นายกฯ มาเลเซียเยือน สปป.ลาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

การมาเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar Ibrahim นายกฯ มาเลเซีย ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันหลัง สปป.ลาว จะต้องเป็นประธานในการจัดการประชุมอาเซียนในปีหน้าที่จะต้องรับตำแหน่งต่อจากอินโดนีเซีย โดยผู้นำทั้งสองพร้อมที่จะเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoC) ระหว่าง Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) และรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติ สปป.ลาว (LNRSE) รวมถึง Mutiara Perlis Sdn Bhd (MPSB) ขณะที่ท่าเรือบกท่านาแล้ง (TDP) กล่าวว่า การค้าทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 425 จากมูลค่าการค้ารวม 48.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เป็น 255.6 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมาเลเซียยังคงเป็นกลุ่มประเทศผู้เข้ามาลงทุนโดยตรงมายัง สปป.ลาว (FDI) รายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ รองจากจีน ไทย และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโครงการลงทุนภาคพลังงาน เขตการค้าเสรี ยานยนต์ และการธนาคาร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten122_PM_Anwar_y23.php

ธนินท์ ชวนนักธุรกิจชาวจีน ขยายการลงทุน ชูไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติหอการค้าไทย-จีน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ภายใต้ธีม “ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีความไม่แน่นอน นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจะต้องเป็นผู้ที่มองเห็นโอกาสจากวิกฤต เพราะในวิกฤตจะมีโอกาส ต้องวิเคราะห์โอกาส จะคว้าโอกาสนั้นได้อย่างไร ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นการลงทุนและการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก จึงหวังว่านักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC หรือเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/403619/

UN จัดอันดับความยั่งยืนไทย อันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันปีที่ 5

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ Sustainable Development Report 2023 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และมีความยินดีที่การพัฒนาของประเทศไทยดีขึ้น โดย SDG Index ของไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลคะแนน SDG Index ที่ 74.7 คะแนน ในปี 2566 ทำให้ไทยมีคะแนนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำผลสัมฤทธิ์ที่รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับที่ 12 และ ฉบับที่ 13

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/312516

“เมย์แบงก์” คาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน

คุณ Datuk Khairussaleh Ramli ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของเมย์แบงก์ กรุ๊ป (Maybank Group) เปิดเผยว่าในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว กลุ่มประเทศในอาเซียนกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งและมีทิศทางที่สดใส ท่ามกลางกระแสลมจากสถานการณ์ทั่วโลกที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดมากกว่า 660 ล้านคน และ GDP รวมกันทั้งสิ้นราว 3.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 อีกทั้ง กลุ่มประเทศอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม คาดว่าจะเติบโตที่ 4.2% ในปีนี้ และเกินกว่า GDP โลกที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.0%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/maybank-vietnam-among-fastest-growing-countries-in-asean-2156785.html

‘ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง’ ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง ดันไทยส่งออกอันดับ 1 อาเซียน ที่ 4 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีผลตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโตต่อเนื่อง เป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ตลาดการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังครองใจผู้บริโภคในตลาดโลก โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.– เม.ย. 66) ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดโลก 750 ล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้า ปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2566 ไทยส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดคู่ค้า FTA มูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 58% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ซึ่งตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา และเปรู ปี 65 ส่งออกโต 15% ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินนโยบายเจรจากับประเทศคู่ค้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มตลาดส่งออกอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/news/business/1124725/

สตาร์ทอัพไทยผงาดเวทีโลกขึ้นอันดับ4อาเซียนและอันดับที่ 52 ของโลก

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย จนเห็นผลจากการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก (Global Startup Ecosystem Index 2023) ประจำปี 2566 ไทยที่ 4 อาเซียน และขยับสูงขึ้นกว่าปีก่อนเป็นอันดับที่ 52 ของโลก โดยได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลก ได้จัดอันดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมือง ที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2560 ทั้งนี้ StartupBlink ระบุว่า ประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้นตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา ผ่านการปฏิรูป รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยไทยไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad เข้ามาด้วย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาครัฐให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพมากขึ้น ในฐานะหัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงมีนโยบายดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในไทย ผ่านโครงการ Elite Visa Smart Visa และ Long-Term Residents Visa รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สามารถดึงดูดและช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อการลงทุนจากต่างชาติได้

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/456242

“ไทย” เดินหน้าเป็นเจ้าภาพอาเซียน จัดโต๊ะคุยรัฐบาลเมียนมา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ส่งคำเชิญไปยังนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา เพื่อเป็นหัวหอกในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ในวันที่ 18-19 มิ.ย. ทั้งนี้ จากการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ระบุว่ากระบวนการการเจรจาจะเป็นไปตามข้อเสนอแนะจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว และได้เน้นย้ำถึงบทบาทของฉันทามติ 5 ข้อ”ของอาเซียนที่ต้องปฏิบัติตามและมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน คือ ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยต้องเจรจาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/national-politics/thailand-host-asean-delegates-myanmar-discussion

เงินเฟ้อ พ.ค. อ่อนแรงรอบ 21 เดือน ขึ้นแค่ 0.53% พณ.กางปัจจัยกดเงินเฟ้อต่ำต่อ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 สูงขึ้น 0.53% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลดลง 0.71% จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และดัชนีต่ำสุดรอบ 21 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2564 นายวิชานัน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาสินค้าหมวดอาหารสดชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปีนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก และหากเทียบอัตราเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ อิงตัวเลขเดือนเมษายน 2566 พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ และเทียบทั่วโลก 136 ประเทศ ไทยต่ำในอันดับ 14 นายวิชานันกล่าวต่อว่า สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 1.55% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลบ 0.06% จากเดือนเมษายนปีนี้ที่สูงขึ้น 1.66% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก 2566 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูง 2.96% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานสูง 1.98%

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4015097

ถนนเส้นประวัติศาสตร์!‘ทางหลวงหมายเลข 12’เชื่อม 4 ชาติอาเซียน หนุนค้าชายแดน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเชื่อมโยง โดยทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่นี้ยังเชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านไปยังจังหวัดมุกดาหารเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในขณะที่อีกฝั่งสามารถวิ่งไปยังเมียนมาได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันอีกด้วย ถือเป็นทางเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งยังเป็นทางลัดเชื่อมจังหวัดกาฬสินธุ์-มุกดาหาร ให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก และลดระยะการในการเดินทาง ตลอดจนยังช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีการดำเนินการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 392 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯจาก BOI 5 โครงการ วงเงิน 2,102 ล้านบาท และมีธุรกิจตั้งใหม่ 868 ราย วงเงิน 1,655 ล้านบาท

ที่มา : https://www.naewna.com/business/735278

“Deutsche Bank” เพิ่มการจัดสรรเงินทุนในเวียดนามเกือบ 2 เท่า กว่า 200 ล้านดอลล์

สำนักข่าว The Business Times รายงานว่า Deutsche Bank เพิ่มการจัดสรรเงินทุนในเวียดนามเกือบ 2 เท่า ทำให้เงินอัดฉีดรวมเป็นกว่า 200 ล้านดอลลาร์ Deutsche Bank กล่าวเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.) ว่าการเพิ่มทุนจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธนาคารในเวียดนาม และช่วยให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้นสำหรับลูกค้า โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากรายได้ของสาขาเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเวียดนามเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ Alexander von zur Muehlen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Deutsche Bank กล่าวว่าการลงทุนในเวียดนามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของเราต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของตลาดนี้และเส้นทางการเติบโตในระยะยาว เวียดนามเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้าของเรา การเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถรองรับแผนการขยายธุรกิจของลูกค้าในประเทศได้ดีขึ้น และเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจเวียดนามในวงกว้าง

อีกทั้งการพัฒนาของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึง Adani Group ซึ่งมีรายงานว่ากำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการท่าเรือและพลังงานหมุนเวียนในประเทศ

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/41265/