บริษัทสัญชาติจีนวางแผนเพิ่มกิจกรรมระหว่างประเทศหลังการแพร่ระบาด

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ธุรกิจของทั้งสองชาติจึงเปลี่ยนความสนใจไปยังประเทศทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีการพัฒนาน้อยอย่างกัมพูชา โดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) 10 ประเทศ ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากทั่วโลกลดลงร้อยละ 31 ในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามจีนกลับเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 14.36 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความสำคัญของจีนต่อภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน โดยอาเซียนถูกมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียรองจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมถึง 660 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มชนชั้นกลางก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันจีนถือเป็นแหล่ง FDI ลำดับต้นๆของกัมพูชา โดยมีเงินลงทุนเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2020 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของ FDI จากทางจีนในกัมพูชาถึงร้อยละ 70

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858253/chinese-firms-to-increase-post-pandemic-asean-activity/

โครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกัมพูชา แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 50

การก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 โครงการมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ เสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 50 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีหน้าตามที่โฆษกกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกล่าว ซึ่งถนนมีระยะทาง 52 กิโลเมตรทอดยาวจากถนนแห่งชาติหมายเลข 4 ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญและข้ามถนนแห่งชาติหมายเลข 3 และ 2 ไปยังถนนแห่งชาติหมายเลข 1 ทางตะวันออกของเมืองหลวง ซึ่งเชื่อมต่อกับท่าเรือพนมเปญ คาดว่าการก่อสร้างถนนจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีหน้า โดยโครงการก่อสร้างถนนจะมีส่วนช่วยในเชิงเศรษฐกิจต่อภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ของกัมพูชาไปยังทางหลวงของอาเซียนและระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนและส่งเสริมการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50857557/third-ring-road-50-percent-complete/

ไทยร่วมถกอัปเกรดเอฟทีเอ “ออสซี-กีวี” ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 12 เพื่อปรับปรุงความตกลงให้ทันกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังบังคับใช้มาครบ 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 53 ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นที่ควรจะปรับปรุง เช่น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี, กฎถิ่นกำเนิดสินค้า, การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง, พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น ตั้งเป้าหมายปรับปรุงให้เสร็จภายในปี 65 สำหรับเอฟทีเอดังกล่าว มีบทบาทต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากอาเซียนทุกรายการแล้ว ส่วนไทยได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าจาก 2 ประเทศในสัดส่วน 98% ของสินค้าที่ค้าขายกัน การส่งออกของไทยไป 2 ประเทศไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่า 3,432.75 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 21.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ขนส่งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน, รถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 1,500-2,500 ซีซี,ปลาทูน่าแปรรูป เป็นต้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2090840

รับมือโรคระบาดดี เศรษฐกิจเติบโตสุดในอาเซียน ความสำเร็จของเวียดนามท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนประสบกับภาวะถดถอยกันทั่วหน้า อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคร้ายโควิด-19 และบางประเทศถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาทางการเมืองภายใน แต่เวียดนามกลับกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดในสถานการณ์โลกและภูมิภาคนี้เผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ รายงานเศรษฐกิจประจำปี 2021 ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน เปิดเผยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศจะอยู่ในภาวะติดลบ แต่เวียดนามกลับมีความเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 2.9% เมื่อปี 2020 และคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตมากถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ จัดได้ว่าสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งคู่จะอยู่ที่ 6% เท่ากัน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2083880?utm_source=PANORAMA_TOPIC

ญี่ปุ่นไฟเขียวร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนการค้า RCEP ร่วมกับจีนและอาเซียน

รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติในวันนี้ให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย 15 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมถึงจีน และ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ข้อตกลง RCEP จะช่วยสร้างเขตการค้าเสรีที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), การค้าและประชากรของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับจีนและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังการให้สัตยาบันของ 6 ชาติสมาชิกอาเซียน และอีก 3 ประเทศ โดยในวันนี้ (28 เม.ย.) ข้อตกลง RCEP จะช่วยให้ประเทศที่ลงนามไม่ต้องเสียภาษีสำหรับรายการสินค้า 91% จากทั้งหมด และยังออกกฎระเบียบที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq29/3218572

EDL-Generation Plc (EDL-Gen ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สปป.ลาว กำลังมองหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ

บริษัทใหญ่ EDL-Generation Plc (EDL-Gen) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของสปป.ลาว กำลังมองหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรวม 25% เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2,435 เมกะวัตต์ภายในปี 2572 จาก 1,949 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน EDL-Generation Plc (EDL-Gen) มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลสปป.ลาวในการเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งสามารถผลิตได้มากถึง 30,000 เมกะวัตต์ทั่วประเทศอีกทั้งบริษัท กำลังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ มาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของสปป.ลาวผ่านโครงการ “Asean Power Grid” EDL-Gen ไม่เพียงแค่สริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียน แต่ยังมุ่งมันที่จะพัฒนาพลังงานควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วยตามแนวทางของรัฐบาลที่วางไว้

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/2106631/lao-power-generation-firm-seeking-partners-to-boost-capacity

ไทยพร้อมมีส่วนช่วยผลักดันให้การประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 24 เมษายน 2564 นี้ ประสบความสำเร็จ

วันนี้ (22 เมษายน 2564) เวลา 09.30 น. ณ ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทางโทรศัพท์กับ นายโจโก วิโดโด (H.E. Mr. Joko Widodo) โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และตระหนักดีว่าสถานการณ์ในเมียนมาเป็นประเด็นที่มีความท้าทายอย่างยิ่งต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ จึงไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ที่กรุงจาการ์ตาได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนพิเศษ (Special envoy) เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียชื่นชมบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางด้านต่างประเทศ และความคิดเห็นของไทยส่งผลสำคัญในการผลักดันภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาเซียนจะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลาย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/govh/3217206

ไทยพร้อมบังคับใช้ความตกลง ATISA เพิ่มโอกาสลงทุนบริการในอาเซียน

พาณิชย์ เผย ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ของอาเซียน หรือ ATISA แล้ว มีผลใช้บังคับ 5 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที  โดยความตกลง ATISA เป็นความตกลงด้านการค้าบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุนของไทยและสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบรรยากาศการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้ จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน ทั้งนี้ภายใต้ความตกลง ATISA ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE เป็นต้น

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000033580

อาเซียนเล็งดัน ‘ข้าว-อาหาร’ ขึ้นบัญชีสินค้าจำเป็น

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม ระบุ สมาชิกอาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการขยายบัญชีสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ ที่เคยมีมติให้สมาชิกลดอุปสรรคการค้า และงดใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงโควิด-19 ล่าสุดเห็นควรให้มีการเพิ่มรายการสินค้าจำเป็น เช่น ข้าว สินค้าเกษตร และอาหาร เพราะเป็นกลุ่มมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ หากมีอุปสรรคในการค้าขายจะไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/931258

ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและอาเซียนสูงถึง 11.33 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอาเซียนมีมูลค่ารวมสูงถึง 11,330 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.42 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตัวเลขรายงานจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2020 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนราว 3,722 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 185 และกัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมูลค่ารวม 7,607 ล้านดอลลาร์ ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปีที่ร้อยละ 4.33

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50833785/cambodia-asean-trade-volume-recorded-over-11-330-billion-in-2020/