‘ลาว-จีน-เมียนมา-ไทย’ เสร็จสิ้นภารกิจร่วมลาดตระเวนแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134

หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากลาว จีน เมียนมา และไทย สนธิกำลังเพื่อทำการลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134 โดยการลาดตระเวนร่วมครั้งนี้มีเรือ 5 ลำ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 114 นาย จาก 4 ประเทศ ครอบคลุมเส้นทางน้ำเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร โดยปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในระหว่างการลาดตระเวน ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนเพื่อความปลอดภัยและเสถียรภาพริมแม่น้ำ และทำการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งจัดขึ้นที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่แม่น้ำโขง ทั้งสี่ประเทศบรรลุฉันทามติในการร่วมกันต่อสู้กับการฉ้อโกงผ่านระบบโทรคมนาคมและอาชญากรรมข้ามพรมแดนอื่น ๆ รวมถึงกระชับความร่วมมือในอนาคตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม่น้ำโขง หรือในจีนเรียกกันว่าแม่น้ำล้านช้าง เป็นแม่น้ำที่สำคัญสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ทั้งสี่ประเทศได้ดำเนินการลาดตระเวนร่วมกันในแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

ที่มา : https://english.news.cn/20231027/a22c8b9f0c11468b8a5a696aa43e1758/c.html

ธนาคารบริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) เปิดทำการแล้วที่ สปป.ลาว

The ICBC Vientiane Branch ได้รับอนุญาตจากจีนในการเปิดให้บริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ใน สปป.ลาว โดยจะใช้เป็นช่องทางในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดระหว่าง สปป.ลาว กับจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือองค์กรและสถาบันทางการเงินในลาวให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปสกุลเงินหยวนของจีนได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน อำนวยความสะดวกการลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของ สปป.ลาว และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/20231025/a6c4ec1bf93e4cf2a17b97ed390e71ac/c.html

ACFTA ดันการค้าทวิภาคี กัมพูชา-จีน แตะ 11.69 พันล้านดอลลาร์

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ได้ส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนนับตั้งแต่ปี 2010 โดยปัจจุบันทางการจีนพยามยามผลักดันการเจรจา FTA เป็นเวอร์ชัน 3.0 ซึ่งข้อตกลง ACFTA ได้เริ่มมีผลบังคับใช้มาแล้ว 13 ปี ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนเติบโตถึง 10 เท่า นับตั้งแต่ปี 2010 จากมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ สู่ 11.69 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 21.37 กล่าวโดย Tat Puthsodary รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ กรุงพนมเปญ ขณะที่ Academy for International Business Officials (AIBO) หน่วยงายร่วมของกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 4 วัน โดยมุ่งสร้างขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่กัมพูชาในเรื่องกฎแห่งถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าของกัมพูชา สำหรับการค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่าเกือบ 980 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 มากกว่าปี 2013 ถึง 1.2 เท่า ที่มูลค่าประมาณ 440 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380743/acfta-boosts-cambodia-china-bilateral-trade-to-11-69-billion/

กัมพูชาเรียกร้องบริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติมในกัมพูชา

Sun Chathol รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ประกาศสนับสนุนบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน อย่าง บริษัท บีวายดี (BYD) ให้ติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพิ่มเติม กระจายไปยังจุดต่างๆ ทั่วกัมพูชา หลังจากแนวโน้มการใช้รถไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยรองนายกฯ ได้จัดทำข้อเสนอในระหว่างการประชุมร่วมกับ Liu Kading รองประธานบริษัท BYD ในประเทศจีนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) สำหรับ ณ เดือนมกราคม 2023 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนในกัมพูชามีมากกว่า 700 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นที่จะลดมลพิษ ด้วยการสนับสนุนการใช้ยานพาหนะพลังไฟฟ้าอย่างน้อยถึงร้อยละ 40 ของยานพาหนะทั้งหมด และให้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 70 ของรถจักรยานยนต์ ภายในปี 2050 อีกทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์ เพื่อเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก หวังดึงดูดการลงทุนในภาคส่วนดังกล่าวเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380198/cambodia-asks-chinese-ev-company-to-install-more-charging-stations/

จีนจ่อลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานกัมพูชา มูลค่ารวมกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์

ภาคพลังงานของกัมพูชาได้รับแรงผลักดันมหาศาลจากบริษัทจีนในการประกาศแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานมูลค่ารวมกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ ด้านนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต กล่าวขอบคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสนใจด้านการลงทุน ในระหว่างการประชุม ‘Belt and Road Forum’ ที่กำลังดำเนินอยู่ในกรุงปักกิ่ง โดย Wang Bo ประธานบริษัท China Machinery Engineering Corporation (CMEC) ได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี หลังก่อนหน้าประสบความสำเร็จในหลายโครงการที่ได้เข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ภายใต้เครือ SINOMACH ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสำคัญ สำหรับในกัมพูชาบริษัทวางแผนที่จะเพิ่มเงินลงทุนมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในอนาคตอันใกล้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมของรัฐบาลกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501377951/china-to-charge-up-kingdoms-energy-sector-with-3-6-billion/

ตม.จีน เผย ‘รถไฟจีน-ลาว’ มียอดผู้ใช้บริการทะลุ 81,000 คน

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประจำด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนานของจีน เผย 6 เดือนแรก มีผู้ใช้บริการรถไฟจีน-ลาวแล้วกว่า 81,000 คน ในที่นี้เป็นผู้โดยสารต่างชาติกว่า 15,000 คน จากกว่า 60 ประเทศ สะท้อนความสำคัญของเส้นทางรถไฟสายนี้
ที่เป็นตัวเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากมีราคาค่าโดยสารไม่แพงและมีความสะดวกสบาย อีกทั้งตั้งแต่
เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ระยะเวลาเดินทางจากต้นทางที่ด่านโม่ฮานถึงสถานีปลายทางนครหลวงเวียงจันทน์มีการปรับลดเวลาการเดินทางเหลือเพียง 9 ชั่วโมง จากผลของการลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_202_China_y23.php

ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ BRI หนุนความร่วมมือ ‘อาเซียน-จีน’หลากหลาย

ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยแสดงทัศนะว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนเสริมสร้างความร่วมมือด้านกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนในด้านต่างๆ เช่น การค้าและการผลิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานนี้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย และมีโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกับจีนทั้งด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือด้านกำลังการผลิต

ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของจีนส่งอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศอาเซียนในวงกว้าง ด้านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน ได้ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/763294

กัมพูชา-จีน พร้อมกระชับความสัมพันธ์ผ่านโครงการ BRI

Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา กล่าวว่า โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ได้เปิดฉากทัศน์ใหม่ สำหรับการสารสัมพันธ์ความเป็นมิตรภาพระหว่าง จีน-กัมพูชา ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์มหาศาลแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเน้นไปที่การก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ ด้วยการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศสมาชิค โดยคาดว่าจะดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลา 10 ปี ซึ่งกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนกลุ่มแรกๆ สำหรับในช่วงเริ่มของโครงการ

ด้านเอกอัครราชทูตจีนยังได้กล่าวเสริมว่าความคิดริเริ่มดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน และเพิ่มความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านกำลังการผลิต การค้า การลงทุน การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐาน สะท้อนจากความสำเร็จของโครงการสำคัญต่างๆ อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ เสียมราฐ สนามบินนานาชาติอังกอร์ สนามกีฬาแห่งชาติโมโรดอกเตโช และสถานีไฟฟ้าพลังน้ำเซซัน 2 ในตอนล่าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501376482/bri-strengthens-china-cambodia-ties/

IMF คาดเศรษฐกิจเอเชียกระทบหนัก เหตุวิกฤตอสังหาจีนฉุดดีมานด์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในบล็อกวันนี้ ว่า เศรษฐกิจจีนที่กลับมาคึกคักหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์สมัยโควิดนั้นเสียแรงผลักดันเร็วกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ช่วยเอเชียได้มากนัก เพราะสหรัฐโฟกัสกับภาคบริการมากกว่า

นอกจากนี้ การที่สภาวะทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลกเข้มงวดขึ้นอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชีย และทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลงด้วย ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) IMF คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% เหลือ 2.9%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/world/578513

“จีน” ยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของกัมพูชา

นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้ว 191 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 41 โครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นเม็ดเงินลงทุนของจีนในกัมพูชามากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นการลงทุนจากนักลงทุนในท้องถิ่นชาวกัมพูชาอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 12 โดยในเดือนกันยายน CDC อนุมัติโครงการใหม่ 27 โครงการด้วยเงินลงทุนรวม 1.6 พันล้านดอลลาร์ สร้างโอกาสในการจ้างานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการลงทุนเกี่ยวกับระบบการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า ผลิตเหล็ก และภาคส่วนอื่นๆ ด้านกัมพูชากำลังเร่งจัดทำกลยุทธ์เพื่อหวังดึงดูดนักลงทุนชาวจีนผ่านการเข้าร่วมโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373387/china-remains-largest-investor-in-cambodia/