขี้เหล็ก 171.66 ล้านดอลลาร์, ที่มะริด 154.3 ล้านดอลลาร์ และที่มอตอง 26.779 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-border-trade-totals-us4-4-bln-in-2023-2024fy/#article-title

‘เวียดนาม’ ส่งออกกุ้งไปยังเกาหลีใต้ เผชิญกับอุปสรรคทางเทคนิค

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของแห่งเวียดนาม (VASEP) รายงานว่าการส่งออกอาหารทะเลของเกาหลีใต้ไปยังเวียดนาม ได้รับการยกเว้นภาษีหรือปลอดภาษี ในขณะที่ผู้ส่งออกกุ้งของเวียดนามเผชิญกับข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ โดยเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กระทรวงเกษตรและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องให้เกาหลีใต้ยกเลิกโควต้าการนำเข้ากุ้งเวียดนาม ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สาธารณรัฐเกาหลี (VKFTA)  และหากสถานการณ์นี้เดินหน้าต่อไป จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อธุรกิจเวียดนามที่จะส่งออกกุ้งไปยังเกาหลีใต้

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-shrimp-exports-to-south-korea-face-technical-hurdle-vasep/