ADB กล่าวถึงกุญแจสำคัญด้านการค้าและการลงทุนในอนาคตของ สปป.ลาว

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวว่า การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิก รวมถึง สปป.ลาว ซึ่งจะข้อความร่วมมือไปยังรัฐบาลระดับภูมิภาคทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ตามรายงานฉบับล่าสุดของ ADB โดยรายงานการบูรณาการเศรษฐกิจในเอเชีย (AEIR) ประจำปี 2023 ระบุว่า แม้ว่าการค้าและการลงทุนจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในเอเชียในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็นำไปสู่การเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาค ซึ่งมีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพอากาศโลก โดย ADB มุ่งหวังว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ เช่น การส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลธุรกิจสีเขียว การพัฒนากลไกการกำหนดราคาคาร์บอน และการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านข้อตกลงการค้าและการลงทุน เพื่อเป็นการผลักดันการลดคาร์บอนในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Greener28.php

กรมส่งเสริมการค้าเซี่ยงไฮ้ ตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ สปป.ลาว

กรมส่งเสริมการค้า ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับทางการเซี่ยงไฮ้ของจีนเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้าและทางเศรษฐกิจ โดยข้อตกลงดังกล่าวได้ลงนามระหว่างงาน China International Import Expo ตั้งแต่ในช่วงวันที่ 5-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยหวังว่าจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงมีส่วนในการพัฒนาและการเปิดประเทศของจีน ผ่านโครงการ One Belt, One Road ในฐานะคู่ค้าสำคัญของจีน ซึ่ง สปป.ลาว เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ปัจจุบันได้มีการเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่ ส่งผลทำให้ สปป.ลาว เชื่อมต่อกับประเทศคู่ค้าในภูมิภาคได้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกับจีนที่มีประชากรรวมกว่า 1.4 พันล้านคน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten218_Trade.php

คาดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “จีน-อาเซียน” ดันการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงกัมพูชา

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและประเทศกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนเสริมสำคัญต่อการพัฒนาในภูมิภาค โดยปัจจุบันจีนและอาเซียนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 544.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มมีมูลค่ารวมสะสมอยู่ที่ 340,000 ล้านดอลลาร์ ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและโฆษก Penn Sovicheat กล่าวว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-อาเซียนนั้นใกล้ชิดกันมาก ด้วยการมีข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) ที่เป็นส่วนเสริมสำคัญในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน CAFTA ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2 พันล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501157600/china-asean-economic-cooperation-contributes-to-development-prosperity-in-region-cambodian-official-experts/

“เวียดนาม-สปป.ลาว” ตั้งเป้าดันการค้าแตะ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปัจจุบัน สปป.ลาวเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียน และทั้งสองประเทศยังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทางการค้า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามและลาวมีพรมแดนร่วมกันมากกว่า 2,300 กม. โดยเฉพาะประตูชายแดนระหว่างประเทศ มีจำนวน 9 แห่ง, ประตูหลัก 6 แห่ง, ประตูอื่นๆ อีก 18 แห่ง และเส้นทางต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันของทั้งสองประเทศ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 9 แห่ง

ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามไปยังสปป.ลาว มีมูลค่า 594.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% ในขณะที่การนำเข้า 778.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 69.8%

นอกจากนี้ นาย โด ทั้งห์ หาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าเวียดนามพร้อมที่จะช่วยเหลืออุปสรรคของสปป.ลาว ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-laos-aiming-fo-2-billion-usd-in-bilateral-trade-2056831.html

พณ.เปิดตัวเลขการค้า RCEP ครึ่งปีแรกพุ่ง 169 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตกว่า 13% หนุนใช้ประโยชน์เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถิติการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับรายงานว่า นับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.65) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.65 มีมูลค่า 204.13 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2,296%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการมีผลบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีผู้ส่งออกขอใช้สิทธิ์ RCEP ไปยังญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ มากที่สุด และสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง ทุเรียนสด และรถจักรยานยนต์ สำหรับการนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ RCEP มีมูลค่า 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (+1,887%) และรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ์นำเข้าสูงสุด อาทิ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ ไม้อัด เม็ดพลาสติก และส่วนประกอบเครื่องยนต์ (ลูกสูบ)

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/370441

สปป.ลาว – เวียดนาม มุ่งร่วมมือส่งเสริมการค้าและการลงทุน

สปป.ลาวและเวียดนามเร่งผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ได้มีการจัดพิธีครบรอบ 60 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตและครบรอบ 45 ปี การลงนามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสปป.ลาวและเวียดนาม ในพิธีการดังกล่าว ผู้นำระดับสูงของประเทศต่างๆ ได้แสดงความยินดีกับความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีมาอย่างยาวนาน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือในทุกด้านของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ เหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวถึงความจำเป็นของทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมศักยภาพและทรัพยากรในประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีการวางแผนที่จะสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับท่าเรือ และทางด่วนเพื่อเชื่อมโยงเมืองหลวงของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Laos139.php

“เวียดนาม-จีน” การค้าหดตัว เหตุจากมีข้อจำกัดโควิด-19 และความแออัดตามชายแดน

การค้าทางบกจีน-เวียดนามลดลงอย่างมากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องมาจากมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข็มงวดและด่านพรมแดนที่แออัด โดยจากสำนักข่าวเวียดนาม “VNExpress” ได้อ้างข้อมูลจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่ากิจการเวียดนามขนส่งสินค้าไปยังชายแดนจีน มีมูลค่ากว่า 509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การนำเข้าจากจีน หดตัว 52.5% อยู่ที่ 3.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ชี้ว่ากลยุทธ์ Zero-Covid ของจีน และการเข้มงวดบริเวณพรมแดน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมการค้าของทั้งสองประเทศ อีกทั้ง สถานการณ์อาจเลวร้ายขึ้นอีกจากปัญหาทางด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ถึงแม้ว่าการค้าผ่านประตูชายแดนที่สำคัญอย่างด่านลาวกาย (Lao Cai) และหล่างเซิน (Lang Son) จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง

ที่มา : https://www.aninews.in/news/world/asia/china-vietnam-trade-shrinks-over-covid-19-restrictions-border-congestion20220705100456/

อาเซียน-อินเดีย ชูความตกลงAITIGAเพิ่มการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 35 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และการประชุมผ่านระบบทางไกล ที่ประชุมได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกดำเนินกระบวนการภายในเพื่อรับรองเอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement : AITIGA) พร้อมทั้งเห็นชอบข้อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย ในการรับรองขอบเขตการทบทวนความตกลง AITIGA และจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) เพื่อกำกับดูแลการทบทวนความตกลงดังกล่าว

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_360270/

ในช่วงสองเดือนแรกของปีงบฯ 65-66 ค้าชายแดนมูเซลดฮวบ ! 178 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าชายแดนมูเซในช่วงสองเดือนแรกของปีงบประมาณ 2565-2566 (วันที่ 1 เม.ย.ถึง 27 พ.ค.)ลดลงมากกว่า 178 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 184.069 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 23.496 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 207.565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดใน 10 ประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 4,905.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือไทยที่ 3,172.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น 944.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,อินเดีย 836.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สหรัฐอเมริกา 620.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เยอรมนี 426.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สเปน 411.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร  385.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เนเธอร์แลนด์ 366.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 305.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค.62ถึงก.ย.63 ของปีงบประมาณ 2562-2563 การค้าระหว่างเมียนมา-จีนมีมูลค่า 12126.278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออก 5401.943 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจาก 6727.335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

 

ที่มา: https://news-eleven.com/article/232145

Q1 การค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย แตะ 2,913 ล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ทั้งสองฝ่ายผ่อนคลายมาตรการและข้อจำกัดที่เกี่ยวกับโควิด-19 นำไปสู่การเปิดพรมแดนซึ่งเอื้อต่อภาคการค้าและนักท่องเที่ยว โดยมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ไทย พุ่งแตะ 2,913 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาที่มูลค่า 458 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.53 ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 2,455 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้ว การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 7.97 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป โดยสินค้านำเข้าจากประเทศไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501090713/cambodia-thailand-trade-hits-2913-million-in-q1/