ทางการกัมพูชาวางแผนสนับสนุน SMEs และ ภาคการเกษตร

ทางการกัมพูชาจัดตั้งโครงการเงินกู้ฉุกเฉินพิเศษมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs และภาคการเกษตรเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเงินกู้ดังกล่าวจะออกให้แก่ภาคเอกชนผ่านทางธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกัมพูชาและธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท ภายใต้การส่งเสริมภาคการเกษตรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็น 2 ภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจกัมพูชา ทั้งในแง่ของการสร้างงานและในการปรับปรุงการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501029437/cambodia-to-support-smes-and-the-agriculture-sector/

8 บริษัท เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX)

ตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) คาดจะมีบริษัทอีก 8 แห่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาในปีนี้ โดยกล่าวถึงความคืบหน้าทั้งในด้านปริมาณการซื้อขายและบัญชีซื้อขายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณการซื้อขายในปี 2019 มีมากกว่า 150,000 ดอลลาร์ต่อวัน และในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปริมาณการซื้อขายลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 110,000 ดอลลาร์ต่อวัน และในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 250,000 ดอลลาร์ต่อวัน โดยในปัจจุบันมีการเปิดบัญชีซื้อขายแล้ว 5,000-6,000 บัญชี ซึ่งหนึ่งในแปดบริษัทที่คาดว่าจะจดทะเบียนใน CSX วางแผนทำ IPO ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทางด้าน CSX มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนการจดทะเบียนในตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยเน้นที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในหมวดธุรกิจ ไอที, โทรคมนาคม, ฮาร์ดแวร์, ลอจิสติกส์ รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่ม เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501016620/eight-more-companies-mulling-to-list-in-securities-market-this-year/

คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว

โดย ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และอภิชญาณ์ จึงตระกูล

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกบทความ “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว” โดยให้มองว่า รถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง1 ทั้งนี้ การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับโอกาสและผลกระทบ จากการทะลักของสินค้าขาเข้าได้ทันที

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีนผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมการขนสินค้าผ่านทางถนนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 12 ในปี 25642 และหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วกว่าทางถนนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่งได้

ดังนั้น เส้นทางรถไฟนับว่าเป็นการเปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสของการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-ลาว-จีน มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ต่อภาคการค้าของไทยกับจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้

โอกาสและความท้าทาย : เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

ด้านการนำเข้า : ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากการขนส่งผ่านทางรางทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง ดังนี้ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

ด้านการส่งออก : ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

 

โดยสรุปแล้ว การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น วัถตุดิบ ผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1.โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

2.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ

3.มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อ : https://thaipublica.org/2022/01/bot-regional-letter-china-lao-train/

‘อาลีบาบา’ เผยโอกาสในการส่งออกสดใสของผู้ประกอบการ SMEs เวียดนาม

Alibaba.com แพลตฟอร์ม B2B เปิดเผยรายงานในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในเวียดนาม ปี 2565” โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อยู่ในภาคการส่งออก แสดงให้เห็นถึงโอกาสการส่งออกที่สดใสของผู้ประกอบการ SMEs เวียดนามที่ควรมุ่งการขยายธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา อาทิเช่น ผลผลิตเกษตร ผลิตภัณฑ์ความงามและการดูแลส่วนบุคคล ที่อยู่อาศัยและสวน เป็นต้น ทั้งนี้ หากแบ่งผลิตภัณฑ์ หมวดผลผลิตเกษตร พบว่าน้ำมันสำหรับประกอบอาหารเป็นสินค้าที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากผู้บริโภคกว่า 300 คนเฉลี่ยต่อวัน โดยอินเดีย เลบานอน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกาและจีน เป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด ในขณะที่ หมวดผลิตภัณฑ์ความงามและการดูแลส่วนบุคคล พบว่าการต่อผมและวิกถือมีสัดส่วนการบริโภคมากที่สุด ด้วยจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยมากกว่า 3,500 รายต่อวัน อีกทั้ง หมวดที่อยู่อาศัยและการทำสวน พบว่าอุปกรณ์ครัวและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เป็นสินค้าขายดีที่สุดและยังเป็นสินค้าสำคัญที่ตอบสนองความต้องการของตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ บราซิลและรัสเซีย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/alibaba-unveils-promising-export-opportunities-for-vietnamese-smes-post919238.vov

รัฐบาลกัมพูชาเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ SMEs ภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนที่จะจัดหาเงินทุนสำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ SMEs วงเงินรวม 250 ล้านดอลลาร์ โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคาร SMEs ของรัฐกัมพูชา ภายใต้โครงการร่วมทุนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ SMEs ในกัมพูชา ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไป ภายใต้กลยุทธ์การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ รัฐบาลได้ออกแบบไว้สำหรับการพัฒนาภาคส่วนที่ถูกลำดับความสำคัญเอาไว้ ซึ่งก่อนหน้าที่รัฐบาลได้ทำการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการรีไฟแนนซ์ร่วม 2 รอบ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมบนวงเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 26 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 21 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 1 แห่ง สถาบันไมโครไฟแนนซ์รับฝากเงิน 3 แห่ง และสถาบันการเงินรายย่อย 1 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50988554/government-plans-additional-250-million-for-smes/

ธนาคาร SME กัมพูชา ขยายวงเงินโครงการปล่อยกู้ครั้งที่ 2

ธนาคาร SME ได้เพิ่มวงเงินการปล่อยกู้มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ ในโครงการ SCFS II ทำให้กรอบวงเงินปล่อยกู้ขยายขึ้นเป็น 140 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา โดยธนาคารกล่าวในแถลงการณ์ว่างบประมาณเพิ่มเติมสำหรับ SCFS II คือการตอบสนองต่อความต้องการสินเชื่อของ SMEs ภายในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการทางด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ริเริ่มโดยรัฐบาลกัมพูชา SME Bank of Cambodia จึงร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) ในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 40 ล้านดอลลาร์ สำหรับ SME Co-financing Scheme II (SCFS II) ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ SMEs รวม 790 ราย โดยคิดเป็นเงินกู้ยืม 99.8 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983845/sme-co-financing-scheme-iis-budget-increased-to-140-million/

KE และ CMA ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินแก่ SMEs กัมพูชา

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ร่วมกับสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชา (CMA) ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ และ SMEs ในกัมพูชา โดย KE และ CMA ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและร่วมจัดโปรแกรม/กิจกรรม เช่น การเสนอขาย งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจและการสร้างเครือข่าย การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 43,276 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับกระทรวง โดยสร้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 435,905 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50979560/khmer-enterprise-and-cma-enter-into-partnership-to-boosting-access-to-financial-service-for-smes/

สถานภาพธุรกิจ SME ไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ สถานภาพธุรกิจไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 625 ราย ผลการสำรวจ ดังนี้

สถานการณ์ยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดลง 65.2% โดยประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การค้า 75.8% รองลงมาคือ ภาคบริการ 67.1% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น 60.7% ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังเป็นกลุ่มการค้า และกลุ่มบริการ ส่งผลให้กำไรลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20.6%  และจากการสำรวจผู้ประกอบการจากปัจจัยต่าง ๆ กว่า 40.1% มีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะปิดธุรกิจสูงมาก โดยกลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงปิดสูง โดยต้องการวงเงินเข้ามาช่วยเหลือกิจการเพื่อเสริมสภาพคล่องเฉลี่ยอยู่ที่ 654,924 บาท และคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4/65 แต่ปัญหาของผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึง คือ การไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน งบการเงินไม่ดี มีประวัติ ไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และมีมาตรการช่วยเหลือเพราะเห็นว่ามาตรการที่รัฐออกมานั้นยังน้อย

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สนับสนุน SMEs ผ่านตลาดออนไลน์

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านตลาดออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 300 แห่ง สมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มที่ทางกระทรวงเป็นผู้พัฒนา โดยผู้ประกอบการที่สมัครส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตร หัตถกรรม อาหารและเครื่องดื่มแปรรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดออนไลน์ได้รับการออกแบบมาเพื่อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชาเป็นสำคัญ ให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงคู่ค้าทางธุรกิจ โดย e-marketplace ของ CambodiaTrade ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนทางด้านการเงินจาก Enhanced Integrated Framework for Trade-Related Assistance for Trade-Related Assistance for Least-Developed Countries จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50972924/smes-apply-to-sell-products-on-commerce-ministrys-online-marketplace/

ทางการกัมพูชาผลักดันธุรกิจ SMEs ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์

รัฐบาลกัมพูชากำลังพยายามอย่างมากที่จะให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกัมพูชา (SMEs) ขึ้นจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรมากขึ้น โดยต้องการให้ธุรกิจ SMEs ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอีกทางหนึ่งเพื่อปกป้องผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 25 ของเดือนถัดไป ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรามาตรฐานที่ร้อยละ 10 แต่ก็มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องเสียภาษีพิเศษ (SPT) อาทิเช่น บุหรี่เสียภาษีร้อยละ 20 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 35 และน้ำมันเครื่องร้อยละ 30 ในทางกลับกัน SPT สำหรับตั๋วเครื่องบินและบริการด้านความบันเทิง เช่น ผู้จัดคอนเสิร์ตและการแข่งขันกีฬาคิดเพียงน้อยละ 10 เท่านั้น โดยรัฐบาลมีความกระตือรือร้นที่จะเก็บภาษีทั้งหมดที่ค้างชำระ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาด ซึ่งกรมสรรพากรของกัมพูชาได้รายงานถึงการจัดเก็บภาษีมากกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 7.3 และคาดการณ์ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีรวม 2.2 พันล้านดอลลาร์ ตลอดทั้งปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50936037/tax-changes-are-part-of-efforts-to-maintain-govt-revenue-experts-say/