‘อาเซียน’ ส่งสิ่งของช่วยเหลือเมียนมา บรรเทาทุกข์เหยื่อจากพายุไซโคลนโมคา

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นำส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน (DELSA) ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือแก่เมียนมา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน ‘โมคา’ ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของสาธารณะ รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 145 คน บาดเจ็บไปกว่า 131 คน และผู้คน 912,000 คน ต้องอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ทั้งนี้ นายเกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน แสดงความเสียใจต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297944/asean-delivers-relief-supplies-to-myanmar-to-help-victims-of-cyclone-mocha/

‘อาเซียน’ จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับเมียนมา

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม การประชุมผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับวิกฤตเมียนมาร์ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด เห็นได้ชัดว่ารู้สึกผิดหวังที่ความพยายามของผู้นำอาเซียนไม่ได้มีผลตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดี นางเริตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย มองไปในทิศทางที่ดีมากกว่าถึงความคืบหน้าในการเข้าช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและอยู่ในช่วงเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่บทเรียนสำคัญของประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ การจัดการกับความขัดแย้งในเมียนมา ทั้งการใช้กำลัง ความกล้าหาญ สติปัญญาและวิสัยทัศน์ของกลุ่มไปพร้อมๆ กัน ซึ่งช่วยให้สามารถเล่นบทเบาหรือหนักได้ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เมียนมาล้มเหลวในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการ (5PC) ดังนั้น กลุ่มอาเซียนจึงยืนหยัดที่จะป้องกันไม่ให้ผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุมทางการเมือง ตลอดจนอาเซียนเรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรงทุกรูปแบบ

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2576274/asean-must-reengage-with-myanmar

“เวียดนาม-แคนาดา” ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามและแคนาดาได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างการประชุมของนาย ฝ่าม มีง จีง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจากการประชุมสุดยอด G7 ที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ นาย จัสติน ทรูโด กล่าวว่าแคนาดาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกับบทบาทและตำแหน่งของเวียดนามในเวทีโลก แสดงให้เห็นมาจากเวียดนามเป็นหนึ่งในสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุม G7 นอกจากนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้าทางการค้าชั้นนำของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่แคนาดาเป็นหนึ่งในคู่ค้านำเข้า 10 อันดับแรกของเวียดนาม

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-canada-to-increase-bilateral-trade-turnover-to-10b-4607655.html

Q1 กัมพูชา ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม RCEP ขยายตัวร้อยละ 16

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.89 พันล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ขยายตัวร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งประเทศส่งออกสามอันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่ม RCEP ได้แก่ เวียดนาม ที่มูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์, ไทย มูลค่า 958 ล้านดอลลาร์ และจีน มูลค่า 328 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชาส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนที่มูลค่ารวม 2.53 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงไทยที่มูลค่า 957 ล้านดอลลาร์ และ เวียดนามที่มูลค่า 440 ล้านดอลลาร์ โดยข้อตกลง RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ร่วมกับ 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)  ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่าสูงถึง 6.34 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501290262/cambodia-q1-exports-to-rcep-countries-up-16/

World Bank จัดไทยอันดับ 34 ความสามารถโลจิสติกส์โลก พบอันดับต่ำสุดด้านตรงต่อเวลา

สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดอันดับในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่าธนาคารโลกหรือว่า World Bank ได้มีการจัดอันทำดัชนีขีดความสามารถในด้านโลจิสติกส์ใน 139 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2566 พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 34 โดยมีคะแนนทั้งสิ้น 3.5 คะแนน

โดยในส่วนของรายละเอียดคะแนนนั้น พบว่าไทยได้อันดับในส่วนของศุลกากรอยู่ที่อันดับ 31 อันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 25 อันดับด้านการขนส่งไปยังต่างประเทศอยู่ที่ 22 อันดับด้านการแข่งขันโลจิสติกส์อยู่ที่ 38 อันดับเกี่ยวกับการติดตามสินค้าอยู่ที่ 34 และอันดับด้านความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 46

ทั้งนี้มีประเทศอื่นๆที่มีอันดับ 34 เทียบเท่าประเทศไทยได้แก่ประเทศบาห์เรน ประเทศลัตเวีย และประเทศการ์ตา

ส่วนอันดับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้น พบว่ามีสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่งของโลกได้ 4.3 คะแนน ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียได้อันดับที่ 26 ได้ 3.6 คะแนน ประเทศเวียดนามกับประเทศฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 43 ได้ 3.3 คะแนน ประเทศอินโดนีเซียได้อันดับที่ 61 ได้  3 คะแนน ประเทศลาวและกัมพูชาได้อันดับที่ 115 ได้ 2.4 คะแนน

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-news/118222-isranews-logisticcccc.html

‘อาเซียน – แคนาดา’ ถกเข้ม เจรจา FTA รอบ 3 เร่งปิดดีล ปี 67

‘อาเซียน-แคนาดา’ ประชุมเจรจาจัดทำ FTA รอบ 3 ผ่านระบบประชุมทางไกล คืบหน้าด้วยดี ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) และการประชุมกลุ่มย่อย 17 คณะ เริ่มหารือยกร่างข้อบทความตกลงส่วนใหญ่แล้ว พร้อมหารือประเด็นใหม่ๆ อาทิ แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการค้าที่ให้ความสำคัญทุกภาคส่วน ปีนี้เตรียมจัดประชุมอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจา ปี 67

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256676811

สายการบิน Lao Airlines กลับมาให้บริการเส้นทางสู่เมืองฉางชาประเทศจีน

เที่ยวบินแรกของสายการบิน Lao Airlines จากเมืองเวียงจันทน์สู่ฉางชาเมืองหลวงของมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งเป็นการกลับมาให้บริการหลังจากจีนเริ่มเปิดพรมแดนอีกครั้ง โดยกำหนดเที่ยวบินไว้ที่สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจในภูมิภาคที่เพิ่มจำนวนขึ้นในระยะที่ผ่านมา รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาว และจีน โดยเที่ยวบินระหว่างเวียงจันทน์-ฉางชา มีจุดประสงค์ไม่เพียงแต่เพื่อจะฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความเชื่อมโยงของ สปป.ลาว กับภูมิภาคต่างๆ เพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคต่อไป ปัจจุบันสายการบิน Lao Airlines ได้ให้บริการเที่ยวบินตรง 12 เส้นทางไปยังเมืองต่างๆ ทั้งในประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten82_Lao_y23.php

‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง

ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่  เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519

ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์

แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1064510

ศูนย์อาเซียน-จีน เตรียมจัดนิทรรศการใหญ่ กัมพูชาหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ศูนย์อาเซียน-จีน (ACC) เตรียมการร่วมมือกับกัมพูชา ในการจัดนิทรรศการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ทั้งในกัมพูชาและจีน กล่าวโดย Shi Zhongjun เลขาธิการ ACC ซึ่งคาดว่างานดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาค รวมถึงกัมพูชาที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงบวก โดยกัมพูชาตกลงร่วมมือกับ ACC เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และการเปิดพรมแดนของจีน ขณะเดียวกันทางการกัมพูชาวิงวอนให้ทางการจีนผลักดันให้มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางมาเยือนกัมพูชามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาคาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 4 ล้านคน คิดเป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 1 ล้านคนในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501278044/asean-china-center-plans-cambodia-exhibitions-to-attract-tourists/

“ศก.เวียดนาม” คาดเติบโตอันดับ 2 ในอาเซียน

ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์ทวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 2 ร่วมกับกัมพูชาในภูมิภาคอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวสูงขึ้นแตะ 6.9% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สาธารณะเวียดนามที่คาดว่าจะอยู่ระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 8 ประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลถึงการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่าเป็นการสร้างความยืดหยุ่นและจังหวะเวลา รวมถึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 7% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-forecast-to-rank-second-in-asean/251654.vnp