‘ข้าวเวียดนาม’ ยังคงครองผู้นำตลาดฟิลิปปินส์ แม้มีการเปลี่ยนนโยบาย

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ระบุว่าสถานการณ์การค้าข้าวเวียดนาม-ฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับทรงตัวในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่สำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA) พิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์การนำเข้าข้าว ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม และการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานเข้ามาแทรกแซงโดยตรงต่อตลาดข้าวและสร้างความมีเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวราคาข้าวดังกล่าว สาเหตุสำคัญมาจากราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาตรการก่อนหน้านี้ของรัฐบาลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถควบคุมการขึ้นของราคาสินค้าได้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นผู้นำตลาดข้าวของฟิลิปปินส์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ และเวียดนามเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 72% ของการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรทั้งหมด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-rice-continues-to-dominate-philippine-market-despite-policy-shifts-post288136.vnp

เรือ 8 ลำเทียบท่าเทียบท่าเพื่อส่งออกข้าว

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุ เรือ 8 ลำที่ถูกกำหนดไว้สำหรับขนส่งสินค้าข้าวถุงกำลังจอดเทียบท่าที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และมีแผนที่จะบรรทุกข้าวสารบรรจุถุงมากกว่า 135,000 ตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับสหภาพเมียนมา สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรม สหพันธ์ข้าวเมียนมา สมาคมพ่อค้าถั่ว ถั่ว ข้าวโพด และเมล็ดงา สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแห่งเมียนมา สมาคมอุตสาหกรรมเมียนมา ชาวสวนยางและผู้ผลิตยางเมียนมา สมาคมผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงและผู้ส่งออกเมียนมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกและอำนวยความสะดวกในการส่งออก ทั้งนี้ สหพันธ์มีเป้าหมายที่จะบรรลุการส่งออกข้าว 2.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีการเงิน 2567-2568 (เมษายน-มีนาคม) โดยคาดว่าจะส่งออกข้าว 12,500 ตัน ผ่านท่าเรือระหว่างประเทศ Ahlon และท่าเรือระหว่างประเทศย่างกุ้ง 10,000 ตันผ่านท่าเรือเมียนมา 9,800 ตันผ่านท่าเรือนานาชาติวิลมาร์ และ 91,120 ตันผ่านท่าเทียบเรือ Sule Pagoda รวมเป็น 135,920 ตัน และเรืออีก 4 ลำจะถูกเรียกไปยังท่าเรือย่างกุ้งเพื่อส่งออกข้าว 74,000 ตัน อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมาการส่งออกข้าวไม่เป็นไปตามเป้าหมายโดยตลอดทั้งปีมีการส่งออกอยู่ที่ 1.6 ล้านตัน มูลค่า 845 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ประธานสมาพันธ์ข้าวเมียนมายืนยันว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางเมียนมาในการควบคุมรายได้จากการส่งออกเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าว ส่งผลเสียทางการเงินแก่ผู้ส่งออก รวมทั้ง สภาพอากาศเอลนิโญยังขัดขวางการส่งออกข้าวอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/8-vessels-dock-at-port-terminals-for-rice-export/#article-title

‘เวียดนาม’ มุ่งส่งเสริมการส่งออกข้าว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าความมั่งคงทางอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกข้าว ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตข้าวยั่งยืนและการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงดำเนินการส่งเสริมตราสินค้าเวียดนามให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวเวียดนาม ในขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ขอความร่วมมือกับสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) และผู้ส่งออกข้าวให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการส่งออก ติดตามข้อมูลตลาดข้าวและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เผชิญกับปัญหาต่างๆ

นอกจากนี้ นาย เล แทงห์ ฮวา (Le Thanh Hoa) รองผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ การแปรรูปและการพัฒนาตลาด กล่าวว่าจากปรากฏการณ์เอลนีโญและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวทั่วโลกในปี 2566-2567 ลดลงเหลือ 518 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการในการบริโภคอยู่ที่ 525 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนธัญพืชประมาณ 7 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกข้าวเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656338/fdi-reaches-us-11-07-billion-in-first-five-months-of-2024.html

‘ข้าวเวียดนาม’ ราคาพุ่ง แต่กลับขายดี

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) รายงานว่าการส่งออกข้าวของเวียดนาม มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตันในเดือน เม.ย. ปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 620 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายอดการส่งออกข้าวของเวียดนามสูงถึง 3.17 ล้านตัน มูลค่า 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% และ 33.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 644 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 22% ถึงแม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ฟิลิปินส์ที่เป็นตลาดนำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่กลับซื้อข้าวปริมาณมาก

นอกจากนี้ นาย Phung Van Thanh ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเวียดนามมีศักยภาพและโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้ และแนะนำว่าผู้ส่งออกข้าวเวียดนามควรร่วมมือกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้ ตั้งแต่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้ที่มีรายได้สูง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/prices-stay-high-but-vietnam-s-rice-selling-well-2281252.html

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาจับมือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา ส่งออกข้าวโพดและข้าว กระตุ้นเศรษฐกิจ

มีรายงานว่า ข้าวโพดกว่า 5,400 ตันถูกส่งออกจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM) พร้อมด้วย 2,700 ตันจากท่าเทียบเรือ Shweme (SMJ) และข้าว 4,850 ตันจากท่าเรือ Wilmar International Port ซึ่งจุดเริ่มต้นด้านการส่งออกดังกล่าวนี้ ดำเนินการผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสหภาพสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มีการส่งออกเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวโพด 71,900 ตัน และข้าว 6,000 ตันจากท่าเรือ Sule Port Wharves (SPW) ข้าวโพด 53,500 ตันจากท่าเรืออุตสาหกรรมเมียนมา (MIP), ข้าวโพด 58,400 ตัน และข้าว 12,500 ตันจากท่าเรือ Ahlon International Port Terminal (AIPT), ข้าวโพด 29,500 ตันจาก The Myanmar Terminal-TMT, ข้าวโพด 5,400 ตันจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM), 11,000 ตันจากท่าเทียบเรือนานาชาติย่างกุ้ง (YIGT) และข้าวโพด 2,700 ตันจาก Myanmar Five Star Line ( MFSL) ซึ่งการส่งออกเหล่านี้ได้ถูกกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-collaborates-with-umfcci-to-export-maize-and-rice-boosting-economy/

โครงการค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมข้าวกัมพูชา ดันการเพิ่มผลผลิตและการส่งออกข้าว

โครงการประกันสินเชื่อส่งออกข้าว (REGS) ได้รับการลงนามระหว่างองค์กรรับประกันสินเชื่อแห่งชาติ (CGCC) สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตข้าวในกัมพูชาอย่างโรงสีให้สามารถขยายการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเก็บสต็อก เพื่อสีแปรรูป และส่งออก รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมภายในประเทศ ซึ่งพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ภายใต้การเป็นประธานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน สำหรับวงเงินโครงการอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์ โดยมีสถาบันการเงิน 7 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ AMK, Canadia Bank, FTB, Maybank, Prince Bank, Sathapana Bank และ Wing Bank ขณะที่เป้าหมายของโครงการ นอกจากการเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชาแล้ว ทางการกัมพูชายังได้สร้างความท้าทายด้วยการกำหนดนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486350/rice-credit-guarantee-scheme-inked-to-boost-rice-productivity-and-export/

‘เวียดนาม’ ชี้ราคาส่งออกข้าวสูงสุดในตลาดโลก

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคาข้าวของเวียดนามในตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3-8 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามอยู่ในระดับสูงสุดในตลาดโลก โดยจากข้อมูลพบว่าราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาข้าวของไทยประมาณ 3 เหรียญสหรัฐต่อตัน และสูงกว่าราคาข้าวของปากีสถาน 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหัก 25% ของเวียดนาม อยู่ที่ 555 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าวหัก 100% ของเวียดนาม อยู่ในระดับทรงตัวที่ 470 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาข้าวหักทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว มีราคาสูงกว่าข้าวไทยและปากีสถาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-leads-in-export-rice-prices-globally-post285508.vnp

‘ราคาข้าวเวียดนาม’ พุ่ง

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) รายงานว่าราคาข้าวเปลือกของเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะราคาข้าวรับจากเกษตรกร เฉลี่ย 8,000 ด่องต่อกิโลกรัม และราคาข้าวรับซื้อหน้าโรงสีเฉลี่ย 9,475 ด่องต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวหัก 5% อยู่ที่ 14,200 ด่องต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาข้าวหัก 15% และ 25% อยู่ที่ 13,950 ด่อง และ 13,750 ด่อง ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาราคาส่งออกข้าวของเวียดนาม พบว่าราคาข้าวหัก 5% อยู่ที่ 582 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาข้าวไทยที่ 579 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าวปากีสถาน 581 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะเดียวกัน ราคาข้าวหัก 25% ของเวียดนาม อยู่ที่ 557 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาข้าวไทยจะอยู่ที่ 530 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnamese-rice-prices-on-the-hike-post135006.html

‘เวียดนาม’ ซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดในตลาดสิงคโปร์

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศสิงคโปร์ รายงานว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อันดับของผู้ส่งออกข้าวอย่างเวียดนามแซงหน้าคู่แข่ง อินเดียและไทย เป็นครั้งแรกในตลาดสิงคโปร์ โดยมูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสิงคโปร์ อยู่ที่ 36.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 80.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 32.03% รองลงมาไทยและอินเดีย มีมูลค่าการส่งออก 33.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 33.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการค้าแนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกข้าวไตรมาสแรก โตพุ่ง 42%

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.1 ล้านตัน สร้างรายได้กว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากผู้ซื้อข้าวเวียดนามรายใหญ่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน กานา มาเลเซียและสิงคโปร์ ส่งผลให้ยอดการส่งออกข้าวเติบโตอย่างน่าประทับใจ

อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศเหล่านี้มองหาการกระจายอุปทานข้าว ซึ่งทำให้ลดการพึ่งพาข้าวจากเวียดนามอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ กระทรวงฯ ร้องขอให้ผู้ส่งออกข้าวในชนบทมองหาตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

นอกจากนี้ ในฐานะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก เวียดนามตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้จากการส่งออกข้าวในปีนี้ มูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-q1-rice-exports-grow-42-y-o-y/