สหรัฐฯ ขึ้นแท่นจุดหมายปลายทางการส่งออกสำคัญของกัมพูชา

สหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมสูงถึง 6.8 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.1 จากมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของกัมพูชาลดลงร้อยละ 27.8 มาอยู่ที่มูลค่า 181 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) แม้ปัจจุบันกัมพูชาจะถูกถอนถอนสิทธิพิเศษ GSP ของทางสหรัฐฯ โดยสินค้าหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับเดินทาง กระเป๋าถือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และรองเท้า ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยา เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501375662/united-states-remains-cambodias-biggest-export-destination/

มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีแตะ 5.3 พันล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 จากมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของสํานักการสํารวจสํามะโนประชากรสหรัฐฯ โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ที่มูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 10.6 จากมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่คิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาที่มูลค่า 164 ล้านดอลลาร์ ลดลงกว่าร้อยละ 37 จากมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับการเดินทาง เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้านการนำเข้าของกัมพูชา ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้ทางกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาจากสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ภายใต้ความต้องการสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางจากสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพของกัมพูชา เนื่องจากประมาณร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาขอให้สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP เพื่อช่วยกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501350472/cambodia-united-states-trade-reaches-5-3-billion-in-h1/

กัมพูชาหารือร่วมกับสหรัฐฯ หวังต่ออายุสิทธิพิเศษ GSP

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาหารือร่วมกัน นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือทางการค้าในแง่มุมต่างๆ รวมถึงข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ และการต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยปัจจุบันด้วยยุทธศาสตร์ชาติของกัมพูชา ประกอบกับฐานการผลิตในประเทศที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่างเข้ามาแสวงหาโอกาสสำหรับทั้งการค้าและการลงทุน ซึ่งการต่ออายุระบบสิทธิพิเศษดังกล่าว มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ จากความได้เปรียบทางภาษีศุลกากรสำหรับผู้ส่งออกกัมพูชา ที่มีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501337672/renewal-of-generalised-system-of-preferences-gsp-discussed-in-cambodia-u-s-trade-talks/

2022 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่งในปีที่แล้ว แม้ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ของสหรัฐฯ ที่มอบให้กับประเทศที่พัฒนาน้อย (LDCs) จะยังไม่ได้ต่ออายุ ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 450 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237385/cambodias-export-to-us-tops-12b-last-year/

กัมพูชาตั้งเป้าเน้นการส่งออกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวถึงการที่ทางการกัมพูชาได้ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเครื่องนุ่งห่มและไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อรองรับและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการสนับสนุนให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปีนี้การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7,606 ล้านดอลลาร์ ใน 4 เดือน แรกของปี โดยได้ทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 2,923 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน ด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า เช่น GSP, EBA และ FTA กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนเสริมทำให้กัมพูชาส่งออกและได้รับการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080718/cambodia-to-focus-more-on-growth-in-exports/

นักลงทุนมาเลเซียเข้าลงทุนในกัมพูชามูลค่ารวมกว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้รายงานถึงการจดทะเบียนโครงการลงทุนของมาเลเซียรวมจำนวน 162 โครงการ มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดย CDC ได้กล่าวรายงานในการประชุมระหว่างรองเลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาของ CDC และเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัมพูชา ซึ่งผู้แทนมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมในด้านการศึกษา อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ และพลังงานในระหว่างการประชุม

โดยปัจจุบันกัมพูชามีข้อตกลงพิเศษทางการค้า ได้แก่ FTA กับจีน เกาหลีใต้ ไปจนถึง RCEP และ GSP ของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และ EBA ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้นจากผลประโยชน์ทางการค้าต่างๆ อย่างเช่นมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลุ่มสำคัญของกัมพูชาในภาคอสังหาริมทรัพย์ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานแปรรูป ปัจจุบันปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชา-มาเลเซียเกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501048791/3-2-billion-worth-malaysia-investment-projects-registered-in-cambodia/

กัมพูชารายงานถึงโครงการลงทุนมูลค่ารวม 1.716 พันล้านดอลลาร์

หลังจากทางการกัมพูชากำหนดกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งจูงใจสำคัญอย่างนึงให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา รวมถึงปัจจุบันกัมพูชาได้เข้าร่วมกลุ่ม RCEP และได้ทำการลงนามข้อตกลงการค้า FTA ร่วมกับจีน ตลอดจนได้รับสิทธิพิเศษ EBA จากสหภาพยุโรป และ GSP จากสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา พบว่าปัจจุบันมีโครงการลงทุนนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 107 โครงการ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 ลดลง 34 โครงการเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการลงทุนทั้งหมดมีมูลค่า 1.716 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 72.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในประเทศประมาณ 89,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501004396/investment-projects-worth-1-716-billion-registered-in-january-november/

“พาณิชย์” เผยไทยใช้ FTA-GSP ส่งออกครึ่งปี เพิ่ม 34%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือน มิ.ย.2564 มีมูลค่า 8,380.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 และยอดรวม 6 เดือนปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 40,244.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.34 มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 78.07 ของการได้รับสิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 38,329.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.27 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 79.05 และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 62.61 สำหรับรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในช่วง 6 เดือน ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 13,439.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.จีน มูลค่า 12,734.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 4,270.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 3,485.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 2,336.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบ FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-เปรู 100% 2.อาเซียน-จีน 96.58% 3.ไทย-ชิลี 86.80% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 80.04% และ 5.อาเซียน-เกาหลี 69.43%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/492374

เวียดนามโดนตัดสิทธิ GSP ของข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของเวียดนาม (Vietrade) เมื่อวันที่ 12 ต.ค. เผยว่าเวียดนามถูกลบออกจากรายชื่อประเทศที่มีสิทธิทางด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) การเคลื่อนไหวดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกเวียดนามไปยังกลุ่มประเทศ EAEU อาทิ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนียและคีร์กีซสถาน โดยเฉพาะรัสเซีย เนื่องจากเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เวียดนามเป็น 1 ใน 75 ประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกลบออกจากรายชื่อ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยอดการค้าระหว่างเวียดนามกับประเทศ EAEU เพิ่มขึ้น 6.5% เป็นมูลค่า 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-removed-from-list-of-beneficiaries-of-eaeu-tariff-preferences-under-gsp/201933.vnp

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx