‘เวิลด์แบงก์’ ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปี 65 เหลือ 5.3%

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดตัวรายงานอัพเดทด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้อยู่ที่ 5.3% จากที่ประมาณการณ์ครั้งก่อนไว้ที่ 5.5% ในเดือนมกราคม เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 และเร่งการฉีดวัคซีน ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจกลับมาดีขึ้น ในส่วนของภาคบริการคาดว่าจะฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว และการท่องเที่ยวต่างประเทศจะทยอยกลับมาฟื้นตัวในช่วงกลางปี นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดส่งออกสำคัญที่มีแนวโน้มชะลอตัว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-lowers-vietnam-s-2022-economic-growth-to-5-3-2005916.html

การลงทุน การส่งออกสินค้าเกษตรที่แข็งแกร่งจะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์เศรษฐกิจสปป.ลาวจะเติบโตร้ยละ 3.4 ในปีนี้และร้อยละ 3.7 ในปี 2566 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวในตลาดภายในประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยว ในเดือนมกราคมรัฐบาล ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและเร่งการฉีดวัคซีน โดยเป้าหมายเพื่อให้ประชากรร้อยละ 80 ได้รับวัคซีนครบสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2565 ด้านการส่งออกภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรมีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีที่แล้ว จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเพิ่มการผลิตพลังงานเพื่อการส่งออก การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการจากประเทศจีน ทั้งนี้การเติบโตของการส่งออกมีแนวโน้มดำเนินต่อไปในปีนี้และปีหน้าจากการลงทุนที่คาดการณ์ไว้เพื่อรองรับการพัฒนาพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าคาร์บอนต่ำอื่นๆ ในปี 2564 เศรษฐกิจของสปป.ลาวจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากผลประกอบการที่แย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้โมเมนตัมของเศรษฐกิจในระเทศแย่ลง รัฐบาลจะต้องระมัดระวังตัวโดยให้วัคซีนแก่คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และส่งเสริมความโปร่งใสในการจัดการการเงินสาธารณะ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดและดึงดูดการลงทุนที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Investment68.php

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.5% ในปี 2022

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตร้อยละ 4.5 ในปี 2022 ผ่านรายงาน Macro Poverty Outlook (MPO) ในขณะที่ธนาคารโลกได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากการฟื้นตัวภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ไปจนถึงกฎหมายว่าด้วยการลงทุนฉบับใหม่ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน และกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการค้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่จะต้องคอยระวังแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น นำโดยราคาอาหารและน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเกิดจากสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501053437/cambodia-growth-projection-at-4-5-in-2022-world-bank/

‘เอดีบี’ หั่นจีดีพีไทยปี 65 เหลือ 3% โอมิครอน-สงครามทุบ ศก.ไม่พัก

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 4% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 4.5% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ตั้งแต่ช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของปี 2564 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงขาลง ทั้งจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายพันธุ์ใหม่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในประเทศไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% ก่อนจะลดลงในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.2% หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/119331/

‘GDP’ เวียดนามโต 5.03% ไตรมาส 1/65

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอลงจากการขยายตัว 5.22% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา GDP เวียดนามในไตรมาสที่สามของปี 2564 หดตัว 6.02% นับว่าเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจหดตัวตั้งแต่ปี 2543 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ (1) ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุจากการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน

อีกทั้ง ราคาวัสดุก่อสร้างในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามและอาจกลายเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และ (2) ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปั้มน้ำมันบางแห่งขาดแคลนเชื้อเพลิง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจ

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/Vietnam-GDP-grows-5.03-in-first-three-months-of-2022

‘บลจ. VinaCapital’ ปรับลดประมาณการ GDP เวียดนาม โต 6.5% ในปีนี้

VinaCapital หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในเวียดนาม ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวที่ 6.5% หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1%

คุณ Michael Kokalan หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบลจ. VinaCapital กล่าวว่าความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้สร้างผลกระทบต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศและกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรดีความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเวียดนามเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ คือราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อของเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1-2%

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างกระทันหัน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเวียดนาม (VND) อ่อนค่าลง 1-2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/vinacapital-lowers-vietnam-s-estimated-gdp-rate-to-6-5-this-year-822837.html

EIC CLMV Outlook Q1/2022

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเทียบกับปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 การทยอยเปิดพรมแดนตามอัตราการฉีดวัคซีนในภูมิภาคที่สูงขึ้น และภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 4.8%, สปป.ลาว 4.0%, เมียนมา 0.5% และเวียดนาม 6.5% ในปีนี้

 

ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ CLMV ได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง (สู่หลักร้อยต่อวันในทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการฉัดวัคซีนที่สูงขึ้น (กัมพูชาฉีดครบโดสแล้ว 81.8% ของประชากร, สปป.ลาว 58.7%, เมียนมา 38.4% และเวียดนาม 78.5% ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565) และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตามการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19 อย่างปลอดภัย ขณะที่ภาคการส่งออกก็กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ได้เริ่มมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว หรือลดเวลาการกักตัวลง หากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว EIC มองว่ามาตรการควบคุม COVID-19 ในเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 จะผ่อนคลายกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์จากนอกประเทศจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

อุปสงค์ภายในประเทศของเศรษฐกิจ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่จะยังเผชิญปัจจัยกดดันจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงรายประเทศ ข้อมูลจาก Google Mobility ซึ่งแสดงถึงภาวะกิจกรรมของประชากรไปร้านค้าปลีกและสถานที่นันทนาการ (Retail and Recreation) ฟื้นตัวในเกือบทุกประเทศยกเว้นเมียนมา สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การจ้างงานในกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการบริการ โดยล่าสุดอัตราการว่างงานในประเทศเวียดนามลดลงสู่ระดับ 3.6% ในไตรมาส 4 ปี 2564 จาก 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ไทยก็มีแนวโน้มเปิดรับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งเงินกลับ (Remittances) กลุ่มประเทศ CLMV สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ความเร็วในการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานะทางการคลังและสถานการณ์ภายในประเทศ โดย EIC คาดว่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีสถานะทางการคลังแข็งแรงเพียงพอ จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม ล่าสุดกัมพูชาได้ขยายเวลามาตรการสนับสนุนเงินเยียวยาครัวเรือนไปถึงเดือนกันยายน 2565 ขณะที่เวียดนามได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4% ของ GDP ซึ่งจะเบิกจ่ายในระหว่างปี 2565-2566 ขณะที่สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเผชิญข้อจำกัดทางการคลังจะไม่สามารถออกมาตรการที่เพียงพอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมียนมาซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้าที่สุดเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศและมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) จากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงมีอยู่จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 เช่น อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด COVID-19 ที่อาจปรับลดลงอย่างช้า ๆ เนื่องจากแรงงานบางกลุ่มได้ย้ายงานไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นในช่วงการระบาด และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

 

ด้านภาคต่างประเทศ EIC คาดว่าการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ ขณะที่การค้าชายแดนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดพรมแดน ภาคการส่งออกคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคลี่คลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ขณะที่อุปสงค์ต่อสินค้า CLMV ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ต่อสินค้ากลุ่ม New Normal เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูง เวียดนามคาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากปัจจัยนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเกื้อหนุนให้การส่งออกเวียดนามขยายตัวถึง 19.0%YOY ในไตรมาส 4 ปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนใหม่จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกโดยรวมคาดว่าจะชะลอลงจากปีที่แล้วตามฐานที่สูงขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจนำไปสู่การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอีกรอบได้ ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามประเทศเศรษฐกิจหลักในภูมิภาคที่ฟื้นตัวและการเปิดประเทศต้อนรับผู้เดินทางโดยไม่ต้องกักตัว RCEP จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในธุรกิจที่จะได้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากจีนภายใต้ Belt and Road Initiative ในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟสปป.ลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) ที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่เวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องจากที่ตั้งที่ติดจีน กำลังแรงงานที่มีจำนวนมากและยังอายุน้อย และสนธิสัญญาการค้าเสรีกับหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม โดยกัมพูชาได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ในปีที่ผ่านมา เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุน ขณะที่เวียดนามได้ออกสิทธิพิเศษทางภาษีชุดใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาคาดว่าจะเป็นไปได้อย่างจำกัดตามการชะงักงันในหลายภาคเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลงจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติและความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์องค์กร

 

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากลุ่มประเทศ CLMV จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในปีนี้ โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงครึ่งแรกของปี EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงซบเซาเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนและมาตรการกักตัวที่ยังคงมีอยู่ เช่น เวียดนามบังคับกักตัว 3 วัน แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือลาวที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศผ่านการจองกรุ๊ปทัวร์เท่านั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง EIC มองว่ามาตรการเหล่านี้จะผ่อนคลายขึ้นตามอัตราการฉีดวัคซีนที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลเรื่องสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ในบรรดากลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชาเป็นประเทศแรกที่เปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ขณะที่เวียดนามเตรียมจะเปิดประเทศในกลางเดือนมีนาคม โดยมีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวยังต้องกักตัวหนึ่งวันเพื่อรอผลตรวจเชื้อ ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าก่อนการระบาดอยู่มาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับ CLMV เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะยังไม่อนุญาตให้ประชากรของตนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ภายในปีนี้

 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ CLMV ที่ต้องจับตามองในปี 2565 ได้แก่

1) สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

2) อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังค่อนข้างต่ำในสปป. ลาวและเมียนมา

3) เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจ CLMV

4) ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินของเศรษฐกิจ CLMV กำลังอ่อนค่า

5) เสถียรภาพทางการคลังและการเงินในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาว และเมียนมา ที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงเทียบกับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะประเทศก็ยังคงมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมาที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างจำกัด

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่สูงขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกไทยไปยัง CLMV คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงโดยมีปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง ได้แก่ โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้สูง และการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเปิดเพิ่ม 12 ด่านในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงการเลื่อนการเปิดด่านค้าชายแดนออกไปหากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและมาตรการเปิดรับนักเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว โดยเวียดนามคาดว่าจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนจากไทยสูงสุดต่อไป ขณะที่การลงทุนในเมียนมาจะซบเซาอย่างมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเดินทางเข้าไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มคลี่คลาย หากไทยสามารถทำข้อตกลงจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ (Travel Bubbles) กับประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้โดยเฉพาะผู้เดินทางผ่านด่านชายแดน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงในการตรวจเชื้อ COVID-19 และการทำประกันการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวจาก CLMV ในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโอกาสการจ้างงานในไทยที่สูงขึ้น มาตรการกักตัวที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง และนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในไทยซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ประมาณ 2.16 ล้านคน ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวยังยืดเยื้อต่อไป อาจนำไปสู่ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ที่มา :

/1 https://www.scbeic.com/th/detail/product/8153

/2 http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256562334

รัฐบาลตั้งเป้า GDP เติบโตอย่างน้อยร้อยละ 4

รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีอย่างน้อย 4% นับจากนี้จนถึงปี 2025 แม้ว่าจะไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เมื่อใด ภาครัฐตั้งเป้าภาคการเกษตรคาดว่าจะเติบโตที่อัตราเฉลี่ย 2.5 % ต่อปี คิดเป็น 15.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2568 ด้านอุตสาหกรรมคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 4.1 ต่อปี และจะประกอบด้วยร้อยละ 32.3 ของ GDP ภายในปี 2568 ในขณะที่ภาคบริการคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 6 คิดเป็นร้อยละ 40.7 ของ GDP ใน อีก 3-4 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ภาคภาษีและภาษีคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.8 และควรคิดเป็นร้อยละ 11.7 ของ GDP ภายในปี 2568 รัฐบาลเชื่อว่ารายได้ GDP ต่อหัวต่อปีจะสูงถึง 2,880 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 ทั้งนี้สปป.ลาวสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจได้หากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ โครงการเหล่านี้รวมถึงเมืองอัจฉริยะ ทางด่วน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไฟฟ้าพลังน้ำ เหมืองแร่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบอื่นๆ ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govtaims_47_22.php

แนวโน้มเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ ปี 65 พุ่งทะยานเกินกว่าที่คาดการณ์

แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 จะขยายตัวเหนือความคาดหมาย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวและกระแสการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งกองทุนต่างชาติหลายสำนักได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้จะขยายตัว 7.5%

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวในระดับที่สูง สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ การก่อสร้างและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ นาย Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก VinaCapital แสดงความเห็นว่าการบริโภคในครัวเรือนของเวียดนามมีแนวโน้มฟื้นตัวจากลดลง 6% ในปี 64 และเพิ่มขึ้น 5% ในปีนี้ นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสหรัฐฯ รายงานว่าขณะนี้ยังมีประเทศที่ต้องการเดินทางไปเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะช่วยให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ในปีนี้ และในอีกปี 2566 นักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาสู่ตลาดเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-forecast-to-grow-beyond-expectation-in-2022/222789.vnp

จีดีพีปี 64 โตเกินคาด 1.6% สศช.คาดปีนี้พุ่ง 4.5% รับผ่อนคลายคุมโควิด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยเศรษฐกิจไทยปี 64 โต 1.6% ดีกว่าที่คาดไว้ 1.2% อานิสงส์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าไทยโดยไม่กักตัว คาดปี 65 โตได้ 3.5–4.5% ชี้ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐใช้งบประมาณ และเงินกู้ รักษาผู้ป่วยโควิด 460,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าซื้อวัคซีน และค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์อีก 1 แสนล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2321961