เมียนมาลงนาม MoU กับเวียดนาม หนุนภาคส่วนมะพร้าว

ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์ เมียนมาลงนามบันทึกความเข้าใจกับเวียดนามเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาภาคมะพร้าวที่ ในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม และได้ไปศึกษาดูงานฟาร์มมะพร้าวในหมู่บ้านยินกาดิษฐ์ เมืองพันตานอว์ เขตอิรวดี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม โดยเมียนมาจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับโครงการ “ห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (มะพร้าว)” ภายใต้กองทุน ACEMES-ROK ที่โรงแรม Pan Pacific บริษัท เมียนมา ออร์ชาร์ด จำกัด และสหกรณ์บริการการเกษตร Hoa Binh Hiep ของเวียดนาม ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดหาต้นมะพร้าวและความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับสวนมะพร้าว ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญที่นำโดยนาง Nguyen Thi Kim Thanh ประธานสมาคมมะพร้าวเวียดนาม ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกมะพร้าวและวิธีการผลิต คาร์บอนเครดิต และการสร้าง Macapuno ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ดี ภายใต้กองทุน ACEMES-ROK โครงการ “ห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (มะพร้าว)” ยังรวมหลักสูตรหัตถกรรมมะพร้าวในเขตอิรวดีระหว่างเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเมษายน 2567 ซึ่งหลักสูตรนี้จะนำเสนอแนวทางปฏิบัติในการเปลี่ยนกะลามะพร้าวเหลือทิ้งให้เป็นงานฝีมือที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้ทักษะการเลือกกะลามะพร้าว การออกแบบ ตัด ขัด ตากแห้ง และตกแต่งด้วยอุปกรณ์ทีละขั้นตอน มีวิชาการวาดภาพขั้นพื้นฐานรวมอยู่ด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-signs-mou-with-vietnam-to-bolster-coconut-sector/

‘ไทย’ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ อันดับ 2 ของเวียดนาม

ประเทศไทยกลายมาเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกรวมสูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และขึ้นแท่นเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ อันดับ 2 ของตลาดเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ไทยนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ นาย ดัง ฟุก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vinafruit) ได้อธิบายไว้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ ไทยนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถึงแม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ทุเรียนของไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้หันมาสั่งซื้อทุเรียนจากประเทศอื่นๆ เพื่อตอบสนองกับความต้องการในประเทศและนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นผู้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด แต่ไทยก็เป็นผู้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ของเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656753/thailand-becomes-viet-nam-s-second-largest-durian-importer.html

‘ผลสำรวจ’ ชี้ 6 เดือน นักช้อปผู้ชาย ซื้อของออนไลน์ พุ่ง 100%

จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ตลาด ‘YouNet ECI’ เปิดเผยว่าผู้บริโภคในปัจจุบันไม่เพียงแต่ซื้อสินค้าในฤดูกาลลดราคาครั้งใหญ่ แต่จะพิจารณาข้อเสนอในแต่ละวัน รวมถึงปัจจัยสำคัญของผู้ซื้อ 2 ประการ ได้แก่ นิสัยของบุคคลและพฤติกรรมผู้บริโภค ในขณะที่บริษัทวิจัยการตลาด ‘Buzzmetrics’ ระบุว่าในปี 2565-2566 ความถี่ของการเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 3 เท่า และยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 20-30 รายการคำสั่งต่อเดือนในปี 2566

ทั้งนี้ นาย Nguyen Phuong Lam จากบริษัทวิเคราะห์ตลาด กล่าวว่าในช่วงระยะแรกของตลาดอีคอมเมิร์ซ ผู้หญิงเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่สั่งซื้อสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์ดูแลความงาม แต่ว่าในปัจจุบันผู้บริโภคชายกลับมีการซื้อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และสินค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อจะเป็นสินค้าเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครังเรือน โดยยอดขายในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2566 เติบโตเฉลี่ย 100% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-men-s-online-purchases-grow-by-100-in-six-months-2286711.html

‘วินฟาสต์’ ชะลอเปิดโรงงานอีวี 4 พันล้านดอลลาร์อีกรอบ เหตุขาดทุนยับในสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ วินฟาสต์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สัญชาติเวียดนาม ประกาศเมื่อปี 2565 ว่าจะสร้างโรงงานรถอีวี และแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ โดยโรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 150,000 คันต่อปี พยายามใช้ประโยชน์จากที่รัฐบาลโจ ไบเดน มีนโยบายอุดหนุนการลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานรถอีวีในสหรัฐฯ ซึ่งเดิมทีบริษัทวางแผนการสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค.2567 แต่ต่อมาได้เลื่อนเปิดการดำเนินการไปปีหน้า และกำลังพิจารณาขยายการเปิดดำเนินการออกไปอีกครั้ง

ทั้งนี้ โฆษกของรัฐนอร์ทแคโรไลนา เปิดเผยว่าวินฟาสต์ได้ยื่นปรับแก้ขนาดอาคารของโรงงานดังกล่าวถึง 2 ครั้ง โดยล่าสุดได้ยื่นเข้ามาเมื่อเดือน เม.ย. และตอนนี้อยู่ระหว่างที่แผนการอนุญาตของเคาน์ตีรัฐนอร์ทแคโรไลนาทำการตรวจสอบอยู่

อย่างไรก็ตาม มีรายงานระบุว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในประเทศก็ขายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยในปีที่แล้ว ผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น 15% หรือ 2.4 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1129137

‘เวียดนาม’ เผยยอดการค้า ม.ค.-พ.ค. พุ่ง 16%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 305.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลในเดือน พ.ค.67 พบว่าการส่งออกของเวียดนาม ปรับตัวขึ้น 15.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่าที่ 32.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 33.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้าในเดือนนี้ อยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าการส่งออกราว 44 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกัน เวียดนามนำเข้าจากจีนมากที่สุด อยู่ที่ 54.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/trade-revenue-up-over-16-in-jan-may/

‘เวียดนาม’ เผยเงินเฟ้อ CPI ช่วง 5 เดือนแรกปี 67 เพิ่มขึ้น 1.24%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค.67 ปรับตัวขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.66 และเพิ่มขึ้น 4.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) โดยเป็นผลมาจากการขาดแคลนเนื้อหมูที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้น 2.78% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656490/cpi-rises-by-1-24-in-the-first-five-months.html

‘เวียดนาม’ มุ่งส่งเสริมการส่งออกข้าว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าความมั่งคงทางอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกข้าว ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตข้าวยั่งยืนและการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงดำเนินการส่งเสริมตราสินค้าเวียดนามให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวเวียดนาม ในขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ขอความร่วมมือกับสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) และผู้ส่งออกข้าวให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการส่งออก ติดตามข้อมูลตลาดข้าวและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เผชิญกับปัญหาต่างๆ

นอกจากนี้ นาย เล แทงห์ ฮวา (Le Thanh Hoa) รองผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ การแปรรูปและการพัฒนาตลาด กล่าวว่าจากปรากฏการณ์เอลนีโญและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวทั่วโลกในปี 2566-2567 ลดลงเหลือ 518 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการในการบริโภคอยู่ที่ 525 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนธัญพืชประมาณ 7 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกข้าวเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656338/fdi-reaches-us-11-07-billion-in-first-five-months-of-2024.html

‘เวียดนาม’ ส่งออก พ.ค.67 โต 15.8% ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 8.9%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือน พ.ค.67 มีมูลค่าอยู่ที่ 32.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยได้รับอนิสงค์มาจากการส่งออกโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่าอยู่ที่ 33.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้าราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อีกทั้ง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.67 เพิ่มขึ้น 8.9% ต่อปี รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้น 4.44% และเพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.marketscreener.com/news/latest/Vietnam-May-exports-up-15-8-y-y-industrial-production-up-8-9-46846255/