ภาคอสังหาริมทรัพย์กัมพูชามีแนวโน้มดีขึ้น แม้อยู่ในสถานการณ์ของโควิด-19

สถานการณ์ด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศกัมพูชาดูสดใสขึ้น แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงในบางภาคส่วนของอุตสาหกรรมมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง จากความต้องการภายในประเทศ โดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่าหากกัมพูชาต้องการที่จะสร้างความได้เปรียบเพื่อยกระดับภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพ รวมถึงมีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสูงไปในทุกพื้นที่ทั่วกัมพูชา เช่น การพัฒนาถนนและเส้นทางทางด่วนที่เชื่อมต่อจุดสำคัญที่น่าสนใจ นอกจากนี้การพัฒนาอย่างรวดเร็วของวงแหวนรอบที่สามรอบกรุงพนมเปญ ถือว่าเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สำคัญของการพัฒนาที่เกิดขึ้น สะท้อนจากราคาที่ดินในเขตพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นที่สนใจของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชายังคงมีโอกาสเติบโตได้ในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50841583/real-estate-investments-looking-up/

ยอดตั้งบริษัทใหม่พุ่ง13% คนมั่นใจเศรษฐกิจฟื้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนนิติบุคคลเดือนก.พ.2564 มีจำนวน 7,265 ราย เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2564 ลดลง 0.3% เทียบกับก.พ.2563 เพิ่มขึ้น 13% มีทุนจดทะเบียน 19,717.90 ล้านบาท โดยบริษัทตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจปลูกข้าวเจ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 หลังจากที่ไม่เคยติดอันดับมาก่อนหน้านี้ เป็นเพราะการสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหันมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ  ส่วนยอดรวมบริษัทตั้งใหม่ 2 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวน 14,548 ราย เพิ่มขึ้น 9% มีทุนจดทะเบียน 50,648.04 ล้านบาท นอกจากนี้ “การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่สูงเกิน 7,000 ราย 2 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการทำธุรกิจ เพราะคนมั่นใจเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น มั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเริ่มมีการฉีดวัคซีน และยังมาตรสนับสนุนของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี รวมทั้งจะมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัว”นายทศพลกล่าว

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/474012

ไตรมาส 1 ปี 64 เศรษฐกิจเวียดนามโต 4.48%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2564 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 4.48% เป็นผลมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง ขยายตัว 3.16% ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 6.3% และภาคบริการ 3.34% โดยทั้ง 3 ภาคเศรษฐกิจมีส่วนผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 8.34% 55.96% และ 35.7% ตามลำดับ ภาคบริการมีการขยายตัวในเชิงบวก เนื่องจากผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก กิจกรรมการส่งออกและนำเข้ากลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าราว 152.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามในไตรมาสแรก ยังคงมีเสถียรภาพและอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ประกอบกับควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การควบคุมการระบาดของไวรัส และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ตลอดจนช่วยเหลือภาคเอกชนและเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/915081/vietnamese-economy-expands-448-per-cent-in-q1.html

เวียดนามเผยยอดส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนพุ่ง แม้เผชิญโควิด-19

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ โทรศัพท์และชิ้นส่วนถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีสินค้าส่งออกของเวียดนามจำนวน 9 รายการที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 73.8% ของยอดส่งออกรวม โดยเฉพาะสินค้าประเภทโทรศัพท์และชิ้นส่วนที่มีมูลค่าแตะ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 15% ของยอดส่งออกรวม) เพิ่มขึ้น 22.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลอดจนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีความต้องการสินค้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการนำเข้า 551 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 108% และคิดเป็น 2 ใน 3 ของยอดนำเข้ารวมทั้งสิ้นของเวียดนาม นอกจากนี้ คุณ Do Thi Thuy Huong สมาชิกคณะกรรมการบริหารของสมาคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม (VEIA) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงชองห่วงโซ่การผลิตโดยธุรกิจ FDI คาดว่าจะสร้างโอกาสครั้งใหญ่แก่ธุรกิจเวียดนามในการก้าวเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทต่างชาติ

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-maintains-positive-outlook-for-economic-recovery-in-2021-wb-843720.vov

ททท.จับมืออาเซียนต้า จัดประชุมสมาชิก เตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพ ในการขายท่องเที่ยวไทย หลังโควิดคลี่คลาย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกองตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ร่วมกับ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ สมาคมท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Association : ASEANTA) จัดประชุมให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้เตรียมความพร้อมหลังสถานการณ์ COVID-19 และเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะทำการตลาดท่องเที่ยว กับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่าย ในการส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่ประเทศไทย เมื่อมีการเปิดการเดินทางได้ตามปกติ โดยได้มีการอัพเดทสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคภาคเหนือ และนำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ASEANTA จำนวน 60 คน ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้รับทราบ พร้อมกิจกรรม Workshop กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาระดมความคิดเห็น และแนวคิดในการจัดทำ Product หรือเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างประเทศ ททท. จึงได้จัดทำ Platform Online Thailand Tourism Virtual Market (TTVM) ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการตลาดดิจิตัล ในรูปแบบ B2B (Business to Business) เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาด

ที่มา : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1612282/

เวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

ตามข้อมูลของนิกเคอิ (Nikkei) เผยว่าบริษัทอินเทล (Intel) ประกาศลงทุน 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปใช้ในบริษัทอินเทลโปรดักส์ เวียดนาม คอร์ป (IPV) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทดสอบและประกอบชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 63 บริษัทมีเป้าหมายเพื่อทำการผลิตสินค้า 5G และโปรเซสเซอร์  Intel Core มาพร้อมกับเทคโนโลยีอินเทล ไฮบริด และซีพียูตัวใหม่ล่าสุด ‘Intel Gen 10’ ทั้งนี้ Apple เร่งดำเนินย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและอินเดีย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มีกำหนดการผลิตไอแพด (iPad) ในเวียดนามช่วงกลางปี 64 นอกจากนี้ ยังจะขยายสายการผลิตลำโพง HomePod mini smart นอกจากนี้ บริษัท Savills Vietnam ระบุว่าบริษัท ‘Pegatron’ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ได้เข้ามาทุ่มเงิน 19 ล้านเหรียญสหรัฐในเมืองไฮฟอง สำหรับแผนการขยายการลงทุนในช่วงเฟสแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติบางแห่งย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม หรือขยายการปริมาณการผลิต

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-becomes-attractive-destination-to-technology-giants-28437.html

สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน สปป .ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการสนับสนุนทางการเงินฉุกเฉินมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกเพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด -19  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประกาศโครงการสนับสนุนและฟื้นฟูการเข้าถึงการเงินในภาวะฉุกเฉินทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินในพื้นที่สามารถให้เงินกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการปิดพรมแดน และลดการซื้อขายในปีที่ผ่านมา โดยธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ Laos-China, Maruhan, และ Sacom ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในโครงการเพื่อให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทขนาดเล็กที่ขอสินเชื่อผ่านวงเงินเครดิต โครงการนี้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคจากธนาคารแห่งสปป.ลาว เป็นผู้บริหารระบบค้ำประกันสินเชื่อและความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเมื่อการเจรจาเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเสร็จสมบูรณ์ ความคิดริเริ่มนี้จะเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสปป.ลาว  ด้วยการทำให้บริษัทขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นรัฐบาลและธนาคารกำลังขจัดหนึ่งในสามอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Credit_38.php

การใช้มาตรการควบคุมโควิด -19 ของรถบรรทุกไทยที่เข้ามาในสปป.ลาว

คณะทำงานด้านการป้องกันและควบคุมโควิด -19 ของแขวงสะหวันนะเขตได้เสริมสร้างมาตรการป้องกันไวรัสที่เกี่ยวข้องกับคนขับรถบรรทุกจากประเทศไทยที่เข้ามาในสปป.ลาว โดยกำลังดำเนินมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด -19 ในประเทศไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขแขวงสะหวันนะเขตกล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของคณะทำงานแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด -19 ที่เกี่ยวข้องกับทุกแขวงที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ห้ามรถบรรทุกไทยส่งสินค้าเข้าไปในสปป.ลาว แต่คนขับรถบรรทุกทุกคนต้องปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล ได้มีเพิ่มความเข้มแข็งในมาตรการคัดกรองและกักกันช่องทางการเข้า-ออกทุกแห่งทั่วประเทศ มีการตรวจวัดอุณหภูมิของผู้มาเยือทั้งสะหวันนะเขต และจะมีการเสริมสร้างมาตรการป้องกันและควบคุมที่สะพานมิตรภาพสปป.ลาว – ไทยแห่งที่ 2 คนขับรถบรรทุกที่เข้ามาในสปป.ลาวจากประเทศไทยมีทางเลือกในการตรวจสอบไวรัสด้วยตนเองหรือจัดการเปลี่ยนคนขับ อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่มีรถบรรทุกทขนส่งสินค้าไปยังสปป.ลาวอาจไม่สามารถเดินทางผ่านจุดผ่านแดนจีน – บ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทา นอกจากนี้คณะทำงานแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด -19 ได้สั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่นในทุกจังหวัดที่ติดกับประเทศไทยบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เข้ามาในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Controls_13.php

เศรษฐกิจเวียดนามสดใส ปี 63 แม้เผชิญโควิด-19

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสดใส ด้วยอัตราการขยายตัว 2.91% ในปี 2563 เนื่องมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะก้าวขึ้นไปอยู่อันดับที่ 19 ของโลกภายในปี 2578 และคาดว่าการเติบโตของ GDP เฉลี่ยจะอยู่ที่ 7% ในช่วงปี 2564-2568 และในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามจะโตเฉลี่ย 6.6% ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษรายงานด้วยว่าเวียดนามได้รับความเสียหายจากโควิด-19 น้อยที่สุด และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตในเชิงบวกในปี 2563

  ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-economic-bright-spot-in-2020-829244.vov

เมียนมาตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 64 โต 6%

รัฐบาลเมียนมาคาดเศรษฐกิจจะมีอัตราการเติบโต 6% ในปีงบประมาณ 63-64 ตามคำแถลงงบประมาณของกระทรวงการวางแผนการเงินและอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในภาคเกษตรกรรม 2.6% ภาคอุตสาหกรรม 6.5% และภาคบริการ 7.4% ในปีนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่ารัฐบาลควรพิจารณาจัดลำดับความสำคัญให้กับภาคการเกษตรเพื่อสร้างการเติบโตเป็นกลยุทธ์ที่ดี ภาคเครื่องนุ่งห่มของเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด -19 ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานซึ่งทำให้คนงานหลายพันคนตกงาน ด้าน นาย อู หม่อง หม่อง เล รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมากล่าวว่า ควรปลูกพืชผลที่ทำกำไรและต้นทุนให้ต่ำ สร้างตลาดสำหรับผู้ขายและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ควรให้ความสำคัญกับการประมงมากขึ้นเพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมทางทะเลเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรขยายไปสู่ตลาดส่งออกใหม่ ๆ ด้วยการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-targets-6pc-economic-growth-2021.html