จ๊าด อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์ ที่ประมาณ 3,300 จ๊าด ในตลาดซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ

จ๊าตอ่อนค่าลงเป็น 3,310 จ๊าด/ดอลลาร์ ในตลาดซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจาก 3,230 จ๊าด/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ปัจจุบันธนาคารกลางเมียนมาร์กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงไว้ที่ 2,100 จ๊าด/ดอลลาร์ ธนาคารกลางเมียนมาร์ได้กำหนดขอบเขตความผันผวนของการซื้อ-ขายสกุลเงินจ๊าดไว้ที่ร้อยละ 0.3 สำหรับการทำธุรกรรมการขายหรือการซื้อมีผลมาตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 โดยสถาบันการเงิน รวมถึงธนาคารและจุดแลกเปลี่ยนเงินนอกระบบได้รับคำสั่งให้กำหนดมูลค่าเงินดอลลาร์ที่ 2,094 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับการซื้อ และ 2,106 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับการขาย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พฤศจิกายนอัตราแลกเปลี่ยน จ๊าดต่อดอลลาร์ ที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์อยู่ที่ 3,270 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับการซื้อ และ 3,310 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับขาย แม้ว่าราคาอ้างอิงของธนาคารกลางแห่งเมียนมาจะมีความแตกต่างอย่างมากกับอัตราตลาดที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งธนาคารกลางแห่งเมียนมาไม่สามารถกำหนดราคาใหม่ได้ ตามประกาศที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyat-depreciates-against-dollar-at-around-k3300-in-grey-market/#article-title

NBC เตรียมขายเงินดอลลาร์ล็อตใหญ่ หวังแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) พร้อมสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้แก่สกุลเงินเรียล โดยจะเริ่มการแทรกแซงครั้งแรกในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศในวันนี้ (6 ก.ย.) ด้วยการขายเงินสกุลดอลลาร์มูลค่ารวม 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินเรียลและดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง NBC วางแผนที่จะขายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับธนาคารที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงสถาบันการเงินรายย่อย และผู้แลกเปลี่ยนเงิน เพื่อลดสัดส่วนปริมาณเงินเรียลในระบบ โดยจะส่งผลทำให้เงินเรียลมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นระหว่างสกุลเงินเรียลต่อดอลลาร์สหรัฐในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยมูลค่าดังกล่าวจะถูกนำออกประมูล 4 ครั้ง ต่อธนาคารและสถาบันการเงิน โดยแบ่งเป็นครั้งแรก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันนี้ 15 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) 10 ล้านดอลลาร์ ในวันพุธ (13 ก.ย.) และอีก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (15 ก.ย.) ด้าน Raymond Sia ประธานสมาคมธนาคารในกัมพูชา (ABC) เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเพียงพอสำหรับการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกัมพูชาในการรักษาเสถียรภาพของเงินเรียล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355329/nbc-to-sell-50m-to-intervene-in-foreign-exchange-today/

‘แบงก์ชาติสปป.ลาว’ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (BOL) ได้มติกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้กับธนาคารพาณิชย์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการของธนาคารแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความคล่องตัวในการซื้อขายเงินต่างประเทศและยังช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบ ทั้งนี้ อัตราซื้อและขายของเงินกีบต่อดอลลาร์สหรัฐของธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่เกินกว่า +/- 4.5% จากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งชาติ รวมถึงไม่มีการจำกัดเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกีบเทียบกับสกุลเงินยูโร บาท หยวนและสกุลเงินอื่นๆ ที่แตกต่างจากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งชาติสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten36_BOL_y23.php

ทางการกัมพูชารณรงค์ต่อเนื่อง เพื่อการส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียล

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้เร่งส่งเสริมการใช้เงินเรียลในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน ผนวกกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ปริมาณเงินเรียลหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสกุลเงินท้องถิ่น โดยปัจจุบันกัมพูชาใช้สกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจสูงมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเรียล ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมภายในประเทศ ซึ่งธนาคารกลางคาดว่าจะใช้วิธีการลดต้นทุนการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินเรียล เพื่อเป็นการดึงดูดการใช้เงินเรียลแทนที่เงินดอลลาร์ นอกจากนี้ กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงเห็นถึงความสำคัญในการใช้สกุลเงินเรียลเป็นหลัก เพื่อให้ธนาคารกลางสามารถส่งเสริมการส่งออกต่อไปโดยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาผ่านการแทรกแทรงค่าเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501194382/sustained-campaign-for-riel-promotion-2/

“แบงก์ชาติเวียดนาม” คุมเข้มสภาพคล่อง

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ทำการดึงปริมาณเงินออกจากในระบบ 57.6 ล้านล้านดองผ่านการดำเนินการในตลาดเปิด (OMO) และช่องทางในการขายเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบของธนาคารให้อยู่ในระดับเหมาะสม หลังจากทำการลดปริมาณเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารในช่วงข้ามคืน (Overnight) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 จุด อยู่ที่ 4.9% และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบ 1 สัปดาห์และ 1 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจะรักษาสภาพคล่องของระบบธนาคารเวียดนามให้ไม่มากจนเกินไป เพื่อคงอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร อยู่ที่ระดับ 5.0-5.5% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และจะลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1339007/central-bank-acts-to-tighten-dong-liquidity.html

“เวิลด์แบงก์” ชี้ภาวะเศรษฐกิจสปป.ลาว ชะลอตัว

รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนต.ค.65 ของธนาคารโลก ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว มีแนวโน้มชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. สาเหตุสำคัญมาจากเผชิญกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก โดยธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8%

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของธนาคารโลก เปิดเผยถึงผลการดำเนินทางด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว หนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นและการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อรองรับกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาอาหารและเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ กดดันต่อสถานะของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten188_slower.php

เงินเฟ้อลาวเดือน ก.ค. พุ่งแตะ 25.6%

สำนักงานสถิติประเทศลาว (Lao Statistics Bureau) เผยแพร่รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.65 เพิ่มขึ้น 25.6% จากระดับ 23.6% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยที่เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำนักงานฯ ยังเผยว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ราคาอาหาร ค่ารักษาพยาบาลและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ประกอบกับราคาเชื้อเพลิง สินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น และเงินกีบก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม นอกจากนี้ ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงถือเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Inflation_y22.php

ราคาน้ำมันในเมียนมา พุ่งขึ้น 3%

ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของเมียนมาร์พุ่งขึ้นราว 3% จากสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่ธนาคารกลางเมียนมาจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนของจัตกับค่าเงินต่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1,850 จัตเป็น 2,100 จัตต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ, เงินจัตต่อเงินยูโรจาก 1,884.3 จัตเป็น 2,148 จัตต่อยูโร และเงินจัตต่อเงินหยวนจาก 273.81 จัตเป็น 311.13 จัตต่อหยวน โดยในเมืองการค้าสำคัญอย่างย่างกุ้ง ราคาดีเซลเพิ่มขึ้น 2.58% เป็น 2,185 จัตต่อลิตร, ราคาเบ็นซิน RON 92 เพิ่มขึ้น 4.2% เป็น 1,860 จัตต่อลิตร และราคาเบ็นซิน RON 95 เพิ่มขึ้น 3.78% เป็น 1,920 จัตต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันของประเทศที่นำเข้า เนื่องจากเมียนมานำเข้าน้ำมันถึง 90% เพื่อมาใช้ในประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://english.news.cn/20220810/3611c70ec1e5438e9e7abc19ce0be15f/c.html

“แบงก์ชาติเวียดนาม” ขายเงินสกุลดอลลาร์ เหตุรักษาตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ตามข้อมูลของบริษัท Viet Dragon Securities Company (VDSC) เปิดเผยว่าธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ทำการขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ราว 12-13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ ซึ่งมูลค่าเงินข้างต้นนั้นคิดเป็นสัดส่วน 11% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนาม ปัจจุบันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นกันชนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและช่วยให้รองรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอก ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของการลดค่าเงินดองเวียดนาม และรักษาเสียรภาพของอุปสงค์-อุปทานเงินดอลลาร์ในตลาดแลกเปลี่ยนในประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269358/central-bank-sold-greenback-to-stabilise-forex-market.html

“เฟด” ขึ้นดอกเบี้ย แบงก์ชาติเวียดนามส่งสัญญาอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดการเงินระหว่างประเทศเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนราคาเชื้อเพลิง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ในขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คุณ Pham Chi Quang รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวว่าธนาคารกลางจะปฏิบัติตามนโยบายที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกและลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนและดูแลเสียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้ง เมื่อต้นปี 2565 ธนาคารกลางได้ขายสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อแทรกแซงตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มอุปทาน ในขณะเดียวกันก็รักษาสภาพคล่องของเงินดองเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้สกุลเงินดองมีเสถียรภาพ

 

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-fed-raises-interest-rates-sbv-gives-message-about-exchange-rate-2032548.html