แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับบ้าน ปี 2022 แตะ 1.25 พันล้านดอลลาร์

แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาส่งเงินกลับบ้านเพิ่มขึ้นจาก 1.15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 1.25 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 สูงเป็นอันดับสามในกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของ GDP ประเทศ รองจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม รายงานโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในระหว่างการประชุม “12th Annual ADBI–OECD–ILO Roundtable on Labour Migration: Recovering from Covid-19: What does It Mean for Labor Migration in Asia?” โดยไทยมีแรงงานกัมพูชาเดินทางไปทำงานมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน ในปี 2021 เกาหลีใต้มีแรงงานเกือบ 46,000 คน ตามมาด้วยมาเลเซีย 23,000 คน ญี่ปุ่นเกือบ 12,000 คน และสิงคโปร์ประมาณ 800 คน ซึ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเป็นประเทศปลายทางหลักสำหรับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน โดยปัจจุบันโลกกำลังเผชิญอยู่กับความไม่แน่นอนหลายประการ อาทิเช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อม การหยุดชะงักของอุปทาน และความไม่มั่นคงทางการเงินระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการย้ายถิ่นฐานของแรงงานไปยังเอเชีย ทั้งแรงงานมีทักษะสูงและทักษะน้อย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317625/cambodias-remittances-rise-to-1-25b/

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 25% ในช่วงครึ่งปีแรก

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เกิดความยืดเยื้อ โดยกัมพูชานำเข้าน้ำมันมูลค่ารวม 1,910 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจาก เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย โดยความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ในขณะที่รัฐบาลได้ออกนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123526/kingdoms-oil-imports-surge-25-in-h1/

NBC คาดปีนี้ GDP กัมพูชาโต 5.3%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชากลับมาเติบโตในปีนี้ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยคาดว่าการเติบโตจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ซึ่ง NBC คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2021 แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผลทำให้เกิดเงินเฟ้อกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 94 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดพรมแดนของประเทศอีกครั้ง รวมถึงได้ทำการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 11,317 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 15,400 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123527/nbc-sees-cambodias-gdp-growth-at-5-3-in-2022/

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชา ณ เดือนพฤษภาคม พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

อัตราเงินเฟ้อในประเทศกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.2 ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวเสริมว่า ได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและปกป้องกำลังซื้อของท้องถิ่น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อและการคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลักดันราคาน้ำมันและต้นทุนอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น ควบคู่ไปกับราคาปุ๋ยและผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลง โดยกัมพูชาได้กำหนดกรอบนโยบายการเงินของธนาคารกลาง รวมถึงการดำเนินการทางด้านหลักประกันสภาพคล่อง (LPCO) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่อนุญาตให้ NBC ปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินในสกุลเงินท้องถิ่น และวงเงินสินเชื่อส่วนเพิ่ม (MLF) นอกเหนือจากเงินกู้ข้ามคืนที่เป็นสกุลเงินเรียล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านสภาพคล่องระยะสั้นของธนาคาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501116556/may-records-decades-highest-inflation-in-cambodia/

BAY ชี้แนวโน้มส่งออกชะลอตัวจากแรงกดดันศก.-การค้าโลก คาดทั้งปีโต 6%

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 65 ยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ขยายตัวเหลือ 3.0% จากเดิมคาดไว้ 4.7% เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับมีสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกในหลายประเทศเอเชียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน เกาหลี รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของประเทศแกนหลักเติบโตชะลอลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2022/204231

‘ศก.เวียดนาม’ เผิชญกับความท้าทายใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนโลก

The Economic Information Daily ซึ่งเป็นสื่อในเครือของสำนักข่าวซินหัวที่เป็นสื่อของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์บทความระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความผันผวน ตามรายละเอียดชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 เวียดนามก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เป็นบวก นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการดำเนินใช้ชีวิตกำลังจะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหม่ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและปัจจัยดังกล่าวเริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-facing-new-challenges-amid-global-uncertainties-post946020.vov

‘GDP’ เวียดนามโต 5.03% ไตรมาส 1/65

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอลงจากการขยายตัว 5.22% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา GDP เวียดนามในไตรมาสที่สามของปี 2564 หดตัว 6.02% นับว่าเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจหดตัวตั้งแต่ปี 2543 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ (1) ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุจากการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน

อีกทั้ง ราคาวัสดุก่อสร้างในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามและอาจกลายเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และ (2) ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปั้มน้ำมันบางแห่งขาดแคลนเชื้อเพลิง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจ

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/Vietnam-GDP-grows-5.03-in-first-three-months-of-2022

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

นอกจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ให้เร่งตัวขึ้น

.

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์ฯ

.

ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจไทย นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหาร น้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม

.

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้ว สินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4-5 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน

.

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/KR-Press-25-mar-2022.aspx

ต้นทุนขนส่งจุดเปลี่ยนส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 4% เนื่องจากมองเห็นปัจจัย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจึงต้องกำหนดตัวเลขด้วยความระมัดระวัง แต่ล่าสุดปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะเป็นปัจจัยหลักกดดันการส่งออกของประเทศ เพราะถึงแม้ว่าการส่งออกโดยตรงระหว่างไทยรัสเซียและยูเครนจะมีตัวเลขไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมต้องยอมรับว่าหนัก ปิดท่าเรือสำคัญ 2 แห่ง การขนถ่ายสินค้าล่าช้า ราคาน้ำมัน,ค่าระวางเรือพุ่งขึ้นไม่หยุด

ที่มา : https://www.innnews.co.th/video/general-news-clips/news_310036/

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” ซ้อน “โควิด” กระทบธุรกิจเวียดนาม

บรรดาผู้ประกอบการเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการส่งออกไปยังประเทศรัสเซีย ยูเครนและเบลารุส ประกอบกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งและธนาคารของรัสเซียถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ (SWIFT) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งธุรกิจจำนวนมากที่ยังคงมีปัญหาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ นาย Nguyen Dang Hien ผู้อำนวยการของบริษัท Tan Quang Minh Manufacturing and Trading Company Limited (TQM) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม กล่าวว่าบริษัทอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังคงดิ้นรนกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน อาทิ คู่ค้าต่างชาติปิดค้าขายในช่วงการแพร่ระบาดและการนำเข้าวัตถุดิบใช้เวลานานกว่าแต่ก่อน ผลลัพธิดังกล่าวได้ผลักดันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่กิจการไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ukraine-conflict-covid-make-it-doublewhammy-for-vietnamese-businesses/223860.vnp