ตลาดเรียนออนไลน์เวียดนามโต 3 พันล้านดอลล์

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในเวียดนาม แถมเป็นการแพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วขึ้น แต่กลับทำความต้องการเรียนหนังสือทางออนไลน์กับสถาบันการศึกษาชื่อดังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาทะยานถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
ทั้งนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาของเวียดนามคือ “เอฟพีที” ผู้ให้บริการด้านไอทีในเวียดนาม โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการส่งประสบกาณณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน
นอกจากนี้ ภายใต้แรงกดดันต้องมีการศึกษาที่ดีขึ้น แรงงานในเวียดนามจะได้รับการสนับสนุนให้ติดอาวุธทางปัญญารวมทั้งฝึกอบรมให้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามประกาศเป้าหมายเพื่อทำให้การศึกษาทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 90% สำหรับการเรียนระดับมหาวิทยาลัย และ 80% สำหรับการเรียนระดับมัธยม และการอบรมวิชาชีพ ภายในปี 2573
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/978384

‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามควรเร่งฉีดวัคซีนและดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการดำเนินนโยบายการคลัง คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นในเดือน พ.ย. หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการกลับมาฟื้นตัว และยังสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ย. ก็เพิ่มขึ้น 45% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกัน นับจากเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ประเด็นการส่งออก พบว่ายอดส่งออกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือน พ.ย. เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นจาก 6.1% ในเดือน ต.ค. มาอยู่ที่ 26.5% ในเดือน พ.ย.

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อแผนการฉีดวัคซีนแบบเร่งด่วน การใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการกักกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-push-for-rapid-vaccination-and-fiscal-policy-support-to-help-reboot-economy-911545.vov

‘ADB’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียและเวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเวียดนามและมาเลเซียในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่ 3 ขณะเดียวกันปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียลงมาสู่ระดับ 7.0% ในปีนี้ และ 5.3% ในปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.1% และ 5.4% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตามรายงาน “Asian Development Outlook” ระบุว่าในกลุ่มประเทศเอเชีย จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง และระดับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ไวรัสตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “โอมิครอน” เสี่ยงคุกคามเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม คาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.0% ในปีนี้ จากที่คาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.8% ก่อนที่จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของมาเลเซีย คาดว่าจะขยายตัว 3.8% ในปีนี้ และ 5.9% ในปีหน้า

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/ADB-slashes-Malaysia-and-Vietnam-annual-growth-forecasts

เจาะโอกาสส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนาม

โดย SME Go Inter I ธ.กรุงเทพ
Vietnam Industry and Trade Information Centre คาดการณ์ว่าผักและผลไม้แปรรูปจะมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะความสะดวกและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนาน
ในช่วงปี 2559-2563 การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนามเติบโตขึ้นถึงเลขสองหลักต่อปี โดยในปี 2562 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 41.2% yoy ก่อนจะตกลงสู่ระดับ 11.1% ในปี 2563
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปสามารถทำรายได้ ได้มากถึง 653.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับตลาดส่งออกผักและผลไม้แปรรูปที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังจีนเติบโตขึ้น 24.8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562
นอกจากนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมผักและผลไม้แปรรูปทั่วโลก ในทางตรงข้ามอุปทานของผักและผลไม้แปรรูปจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าหรือสินค้าแช่แข็งจะลดลง เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ผลิตสินค้า
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง และทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเรือและเครื่องบินจำกัด ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้าขวางคลองสุเอซเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ทำให้ต้องขยายเวลาในการขนส่งผักและผลไม้สดออกไป
จากบริบทข้างต้นทำให้ผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถส่งออกได้ถูกนำส่งไปยังโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นต่างๆ และจากราคาวัตถุดิบที่ถูกลงนี้จะช่วยให้โรงงานแปรรูปสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้
เมื่อความต้องการและความพยายามในการขยายการผลิตของโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ผักและผลไม้แปรรูปในปัจจุบันมีสัดส่วน ถึง 25-30% ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้รวมทั้งหมดของประเทศ โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะอยู่ที่ประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ของเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับข้อจำกัดหลายประการ โดยหนึ่งในปัญหาดังกล่าวคือ สินค้าเวียดนามในปัจจุบันส่งออกภายใต้ชื่อแบรนด์ที่แตกต่างกันแต่ยังไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในระดับประเทศ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในรสนิยมของผู้บริโภคและยังต้องปรับปรุงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในตลาดต่างประเทศด้วย
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมแปรรูปของเวียดนามยังคิดเป็นเพียง 8-10% ของผลผลิตผักและผลไม้ที่ได้ในแต่ละปี การบริโภคก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสินค้าสดหรือการถนอมอาหารเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ซึ่งความเสียหายจากการเก็บเกี่ยวยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไปที่ประมาณ 20% ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามจึงมองว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการส่งออกเพื่อรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้

ที่มา :
1/ https://www.bangkokbanksme.com/en/export-processed-vegetables-and-fruits-of-vietnam
2/ https://the-japan-news.com/news/article/0008042350

‘เวียดนาม’ คาดอุตสาหกรรมสิ่งทอ โต 11.2%

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าภาคธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ ตั้งเป้าว่าจะมียอดส่งออกในปีนี้ อยู่ที่ 39 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% และ 0.2% เมื่อเทียบกับปี 63 และ 62 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดขงโรคโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ แต่ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติดังกล่าวและคงรักษาระดับการส่งออกให้มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การส่งออกที่คงเติบโตในระดับสูง เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามร่วมลงนามกับประเทศคู่ค้า

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเวียดนามได้ปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำให้ภาคธุรกิจมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-set-to-enjoy-growth-rate-of-112-909982.vov

โควิด-19 กระทบพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนาม 85% ใช้บริการดิจิตอลแบงกิ้ง

‘Mambu’ แพลตฟอร์ม Clound Banking รายงานว่าผู้บริโภคชาวเวียดนาม 85% มีแนวโน้มที่จะใช้บริการออนไลน์และดิจิตอลแบงกิ้งมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 18 เดือนก่อนหน้า โดยจากการสำรวจผู้บริโภคทั่วโลก 4,500 ตัวอย่าง รวมถึงผู้บริโภคชาวเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 11% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่ากลุ่มตัวอย่างราว 2 ใน 3 (หรือ 61%) ใช้บริการดิจิตอลแบงกิ้งมากขึ้น และ 41% เริ่มใช้บริการดิจิตอลแบงกิ้งเป็นครั้งแรก สาเหตุจากโควิด-19 ทั้งนี้ คุณ Pham Quang Minh ซีอีโอของ Mambu Vietnam กล่าวว่าการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบธนาคาร เป็นคันเร่งให้เวียดนามปรับให้เข้ากับพฤติกรรมลูกค้าในยุคใหม่ ซึ่งลูกค้าของธนาคารในพื้นที่กว่า 87% ให้ความสำคัญกับการบริการผ่านทางธนาคารออนไลน์ และอีก 90% นิยมชำระบิล โอนเงินผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/pandemic-makes-85-of-vietnamese-consumers-likely-to-use-digital-banking-in-future-905776.vov

 

ทางการกัมพูชาวางแผนกำหนดร่างนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนกำหนดร่างกรอบนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ ภายหลังการประชุมของคณะทำงานในรัฐบาลกัมพูชา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายในประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านการเงินและการระดมทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและภาคการแปรรูปทางการเกษตร เป็นสำคัญ เนื่องจากมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีในทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลตั้งกรอบเงินงบประมาณในการสนับสนุนทางด้านสินเชื่อไว้ที่ 250 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ภาคเอกชน ผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบท ภายใต้กรอบปีงบประมาณ 2022 โดยคิดบนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระหว่างร้อยละ 5-5.5 แก่สาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อาทิเช่น สาขาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น รวมถึงมีการกำหนดมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การยกเว้นภาษี นำเข้า-ส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50972244/draft-policy-to-boost-economy-amid-covid-19-pandemic/

ลาว ต่อเวลากฎคุมโควิดไม่มีกำหนด หลังป่วยเพิ่มทั่วประเทศ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลลาวประกาศขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง หลังจากจำนวนผู้ป่วยในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ลาวจะยังคงปิดทำการพรมแดนและด่านตรวจ ยกเว้นด่านที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งชาติ ขณะเดียวกันจะงดออกวีซ่านักท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติ ยกเว้นบุคลากรการทูต พนักงานองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนที่ต้องการเข้าประเทศเร่งด่วน ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการทั้งหมดที่กำหนดโดยรัฐบาล

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/615916

สรท.คาดส่งออกปี 65 ขยายตัว 5% จากปีนี้คาดโตได้ราว 12%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดการณ์ภาวะการส่งออกของไทยในปี 65 จะมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 5% ส่วนในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 12% เนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 63 จากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 “จากการประเมินแล้วมั่นใจว่าปีนี้อยู่ในกระเป๋าแล้วอย่างน้อย 12% ส่วนในปีหน้าได้นำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาประเมินแล้วคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5%”

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/141392

ราคามันฝรั่งในเขตสะกายพุ่งขึ้นถึง 1,000 จัต

ราคามันฝรั่งในเขตสะกายเพิ่มขึ้น 1,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ในปีนี้ ซึ่งราคาอยู่ในช่วงขาขึ้นและแตะระดับสูงถึง 1,500 จัตต่อ viss ดีดตัวจาก 500-600 จัตในปีที่แล้วขึ้นอยู่กับขนาด ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรภาคสะกายมุ่งไปที่การขยายพื้นที่เพาะปลูก พืชผลทางการเกษตร และแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเป็นหลัก โดยราคามันฝรั่งจะพุ่งขึ้นในฤดูมรสุม และในปีนี้ราคามันฝรั่งยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุม COVID-19 ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศผันผวน ซึ่งปีที่แล้วเกิดน้ำท่วมและผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาลดลง อย่างไรก็ตาม มันฝรั่งอาหารถือเป็นอาหารหลักยังมีความต้องการสูงในปีนี้ ท่ามกลางผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ในเมียนมามีพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งกว่า 90,000 เอเคอร์ทั่วประเทศ มีผลผลิตประมาณ 600,000 ตันต่อปี โดยมีเป็นการบริโภคในประเทศประมาณ 350,000 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/potato-prices-up-by-k1000-in-sagaing-region/#article-title