“เวียดนาม-จีน” การค้าหดตัว เหตุจากมีข้อจำกัดโควิด-19 และความแออัดตามชายแดน

การค้าทางบกจีน-เวียดนามลดลงอย่างมากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องมาจากมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข็มงวดและด่านพรมแดนที่แออัด โดยจากสำนักข่าวเวียดนาม “VNExpress” ได้อ้างข้อมูลจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่ากิจการเวียดนามขนส่งสินค้าไปยังชายแดนจีน มีมูลค่ากว่า 509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การนำเข้าจากจีน หดตัว 52.5% อยู่ที่ 3.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ชี้ว่ากลยุทธ์ Zero-Covid ของจีน และการเข้มงวดบริเวณพรมแดน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมการค้าของทั้งสองประเทศ อีกทั้ง สถานการณ์อาจเลวร้ายขึ้นอีกจากปัญหาทางด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ถึงแม้ว่าการค้าผ่านประตูชายแดนที่สำคัญอย่างด่านลาวกาย (Lao Cai) และหล่างเซิน (Lang Son) จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง

ที่มา : https://www.aninews.in/news/world/asia/china-vietnam-trade-shrinks-over-covid-19-restrictions-border-congestion20220705100456/

Q1 การขนส่งผู้โดยสารทางอากาศในกัมพูชา เพิ่มขึ้นถึง 244%

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังกัมพูชาทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านการป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา กล่าวว่า สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชารองรับผู้โดยสาร 131,864 คน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 243.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญรองรับนักท่องเที่ยวมากที่สุดจำนวน 113,406 คน เพิ่มขึ้น 261.5% ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐและท่าอากาศยานนานาชาติกงเก็ง (สีหนุ) รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15,171 และ 3,287 คนตามลำดับ โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดกัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 6.6 ล้านคน ในปี 2019 สร้างรายได้รวม 4.92 พันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน Thong Khon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวเสริมว่า ในปี 2022 กัมพูชาตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อย 800,000 ถึง 1 ล้านคน ภายใต้กรอบกลยุทธ์ของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501089249/intl-air-tourists-to-cambodia-surge-244-percent-q1/

‘ศก.เวียดนาม’ เผิชญกับความท้าทายใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนโลก

The Economic Information Daily ซึ่งเป็นสื่อในเครือของสำนักข่าวซินหัวที่เป็นสื่อของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์บทความระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความผันผวน ตามรายละเอียดชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 เวียดนามก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เป็นบวก นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการดำเนินใช้ชีวิตกำลังจะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหม่ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและปัจจัยดังกล่าวเริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-facing-new-challenges-amid-global-uncertainties-post946020.vov

นักท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในกัมพูชาเริ่มคลี่คลาย ส่งผลทำให้ภาคการท่องเที่ยวกัมพูชาเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนยังกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 230,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ ซึ่งในรายงานล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวระบุว่ากัมพูชาตั้งเป้าที่จะให้การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 800,000 คนภายในสิ้นปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501077245/sharp-rise-in-tourist-arrivals-to-cambodia/

การท่องเที่ยวเมียนมาคึกคัก เริ่มฟื้นตัวเป็นปกติ

หลังจาการคลี่คลายของการแพร่ระบาดโควิด-19  ภาคการท่องเที่ยวของเมียนมาเริ่มกลับมาคึกคักเป็นปกติอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด เทศกาลติงยาน (Thingyan) หรือสงกรานต์ของชาวเมียนมาในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางกันอย่างล้นหลาม ซึ่งก่อนช่วงเทศกาล และนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญมักจะนิยมเหมารถเพื่อการเดินทางมากกว่าใช้บริการโดยสารประจำทาง ส่งผลให้รถโดยสารต้องหันไปใช้สำหรับบรรทุกสินค้าในทุกๆ วัน แทน จากข้อมูลของผู้ขายสินค้าออนไลน์รายหนึ่ง พบว่า ค่าใช้จ่ายในการขนสินค้าใช้บริการขนส่งโดยรถโดยสารค่อนข้างมีราคาสูง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการจัดส่งสูงถึง 3,000 จัต ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสินค้า จากข้อมูลของกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนเทศกาลติงยาน ค่าตั๋วโดยสารรถประจำทางอยู่ที่ประมาณ 35,000 จัต จากนั้นลดลงเหลือ 25,000 จัตในช่วงเทศกาล ซึ่ง รัฐยะไข่ หาดซวงทา หาดงาปาลี เมืองพุกาม เมืองตองยี และทะเลสาบอินเลย์ เป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นที่สุด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/domestic-tourism-back-in-operation-almost-as-usual/

ADB สนับสนุนทางด้านสุขภาพ พลังงานสะอาด และถนนหนทางในกัมพูชา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มอบเงิน 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของกัมพูชา โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการและระบบควบคุมการป้องกันการติดเชื้อจากโควิด-19 ทั่วประเทศจำนวน 81 แห่ง ซึ่งในปีที่แล้ว ADB ได้สนับสนุนภาคเอกชนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา โดยได้ให้เงินกู้นอกภาครัฐจำนวน 4.7 ล้านดอลลาร์แก่ Prime Road Alternative Company Ltd. เพื่อพัฒนาและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 60 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกำปงชนัง โครงการนี้คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 111,000 ตันต่อปี อีกทั้ง ADB ยังได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 82.1 ล้านดอลลาร์ ให้กับกัมพูชา เพื่อปรับปรุงและก่อสร้างถนนภายในประเทศเชื่อมกันระหว่างจังหวัด เหยื่อแวง-กันดาล ระยะทางประมาณ 48 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501063773/adb-focuses-on-health-clean-energy-roads-in-cambodia/

การลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น หลังทางการออกกฎหมายรับมือโควิด-19

หลังจากประชากรภายในประเทศกัมพูชาได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในอัตราที่ค่อนข้างสูง และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ได้มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนโครงการลงทุนใหม่ในกัมพูชา รายงานโดยสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่งมีการขอยื่นข้อเสนอการลงทุนใหม่จำนวน 35 โครงการ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 14 โครงการเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายงานระบุว่าโครงการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้กว่า 31,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 ด้านมูลค่าการลงทุนรวมของโครงการอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 236 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโครงการการลงทุนใหม่ยังไม่รวมโรงการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501060981/kingdoms-new-investments-rise-on-covid-19-handling-law/

ผลสำรวจ ชี้โควิด-19 ทุบการผลิตภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 51.7 จากระดับของเดือนก.พ.ที่ 54.3 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเดือนมี.ค. ถึงแม้ว่าภาพรวมนั้น สถานการณ์การผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทไม่สามารถรักษาระดับปริมาณการผลิตได้และผลผลิตโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1171693/viet-nams-manufacturing-sector-hit-by-wave-of-covid-19-infections.html

 

‘GDP’ เวียดนามโต 5.03% ไตรมาส 1/65

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอลงจากการขยายตัว 5.22% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา GDP เวียดนามในไตรมาสที่สามของปี 2564 หดตัว 6.02% นับว่าเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจหดตัวตั้งแต่ปี 2543 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ (1) ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุจากการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน

อีกทั้ง ราคาวัสดุก่อสร้างในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามและอาจกลายเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และ (2) ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปั้มน้ำมันบางแห่งขาดแคลนเชื้อเพลิง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจ

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/Vietnam-GDP-grows-5.03-in-first-three-months-of-2022

เอดีบีชี้โควิด-19 ทำอาเซียนยากจนที่สุดปี 64

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) เผยแพร่รายงาน“การฟื้นตัวจากโรคระบาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในที่ประชุมเชิงสัมมนาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADS) วันนี้ (16 มี.ค.65) ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคน อยู่ในความยากจนที่สุดในปี 2564 ขณะที่การจ้างงานในปีดังกล่าวหายไปถึง 9.3 ล้านอัตรา เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เอดีบี ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอนอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2565 ลดลง 0.8% ขณะที่คาดการณ์ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้ยังคงต่ำกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิด-19 ระบาดมากกว่า 10% โดยในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะ แรงงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนในโลกดิจิทัล ซึ่งเอดีบี ระบุด้วยว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะสดใสขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย การฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่ภูมิภาคนี้ยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบต่างๆ ที่รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/993991