เวียดนามส่งออกกาแฟชุดแรก ภายใต้ข้อตกลง EVFTA

ผู้ประกอบการเวียดนามได้แถลงการณ์เมื่อวันพุธว่าทำการส่งออกเสาวรสและกาแฟชุดแรกไปยังสหภาพยุโรป ตามข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) ทำให้ภาษีของเมล็ดกาแฟคั่วหรือไม่ได้คั่วลดลงจากร้อยละ 7-11 มาจนถึงร้อยละ 0 ในขณะเดียวกัน ภาษีของผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปลดลงจากร้อยละ 9-12 มาจนถึงร้อยละ 0 ตามข้อตกลงดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิ.ค. 2563 ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมากในตลาดยุโรป ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ระบุว่าได้ดำเนินการสร้างโครงการในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านกาแฟ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปกาแฟ รวมถึงยกระดับแบรน์ผลิตภัณฑ์กาแฟให้ทัดเทียมกับนานาชาติ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกกาแฟของเวียดนามไปสหภาพยุโรป อยู่ที่ราว 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน สิ.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน “นับว่าตัวเลขส่งออกข้างต้นอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ”

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/772409/viet-nams-first-batch-of-coffee-under-evfta-exported.html

เมียนมาเตรียมส่งออกหัวหอมไปบังกลาเทศ

เมียนมากำลังส่งออกหัวหอมไปยังบังกลาเทศเนื่องจากมีผลผลิตในท้องถิ่นจำนวนมากเพราะพรมแดนของจีนถูกปิดลง นาย U Khin Han ประธานศูนย์ค้าส่งบะยินเนาว์ ( Bayinnaung) กล่าวขณะหารือกับสถานทูตซึ่งการส่งออกจะต้องผ่านการเดินเรือและความจุแต่ละลำจะมีมากกว่า 150 ตู้คอนเทนเนอร์แต่ละคอนเทนเนอร์สามารถบรรจุหัวหอมได้ประมาณ 14 ตัน เนื่องจากชายแดนหลุ่ยลี่ (RUILI) กับจีนถูกปิดลงทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าและเกิดปัญหาสต็อกหัวในประเทศเป็นจำนวนมาก ปีนี้การส่งออกหัวหอมจะอยู่ระหว่าง 15,000 ถึง 20,000 ตัน ปัจจุบันมีผลผลิตมากกว่า 15 ล้านไร่ที่ยังตกค้างอยู่ที่เกษตรกรและผู้ค้า และรถบรรทุกสามารถขนส่งหัวหอมไปศูนย์ค้าส่งได้ประมาณ 15 คันต่อวัน

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-may-export-onions-bangladesh.html

เวียดนามคาดส่งออกข้าว 100,000 ตันไปอียู

จากการหารือของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ในประเด็น ‘การส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป’ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา คุณ Le Quoc Doanh รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ระบุว่าข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อผลผลิตทางการเกษตร การส่งออกข้าวจะมีศักยภาพสูงขึ้นภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ประกอบกับอียูจะให้โควตาข้าวของเวียดนาม 80,000 ตันต่อปี และเปิดเสรีการค้าข้าวหักอย่างสมบูรณ์ หมายความว่าเวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 100,000 ตันต่อปี ไปยังอียู ทั้งนี้ กรมการผลิต ระบุว่าอียูจะยกเว้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวจากเวียดนาม หลังจาก 3-5 ปี ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมีความได้เปรียบการค้าเมื่อเทียบกับกัมพูชาและเมียนมา ที่ต้องจ่ายภาษี 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2563 และ 123 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2564

ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/69841/vietnam-hopes-to-export-100-000-tonnes-of-rice

‘ไทย อินโดนีเซีย’ เป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของเวียดนาม ในเดือน ก.ค.

กรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าไทยและอินโดนีเซีย ยังคงเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในตลาดเวียดนาม ด้วยสัดส่วนรวมกันร้อยละ 76 ของยอดนำเข้ารวม โดยในเดือน มิ.ย. เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทยและอินโดนีเซีย อยู่ที่ 3,552 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของยอดนำเข้ารวมของเวียดนาม (97.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 4,761 คัน เป็นมูลค่าราว 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแง่ของปริมาณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และในแง่ของมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ซึ่งจากตัวเลขทั้งหมดนั้น จำนวนรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยอยู่ที่ 2,324 คัน (48.8% ของยอดนำเข้ารวม) อีกทั้ง ราคารถยนต์เฉลี่ยจากไทยอยู่ที่ 16,308 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน ในขณะที่ รถยนต์ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย มีราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 10,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน ในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ เวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่อยู่ที่ 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทยและจีน

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20200901/thailand-indonesia-stand-as-vietnams-major-auto-exporters-in-july/56499.html

การส่งออกกุ้งของเวียดนามไปเกาหลีใต้ ยังคงเติบโตได้ดี

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) ระบุว่าเวียดนามได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ากุ้งในตลาดเกาหลีใต้ (เกาหลีใต้ ไม่เกิน 15,000 ตันต่อปี) เนื่องจากข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สาธารณรัฐเกาหลี (VKFTA) ขณะที่ เวียดนามมีปริมาณขนส่งได้เพียง 2,500 ตัน ด้วยเหตุนี้ จึงใช้ประโยชน์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ส่งออกกุ้งได้ปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพและปฏิบัติตามขั้นตอนของเกาหลีใต้ ที่จะผ่านมาตรการทางเทคนิคต่อการค้า ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การส่งออกกุ้งของเวียดนามไปเกาหลีใต้ มีการเติบโตในทิศทางที่เป็นบวก และคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 5 ในปี 2563 ในขณะที่ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามเป็นผู้จัดหากุ้งรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของยอดนำเข้ารวมของประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-shrimp-export-to-rok-sees-positive-growth/182210.vnp

เวียดนามส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรก

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง อยู่ที่ 26.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่ากว่า 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน (24.13% ของยอดส่งออกรวม) รองลงมาจีน (-10.1%YoY) สหภาพยุโรป (-2.2%YoY) ขณะที่ อาเซียนและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 11.4 และ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ กลุ่มสินค้าส่งออกหลายอย่างลดลง แต่ยอดส่งออกข้าวยังคงเพิ่มขึ้น (10.4%, 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามมาด้วยผัก (12.8%), มันสำปะหลัง (95%), กุ้ง (11.4%) และไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (9.6%) เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ได้เข้ามาประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ, หน่วยงานท้องถิ่นและธุรกิจ เพื่อขจัดอุปสรรคและส่งเสริมการส่งออก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด—19 รวมถึงอัพเดทกฎระเบียบใหม่ๆ และส่งเสริมการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/agroforestryfisheries-exports-reach-over-26-billion-usd-in-first-eight-months/181984.vnp

สปป.ลาวเผยยอดส่งออกกาแฟพุ่ง 100% แตะ 40 ล้านดอลลาร์

สปป.ลาวส่งออกเมล็ดกาแฟเกือบ 22,300 ตันมูลค่าเกือบ 40 ล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประธานสมาคมกาแฟสปป.ลาวกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากในปีนี้ราคากาแฟในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นกาแฟที่ให้ผลผลิตมากกว่าปีที่แล้ว ปริมาณเมล็ดกาแฟที่ผลิตได้ทุกปีจะแตกต่างกันไปจากปัจจัยหลายประการเช่น สภาพอากาศ โรคที่ส่งผลกระทบต่อต้นกาแฟ มาตรการที่เข้มงวดขึ้นซึ่งบังคับใช้โดยรัฐบาลทำให้ผู้ค้าต่างชาติซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรอย่างผิดกฎหมายได้ยากขึ้นและนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น การส่งออกกาแฟผิดกฎหมายก่อให้เกิดปัญหากับผู้ประกอบการในสมาคมเนื่องจากผู้ค้าต่างชาติซื้อเมล็ดกาแฟโดยไม่เสียภาษีใด ๆ แต่ผู้ประกอบการสปป.ลาวต้องจ่ายภาษีส่งออกให้กับรัฐบาลซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตกาแฟสูงขึ้น ในปีนี้ผู้ประกอบการซื้อเมล็ดกาแฟอาราบิก้าจากเกษตรกรในราคา 1,500-3,200 กีบต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและคุณภาพของกาแฟ ในขณะที่ราคาเมล็ดกาแฟโดยรวมอยู่ระหว่าง 15,000-16,500 กีบต่อกิโลกรัม ราคาของกาแฟโรบัสต้าปอกเปลือกอยู่ระหว่าง 11,000-12,500 กีบต่อกิโลกรัมในปีนี้  โดยส่งออกกาแฟไปยังกว่า 26 ประเทศในยุโรปเอเชียและสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีบริษัท 8 แห่งที่รับซื้อกาแฟจากเกษตรกรเพื่อส่งออกและขายภายในประเทศ

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/business/laos-ups-its-coffee-exports-100-hit-40m

ยอดผลิตรถยนต์ก.ค.ร่วง47% เหตุยอดขาย-ส่งออกไม่ฟื้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนก.ค. 63 โดยจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ ทั้งสิ้น 89,336 คัน ลดลง 47.71% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน  จากการผลิตเพื่อส่งออกลดลง47.42%  และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 47.98% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา24.59%เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการ และโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตเพิ่มขึ้นส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-ก.ค.63 มีจำนวนทั้งสิ้น 695,468 คัน ลดลง 43.77% ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ59,335 คัน ลดลง 24.8%  แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.2.28%  เพราะรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นรวมทั้งการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจากการจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์กลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนก.ค.จำนวน 49,564 คัน ลดลง 39.67%  โดยส่งออกลดลงทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 เช่น หกเดือนแรกปีนี้ยุโรปลดลง 39.5%  สหรัฐลดลง 23.8%  ญี่ปุ่นลดลง 20.1% บลาซิลลดลง 38.9%   ด้านมูลค่าการส่งออก 28,848.50 ล้านบาท ลดลง28.47%  อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงของเดือนก.ค.น้อยกว่าเดือนมิ.ย. ตามการค่อยๆผ่อนคลายการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ เดือนก.ค.รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 40,645.24 ล้านบาท ลดลง 38.14% ขณะที่เดือน 7 เดือนแรกรวมมูลค่าการส่งออกรวมฯมีทั้งสิ้น 345,357ล้านบาท ลดลง 32.65%

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894539?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

“ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของเวียดนาม” ส่งออกเหล็กคุณภาพสูงไปยังแอฟริกา

Hoa Phat Hung Yen Steel เป็นบริษัทในเครือของบริษัท Hoa Phat Group ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของเวียดนาม ได้ร่วมลงนามในสัญญาหลายฉบับ เพื่อส่งออกเหล็กแผ่นรีดคุณภาพสูงภายใต้แบรนด์ “SEA” ไปยังแอฟริกา ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในการเปิดตลาดส่งออกแห่งใหม่ โดยปริมาณการส่งออกครั้งแรกอยู่ที่ราว 30,000 ตัน ไปยังเคนยาและกานา ในเดือนกันยายนและตุลาคมปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ทางบริษัท Hoa Phat ส่งออกเหล็กแผ่นรีดคุณภาพสูง 160,000 ตันไปยังตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญของบริษัท ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา บรูไน ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-leading-steel-manufacturer-exports-high-quality-steel-to-africa-23639.html

‘พาณิชย์’ เผยข่าวดี FTA อาเซียน-จีน ดันส่งออกทุเรียนไปจีนครึ่งปีแรกพุ่ง 140%

 ‘นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยครึ่งปีแรก ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก พุ่งถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดจีน ขยายตัว 140% ชี้! ผู้ประกอบการขอใช้สิทธิส่งออกด้วย FTA อาเซียน-จีน สัดส่วนเต็ม 100% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดไปจีน แนะรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า เน้นการผลิตแบบปลอดสารพิษ ใช้ช่องทางขายออนไลน์เจาะตลาดมากขึ้น สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศและรายได้หลักของเกษตรกรไทย พบข่าวดี ไทยยังคงครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดต่างประเทศ โดยทุเรียนสดมีสัดส่วนการส่งออก 69% ของการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2563) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก พุ่งถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 73% โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 1,022 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 73% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมด ขยายตัวกว่า 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตามด้วยฮ่องกง มูลค่า 207 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 15% ขยายตัว 34% และอาเซียน มูลค่า 164 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 12% ขยายตัว 25% (เวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลัก)

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3150029