“เวียดนาม” เผยช่วง 2 เดือนแรก เกินดุลการค้า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกของเวียดนาม มีมูลค่า 49.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน การนำเข้าของเวียดนาม มีมูลค่า 46.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 2.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่นำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายจากการเติบโตทางการส่งออก 6% ต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจึงได้ร้องขอให้ภาคธุรกิจเร่งปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมกับขยายการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ

นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะปรับปรุงกิจกรรมส่งเสริมการค้าและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้หลากหลายขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1493648/viet-nam-enjoys-trade-surplus-of-over-2-8-billion-in-two-months.html

ในช่วงเดือน ม.ค. การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย ขยายตัวแตะ 37 ล้านดอลลาร์

ในเดือนมกราคม 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดียมีมูลค่ารวมกว่า 37 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมูลค่ารวม 22 ล้านดอลลาร์ หลังกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินเดียมีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ซึ่งเน้นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243610/cambodia-india-trade-reaches-37m-in-january/

“ข้าวเวียดนาม” ส่งออกเติบโตแข็งแกร่งในปี 2566

นาย Pham Van Chinh ผู้อำนวยสำนักงานการส่งออกและนำเข้าของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอย่างทันท่วงที ทำให้ในปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวได้ 7.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.8% ในเชิงปริมาณ และ 5.1% ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และในปีนี้คาดการณ์ว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวประมาณ 6.5 – 7 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการข้าวคุณภาพสูงของเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ นั้นผลิตข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-sector-expected-to-win-big-with-exports-in-2023-post1003250.vov

การส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา หดตัวกว่า 28% ในช่วงเดือนมกราคม

การส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าท่องเที่ยว (GFT) ของกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 28 ในเดือนแรกของปี 2022 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่มูลค่า 1.08 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคม 2022 แต่สามารถส่งออกได้เพียง 782 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคมปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตามข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยภาคส่วนนี้ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญสำหรับการส่งออกกัมพูชา ซึ่งยังคงครองสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกในเดือนดังกล่าว ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และคาดว่าความต้องการจากตลาดทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238959/gft-exports-decline-by-28-in-january/

จุรินทร์สวนฝ่ายค้าน! ราคาพืชเกษตรดีทุกตัว เงินเฟ้อลดลง ส่งออกยังบวก ลั่น FTA ไทย กำลังไล่แซงเวียดนาม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงฝ่านค้านในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า ประเด็นที่พาดพิงประเด็นแรกที่พูดถึงเงินเฟ้อ และของแพงทั้งแผ่นดิน เป็นประเด็นเดิมที่อภิปรายแล้ว ไทยเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นเป็นลำดับ เงินเฟ้อลดลง ม.ค. เหลือ 5% อัตราเฉลี่ยของโลก IMF คาดว่าปี 66 เงินเฟ้อโลก 6.5% แต่ไทยจะเฟ้อแค่ 2.8% ดีกว่าหลายประเทศ โดยสินค้าราคาปรับตัวลดลงอย่างมากกว่า 58 รายการ จำเป็นที่ติดตามทุกวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการส่งออกไทยตัวเลขส่งออกทั้งปีบวกถึง 5.5% ทำเงินให้ประเทศถึง 9.94 ล้านล้านบาท แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งรัฐฯ ร่วมมือทำงานกับเอกชนที่จะเดินหน้า ให้การส่งออกโต 1-2% แม้ตลาดสำคัญถดถอย แต่บางตลาดมีศักยภาพ เช่น 1.ตะวันออกกลาง 2.เอเชียใต้ 3.CLMV สุดท้ายเรื่อง FTA ขณะนี้ตามหลังเวียดนามจริง แต่รัฐฯ กำลังไล่กวดให้ทันเวียดนามและอนาคตมีโอกาสแซงหน้าเวียดนาม โดยปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ 18 ประเทศ เวียดนามมี 16 ฉบับ 54 ประเทศ

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3826174

เดือนม.ค.66 เมียนมาส่งออกข้าวโพดทางทะเล ทะลุ 77,000 ตัน โกยเงินเข้าประเทศกว่า 23.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย เดือนมกราคม 2566 เมียนมาส่งออกข้าวโพดทางทะเลไปแล้วกว่า 77,620 ตัน คิดเป็นมูลค่า 23.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย 22,130 ตัน รองลงมาคือเวียดนาม 19,490 ตัน, ฟิลิปปินส์ 16,980 ตัน, จีน 10,760 ตัน, บังคลาเทศ 8,100 ตัน, บรูไน 120 ตัน และที่เหลือส่งออกไปยังอินเดียและเนปาล แต่เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาพบว่าลดลงถึง 70,000 ตัน ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น, รัฐกะยา, รัฐกะเหรี่ยง, เขตมัณฑะเลย์, ภาคซะไกง์ และภาคมะกเว โดยมีฤดูในการเพาะปลูกถึง 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูมรสุม ส่วนผลผลิตข้าวโพดต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.6 ล้านตัน ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2565 ถึง เดือนมกราคม 2566) เมียนมาส่งออกข้าวโพดทางทะเลไปแล้วกว่า 770,000 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pockets-23-3-mln-from-over-77000-tonnes-of-corn-exports-in-seaborne-trade-last-month/#article-title

นายกฯ ปลื้ม RCEP บังคับใช้ครบ 1 ปี ช่วยการค้าไทยกับประเทศสมาชิก ขยายตัวกว่า 7%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจผลรายงานความตกลง RCEP ซึ่งทำให้การค้าไทยกับประเทศสมาชิกขยายตัวร้อยละ 7.11 มูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านบาท จากผลบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี กับประเทศสมาชิก RCEP อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากบรูไนดารุสซาลาม ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9660000012777

เวียดนามทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากกัมพูชา

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบรวม 670,000 ตัน มูลค่า 1.07 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 98.5 ของการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบส่งออกไปยังเวียดนาม โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญไปยังเวียดนาม ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เวียดนาม (Vinacas) ในปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบประมาณ 1.9 ล้านตัน โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.66 พันล้านดอลลาร์ในการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งเวียดนามยังคงเป็นผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบชั้นนำของโลก ขณะที่ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์เพียง 300,000 เฮกตาร์ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงร้อยละ 30 ของความต้องการทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234910/vietnam-spends-1-billion-importing-cashew-nuts-from-cambodia/

คาดส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 3-5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดภาวะการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2566 อาจเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้การส่งออกในเดือน ม.ค. 2566 จะขยายตัวได้ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่ทั้งปียังมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า 2.ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer) และ 3. สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย 4. ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ คาดราคาจะอยู่ที่ระดับ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ มองว่า แม้จะมีปัจจัยลบหลายเรื่อง แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีกับภาคการส่งออกได้มากกว่า

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/318850/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นแตะเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปีที่ผ่านมา

ปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1,939 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นที่มูลค่า 1,424 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาเตรียมความพร้อมที่จะกำหนดแผนการจัดตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจา FTA ทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชา เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกให้กับประเทศในระยะต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501233908/cambodias-export-to-japan-reached-almost-2b-last-year/