เศรษฐกิจเวียดนามสดใส ปี 63 แม้เผชิญโควิด-19

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสดใส ด้วยอัตราการขยายตัว 2.91% ในปี 2563 เนื่องมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะก้าวขึ้นไปอยู่อันดับที่ 19 ของโลกภายในปี 2578 และคาดว่าการเติบโตของ GDP เฉลี่ยจะอยู่ที่ 7% ในช่วงปี 2564-2568 และในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามจะโตเฉลี่ย 6.6% ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษรายงานด้วยว่าเวียดนามได้รับความเสียหายจากโควิด-19 น้อยที่สุด และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตในเชิงบวกในปี 2563

  ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-economic-bright-spot-in-2020-829244.vov

เมียนมาตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 64 โต 6%

รัฐบาลเมียนมาคาดเศรษฐกิจจะมีอัตราการเติบโต 6% ในปีงบประมาณ 63-64 ตามคำแถลงงบประมาณของกระทรวงการวางแผนการเงินและอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในภาคเกษตรกรรม 2.6% ภาคอุตสาหกรรม 6.5% และภาคบริการ 7.4% ในปีนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่ารัฐบาลควรพิจารณาจัดลำดับความสำคัญให้กับภาคการเกษตรเพื่อสร้างการเติบโตเป็นกลยุทธ์ที่ดี ภาคเครื่องนุ่งห่มของเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด -19 ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานซึ่งทำให้คนงานหลายพันคนตกงาน ด้าน นาย อู หม่อง หม่อง เล รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมากล่าวว่า ควรปลูกพืชผลที่ทำกำไรและต้นทุนให้ต่ำ สร้างตลาดสำหรับผู้ขายและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ควรให้ความสำคัญกับการประมงมากขึ้นเพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมทางทะเลเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรขยายไปสู่ตลาดส่งออกใหม่ ๆ ด้วยการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-targets-6pc-economic-growth-2021.html

สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน พร้อมร่วมมือลงทุนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนนโยบายอุตฯ 4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ร่วมหารือคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งยกภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในไทยต่อไป นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยนายไมเคิล มิคาลัก รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการภูมิภาค สภาธุรกิจ USABC พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแบบกึ่งออนไลน์ โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ทั้งนี้การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อรับรองการทำธุรกิจยุคดิจิทัล

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3184086

ธนาคารโลกคาดการเศรษฐกิจกัมพูชาโต 4 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัวร้อยละ 2 ในปี 2020 แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2021 ตามรายงานเกี่ยวกับการฟื้นตัวของธนาคารโลก (Restrained Recovery) ซึ่งเป็นการอัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารโลกสำหรับกัมพูชาที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ด้วยการผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจึงค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยการบริโภคส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการแทรกแซงของรัฐบาล ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ การไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศไปยังโครงการในอุตสาหกรรมนอกภาคเครื่องนุ่งห่มและการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าการส่งออกโดยรวมจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แต่การส่งออก จักรยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่มขึ้น ซึ่งการส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวภายในประเทศได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบางส่วน

ที่มา :https://www.khmertimeskh.com/50794321/world-bank-cambodias-economic-growth-projected-to-grow-by-four-percent-next-year/

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283

ADB คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2021

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับแนวโน้มระยะกลางสำหรับเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะหดตัวลงร้อยละ 4 ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแนวโน้มก่อนหน้านี้ของ ADB ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอันเป็นผลมาจากการระบาดของ Covid-19 อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานทางการเกษตรที่ดีขึ้นและปริมาณการผลิตที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางดีขึ้น โดยกล่าวในระหว่างการนำเสนอการสัมมนาทางเว็บเรื่อง “On Road Map to Recovery? Cambodia’s Economic Outlook for 2021” ซึ่งจัดโดย EuroCham ซึ่ง ADB ระบุปัจจัยขับเคลื่อนพื้นฐาน 5 ประการ ในการรักษาอัตราการเติบโต ประการแรกคือการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายการค้า การพัฒนาทักษะ การศึกษาและการผ่อนคลายสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ ตัวขับเคลื่อนที่สองคือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ประการที่สามคือการสร้างนวัตกรรมและดิจิทัลโดยเฉพาะในอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวขับเคลื่อนที่สี่คือการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคและการเข้าถึงตลาด และอันดับที่สุดท้ายคือการขยายตัวของเมืองและชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788737/adb-projects-a-rebound-in-growth-for-2021/

ศุภชัย มั่นใจปีหน้า เศรษฐกิจไทย กลับมาเติบโต

นายศุภชัย  พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทาเศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างไร ในวิกฤตไทย วิกฤตโลก” ภายในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐไทย และทุกประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่จีนได้ฟื้นตัวจากภาวะโควิดอย่างรวดเร็ว จะส่งผลดีกับประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกติดกับห่วงโซ่การผลิตของจีนสูงมาก ประกอบกับไทยรับมือกับปัญหาโควิดได้ดี และประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่รุนแรง ทำให้การส่งออกของไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นในทุก ๆ ไตรมาส อาจทำให้ GDP ปีนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คาดไว้ ส่วนการส่งออกในปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ ธปท. เข้ามาดูแลในเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนกระทบต่อการส่งออกนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากเศรษฐกิจโลกดีการส่งออกก็จะดีตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรจะเร่งปรับตัวขยายหาตลาดใหม่ ๆ การสร้างนวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด จะทำให้แข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งค่าเงินอ่อน นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลอย่างเพิ่งเร่งเปิดประเทศ ควรจะเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เปิดทีละนิดแล้วตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยชาวต่างชาติที่ควรเปิดให้เข้าประเทศ คือ กลุ่มนักลงทุน ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน แก้ปัญหาการว่างงานได้ตรงจุด โดยควรจะแก้ไขกฎระเบียบเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจโควิดที่เข้มงวด

ที่มา :  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909828

รัฐสภาเวียดนามเผยเศรษฐกิจโต 6% ปี 2564

สมัชชาแห่งชาติ หรือรัฐสภาเวียดนาม มีมติอนุมัติแผนเศรษฐกิจและสังคม ปี 2564 นับว่าเป็นหนึ่งใน 12 เป้าหมายที่สำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมในปีหน้า ด้วยเสียงสนับสนุน (89.21%) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างการประชุมนั้น สมาชิกสภาค่อนข้างแสดงความกังวลต่อเป้าหมายของการเติบโต GDP ร้อยละ 6 เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังเสนอให้ตั้งเป้าต่ำกว่าร้อยละ 5.5-6 ซึ่งการตั้งเป้าหมายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 6 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ทั้งนี้ สมัชชาแห่งชาติคาดว่าจะมีมาตรการในการรับมือต่อปัญหานี้เสียที่รุนแรง โดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างสถาบันสินเชื่อ รวมถึงธนาคารที่อ่อนแอ เพื่อความปลอดภัยของระบบธนาคาร นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสต่อไป โดยเฉพาะภาคการผลิต บริการ ท่องเที่ยวและการบิน รวมถึงผู้คนตกงานและผู้ที่มีรายได้ลดลง

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-economy-to-grow-6-in-2021-parliament-314788.html

IMF ฟันธง “เศรษฐกิจไทย” รอดตำแหน่งบ๊วยอาเซียน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบ 7.1% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะติดลบ 7.7% ขณะที่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะติดลบ 8.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ส่วนปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.0% ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 ซึ่งประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะหดตัว 1.5% ในปีนี้ และขยายตัว 6.1% ในปีหน้า, มาเลเซียจะหดตัว 6.0% ในปีนี้ และขยายตัว 7.8% ในปีหน้า, ฟิลิปปินส์จะหดตัว 8.3% ในปีนี้ และขยายตัว 7.4% ในปีหน้า ส่วนเวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีการขยายตัวในปีนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 1.6% ขณะที่ปีหน้าขยายตัว 6.7% IMF ยังคาดการณ์ว่าไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในอาเซียน โดยทรงตัวที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ และปีหน้า เช่นเดียวกับในปี 2562

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/money_market/452697

ออสเตรเลียให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า 78.9 ล้านเหรียญออสฯ ให้กับเวียดนาม

ตามคำแถลงการณ์ประกอบงบประมาณของรัฐบาลออสเตรเลียในปี 2020-2021 เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) ไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินทุนในการช่วยเหลือดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านเหรียญออสฯ (2.9 ล้านเหรียญออสฯ) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามจะได้รับเงินทุนราว 78.9 ล้านเหรียญออสฯ (หรือ 56.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2020-2021 ทั้งนี้ โครงการช่วยเหลือของออสเตรเลียในเวียดนามนั้น มีเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เวียดนามเข้าสู่ช่วงใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เวียดนามเป็นที่ตั้งโครงการทางการเงินของออสเตรเลีย 500 โครงการ ด้วยเงินทุนรวมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง การค้าระหว่างสองประเทศสูงถึง 7.732 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/australia-to-provide-aud789-million-oda-for-vietnam-24979.html