อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

อีคอมเมิร์ซกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง หลังสื่อสังคมออนไลน์ขยายตัว

สื่อสังคมออนไลน์กำลังเข้าครอบคลุมภาคอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจท้องถิ่นเกือบทั้งหมดส่งเสริมสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รายงานไว้ใน The Consumer Report 2023 ที่เผยแพร่โดย Standard Insights ผ่านความร่วมมือกับ Confluences ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียในระบบเศรษฐกิจภายใต้ชื่อเรื่อง “e-Commerce – Online Shopping Penetration” โดยจากการประมาณการต่างๆ พบว่าในกัมพูชามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 10.95 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มชื่อดังเช่น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10.45 ล้านคนในกัมพูชา ตามมาด้วย Facebook Messenger ที่มีผู้ใช้ 7.20 ล้านคน, TikTok ผู้ใช้ 7.06 ล้านคน, Instagram ผู้ใช้ 1.75 ล้านคน, LinkedIn ผู้ใช้ 530,000 คน และ Twitter ผู้ใช้ 393,200 คน เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่มีซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ สำหรับชาวกัมพูชามากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 29.97) มีการซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อเดือน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ อย่างไรก็ตามรายงานยังย้ำว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมที่ผู้คนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งพบว่าลูกค้ากว่าร้อยละ 61.90 ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter ในเรื่องของการตัดสินใจซื้อสินค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340001/social-media-platforms-taking-over-e-commerce-segment/

MEF ชี้เศรษฐกิจกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ร้อยละ 5.6 ในปีนี้ โดยเติบโตจากภาคบริการและการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่มีการขยายตัว ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกดดันให้ภาคการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มสำคัญต่างๆ สำหรับระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเน้นพึ่งพาการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ภาคการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 409 จากจำนวน 506,762 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการคาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 5 ล้านคน ภายในสิ้นปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 120 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีก่อนที่ 2.27 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340003/economy-to-stay-healthy-this-year-says-mef/

โอกาสและความท้าทายตลาดพลังงานของกัมพูชา

โดย AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ตลาดพลังงานของกัมพูชาก็เหมือนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกัมพูชาในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในตลาดพลังงานของกัมพูชาคือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือ ขณะที่ โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ในชนบทไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

ความท้าทายข้างต้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ก็พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าและไฟฟ้าพลังน้ำอย่างหนัก ทำให้กัมพูชาอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและถูกโจมตีได้ง่ายจากราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและระดับน้ำที่มีความแปรปรวนในแต่ละฤดู

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนและบริษัทด้านพลังงานต่างๆ เนื่องจากความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเปิดโอกาสในตลาดนี้ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต การส่งผ่านและการจ่ายไฟฟ้า อีกทั้งพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะเพิ่มส่วนของพลังงานทดแทนในแผนการผสมผสานพลังงานหลายประเภทของประเทศก็นับเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ชั้นเลิศ โดยในปี 2563 กัมพูชาได้เปิดทำการโรงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขณะที่ พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณที่ราบสูงมีศักยภาพอย่างมากด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งยังคงมีโอกาสอีกมากมายสำหรับบริษัทต่าง ๆ

แม้ว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวก แต่ภาคพลังงานทดแทนในกัมพูชายังคงเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน เช่น การไม่มีกรอบข้อบังคับที่ชัดเจนสำหรับพลังงานทดแทนนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความเติบโตของภาคธุรกิจนี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สูงของโครงการพลังงานทดแทนและการขาดแคลนทางเลือกแหล่งเงินทุนที่มีราคาเหมาะสมก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทที่สนใจลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานทดแทนและกำลังเสาะหาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมถึงกำลังพัฒนากรอบข้อบังคับที่ครอบคลุมซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีความชัดเจนและความมั่นคงมากขึ้น

โดยสรุป ตลาดพลังงานของกัมพูชามีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพลังซึ่งจะเห็นได้จากที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสอย่างมาก แต่รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เหมาะสมและจัดหาการเข้าถึงทางเลือกของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ สำหรับนักลงทุน เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ประสบกับความสำเร็จด้านธุรกิจขณะที่กัมพูชาเองก็บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/aec-connect-opportunities-and-challenges-in-cambodias-energy-market

อ้างอิง : Exploring Cambodia’s energy market, challenges and opportunities – Khmer Times (khmertimeskh.com)

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 2.79 ล้านดอลลาร์

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาจัดเก็บภาษีโดยภาพรวมได้ประมาณกว่า 2.79 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.1 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีประจำปี ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยปัจจุบันกัมพูชามีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี 2 แห่ง ได้แก่ General Department of Taxation (GDT) ซึ่งเน้นภาษีภายใน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีโรงเรือน และอีกแห่งคือ General Department of Customs and Excise (GDCE) เน้นการจัดเก็บภาษี สินค้าเข้า-ออกประเทศ ซึ่งกระทรวงระบุว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บโดย GDCE มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 1.12 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 41.4 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การจัดเก็บภาษีของ GDT สูงถึงประมาณกว่า 1.67 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 56.1 ของเป้าหมาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 โดยการจัดเก็บรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบภาษี รวมถึงการพัฒนาให้บริการแก่ผู้เสียภาษีและบริการจดทะเบียนที่สะดวกมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339088/kingdom-collects-2-79-billion-in-tax-revenue-in-1h/

TOYOTA พร้อมดำเนินการผลิตชุดสายไฟรถยนต์ในปอยเปตกัมพูชา

Chea Vuthy รองเลขาธิการ สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) กล่าวในแถลงการณ์ว่าปัจจุบัน Toyota Tsusho Corporation (Toyota Tsusho) วางแผนที่จะเริ่มผลิตชุดสายไฟสำหรับรถยนต์ในกัมพูชา ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต โดยได้กำหนดไว้ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ สำหรับ บริษัท Toyota Tsusho Corporation ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวและตลาดหลักทรัพย์นาโกย่า ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างมูลค่าประมาณ 36.7 ล้านดอลลาร์ โดยมีแผนที่จะรับสมัครพนักงานทั้งในและต่างประเทศประมาณกว่า 800 คน เพื่อทำงานในโครงการดังกล่าว ด้าน Aun Pornmoniroth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกัมพูชาในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก รวมถึงส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339087/toyota-to-produce-auto-wire-harness-in-poipet/

ในช่วงครึ่งแรกของปีจำนวนโรงงานในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานสถานการณ์การจัดตั้งโรงงานใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลงเนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,995 แห่ง ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ สร้างการจ้างงานใหม่เกือบ 1 ล้านตำแหน่ง ซึ่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานใหม่ที่ 1,974 แห่ง สำหรับการส่งออกของกัมพูชาลดลงเล็กกน้อยร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 11,489 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นับเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มอยู่ที่ 3,654 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19 การส่งออกรองเท้ามูลค่า 702 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.2 สินค้าเดินทางที่มูลค่า 999 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.1 การส่งออกจักรยานคิดเป็น 332 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 30.5 อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.3 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่ารวมกกว่า 1,440 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501338601/number-of-factories-in-kingdom-rises-in-h1/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 7 เดือน แตะ 2.6 พันล้านดอลลาร์

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการส่งออกข้าวสารที่มูลค่า 504 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหากนับเป็นปริมาณตันรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็นข้าวสาร 3.63 แสนตัน, ข้าวเปลือก 1.51 ล้านตัน และสินค้าการเกษตรอื่นๆ 2.64 ล้านตัน แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดต่างประเทศจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอนาคต เนื่องจากการที่ประเทศอินเดียประกาศลดโควต้าการส่งออกข้าวเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เป็นผลทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวในตลาดโลกอาจจะเกิดความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณข้าวที่อาจน้อยลง ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้กัมพูชาต้องเร่งศึกษากลยุทธ์ในการตักตวงโอกาสดังกล่าวที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มขีดความสามารถของโรงสีในท้องถิ่นในการจัดเก็บสต๊อก และเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปเพื่อการส่งออก เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339005/cambodias-agricultural-exports-reach-more-than-2-6-billion-in-seven-months/

SME Bank ปล่อยกู้ 54 ล้านดอลลาร์ แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกัมพูชา

ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกัมพูชา (SME Bank) ปล่อยเงินกู้รวม 54 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ให้แก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชา ผ่านโครงการความร่วมมือทางการเงินเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนเงินกู้ที่เบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมายในการปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่กำหนดไว้ที่ 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นการสนับสนุนจากรัฐบาลมูลค่ารวม 75 ล้านดอลลาร์ ร่วมกับเงินสมทบของสถาบันการเงินอีก 75 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันมีบริษัท/องค์กรกว่า 349 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการในการฟื้นฟูธุรกิจหลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวยังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวให้สินเชื่อสูงสุด 400,000 ดอลลาร์ต่อราย ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี และมีระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี สำหรับภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดกัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 6.6 ล้านคนในช่วงปี 2019 สร้างรายได้รวมกว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501337906/sme-bank-disburses-54m-loans-to-tourism-related-biz/

มิ.ย. เบี้ยประกันภัยรับในกัมพูชาพุ่งแตะ 28.7 ล้านดอลลาร์

ภาคธุรกิจประกันภัยในกัมพูชารายงานสถานการณ์เบี้ยประกันภัยรับภายในประเทศมีมูลค่าแตะ 28.7 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีบริษัทประกันทั่วไป 18 แห่ง, บริษัทประกันชีวิต 14 แห่ง, บริษัทประกันรายย่อย 7 แห่ง, บริษัทรับประกันภัยต่อ 1 แห่ง, นายหน้าประกันภัย 20 แห่ง และบริษัทตัวแทนนายหน้าประกัน 34 แห่ง รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ดำเนินการอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งเบี้ยประกันขั้นต้นของตลาดประกันทั่วไปในเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.2 คิดเป็นมูลค่ารวม 11 ล้านดอลลาร์ จาก 8.9 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายนปีก่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 17 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.1 ขณะที่เบี้ยประกันรายย่อยที่ 562,487 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ด้านมูลค่าเงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายโดยบริษัทประกันในช่วงเวลาดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 88 หรือคิดเป็นมูลค่า 3.3 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 1.7 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501338092/insurance-sector-logs-28-7m-premium-in-june/