กัมพูชาส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 25% สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. 2024

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานการส่งออกข้าวของกัมพูชาในช่วงเดือน ม.ค. 2024 ที่ปริมาณข้าวสารรวม 46,221 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 32.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในแง่ของมูลค่าการส่งออก โดยส่งออกไปยัง 42 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในช่วงเดือน ม.ค. ด้วยปริมาณ 25,005 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด ตามมาด้วยประเทศในกลุ่มอาเซียนปริมาณรวม 11,999 ตัน ขณะที่การนำเข้าของจีนรวมอยู่ที่ 5,171 ตัน โดยข้าวที่ได้รับความนิยมในตลาดสากลของกัมพูชา ได้แก่ ข้าวหอม ข้าวอินทรีย์ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวจาโปนิกา ด้านนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ได้เสนอกลยุทธ์ในการผลักดันอุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยการปรับปรุงตลาด การขยายตลาดใหม่ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคอยติดตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำและระบบชลประทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรจะทำเกษตรกรรมได้ต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501438196/rice-exports-up-25-percent-in-january/

2023 มูลค่าการค้ารวมระหว่าง กัมพูชา-RCEP เกือบแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์

การค้าระหว่างกัมพูชาและอีก 14 ประเทศ ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวที่มูลค่ารวม 8.172 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 28  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.129 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของประเทศ โดยหลังจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มสมาชิค RCEP เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น อินโดนีเซียจากการเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 12 ของกัมพูชาในช่วงก่อนหน้านี้ ปรับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 6 ของปีที่แล้ว โดยมีปริมาณการค้าทวิภาคีเกือบ 1.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปีก่อนเกือบร้อยละ 15 คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 92.74 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437300/cambodia-rcep-members-trade-hits-nearly-30-bn-in-2023/

โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลส่งเสริมการใช้สิทธิภายใต้ FTA ส่งออก มกราคม-พฤศจิกายน 2566 รวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าส่งออกสินค้ารวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 82.66 ของการส่งออกสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 27,584.19 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำตาลจากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล และเครื่องจักรอัตโนมัติ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย มากเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ คิดเป็นมูลค่า 22,059.90 ล้านดอลลาร์ โดยเน้นเป็นสินค้าจำพวกทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน นอกจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ข้างต้น ยังมีการใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงฉบับอื่น ๆ เช่น การใช้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คิดเป็นมูลค่า 6,344.09 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็นมูลค่า 5,802.56 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,987.16 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78761

2023 มูลค่าการส่งออก-นำเข้า ผ่าน SSEZ กัมพูชา แตะ 3.36 พันล้านดอลลาร์

ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมูลค่าการค้าผ่าน SSEZ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 7.18 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ถือเป็นโครงการเรือธงภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งร่วมลงทุนโดยนักลงทุนจีนและกัมพูชา ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพระสีหนุ โดยเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของขนาดและจำนวนผู้ประกอบการในเขต ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทเอกชนรวมกว่า 180 แห่ง จากทั้งทางฝั่งจีน ยุโรป สหรัฐฯ และจากภูมิภาคอื่นๆ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435871/ssezs-export-import-valued-at-3-36-billion-in-2023/

สปป.ลาว มีรายได้ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2566

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ สปป.ลาว เผย ลาวมีรายได้มากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรในปีที่แล้ว ซึ่งเกินเป้าหมายปี 2566 20.18% โดยมูลค่าการผลิตในภาคเกษตรและป่าไม้ของประเทศลาว ขยายตัว 3.4% ในปี 2566 คิดเป็น 21.4% ของจีดีพี โดยมีการเก็บเกี่ยวพืชผลประมาณ 9.74 ล้านตัน ซึ่งเกินเป้าหมาย 3.7% โดยผลผลิตมันฝรั่งเพิ่มขึ้น 28.62% กาแฟ 7.5% กล้วย 16.7% และอ้อย 10.1% ปัจจุบันมีฟาร์มปศุสัตว์ 2,261 แห่ง ซึ่งมีสัตว์มากกว่า 6.5 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 123 แห่ง เมื่อเทียบกับปี  2565 จำนวนดังกล่าวประกอบด้วยฟาร์มปศุสัตว์ 55 แห่ง ฟาร์มหมู 34 แห่ง และฟาร์มสัตว์ปีก 18 แห่ง ซึ่งผลิตเนื้อสัตว์คิดเป็น 41% ของทั้งประเทศ รัฐบาลยังคงเจรจาเพื่อการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถส่งออกสินค้าได้ 64 ชนิด มากกว่าปี 2565 16 ชนิด ในจำนวนนี้ มีการส่งออกไปยังจีน 33 ชนิด ส่งออกไปยังเวียดนาม 16 ชนิด และส่งออกให้ไทย 15 ชนิด

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_24_Laowearns_y24.php

การส่งออกของกัมพูชาผ่าน RGPPSEZ ขยายตัวต่อเนื่องแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023

มูลค่าการส่งออกของ Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (RGPPSEZ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2016 ที่มีการส่งออกที่มูลค่า 316 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่มูลค่า 683 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นสองเท่าอีกครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปีคิดเป็น 1.346 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยในปี 2023 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ที่มูลค่า 1,621 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตกว่า 86 แห่ง จาก 14 ประเทศทั่วโลกตั้งโรงงานผลิตในโซนดังกล่าว สร้างการจ้างงานกว่า 43,800 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429922/royal-group-phnom-penh-sezs-exports-crosses-1-6-billion-in-2023/

มะม่วงจากกัมพูชากำลังได้รับความนิยมในตลาดรัสเซีย

มะม่วงของกัมพูชากำลังได้รับความนิยมในตลาดรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดระดับไฮเอนด์ ซึ่งช่วยส่งเสริมภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา รายงานโดยตัวแทนของบริษัทผู้ส่งออกมะม่วงในกัมพูชาไปยังรัสเซียและเอเชียกลาง ในบรรดามะม่วงของกัมพูชาหลายชนิด Keov Romeat ถือเป็นมะม่วงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรัสเซีย โดยผิวของ Keov Romeat มีสีเหลืองทอง มีรสหวาน มีกลิ่นหอมแรง และมีเนื้อที่ล้เอียด สำหรับการส่งออกมะม่วงสดและแห้งของกัมพูชในช่วงปี 2022 ที่ปริมาณรวม 169,658 ตัน ตามการระบุของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ามะม่วงรายสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนาม ไทย จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และออสเตรีย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501427846/cambodian-mangoes-now-gaining-popularity-across-russian-markets/

กัมพูชาผงาดขึ้นอันดับ 8 ของโลก สำหรับประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป

กัมพูชาได้รับการจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอันดับที่ 8 ของโลก ตามข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) โดยขยับจากอันดับที่ 11 ที่ได้จัดอันดับไว้ในปี 2021 สำหรับผู้ส่งออก 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป บังคลาเทศ เวียดนาม ตุรกี อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และปากีสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการกัมพูชาได้รายงานมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) โดยมีการขยายตัวถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2022 ถือเป็นหนึ่งในหมวดสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 56.2 ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2022 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้กลับมาให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้อีกครั้ง ด้วยยุทธศาสตร์แผนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (T&A ITM) กรอบปี 2023-2027 ด้วยกลยุทธ์นี้ รัฐบาลหวังที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานและบรรยากาศการลงทุนสำหรับภาคส่วนดังกล่าวให้เอื้อต่อการเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501427844/cambodia-jumps-to-8th-spot-globally-as-garment-export-hub/

หอการค้าไทย-จีนหนุนผู้ประกอบการรุก “CIIE 2024” เพิ่มโอกาสส่งออกตลาดจีน

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน ครั้งที่ 7 (China International Import Expo-CIIE 2024) หรือ CIIE จะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน ขณะที่นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกัฐมนตรี กล่าวว่า งาน CIIE 2024 เป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยได้รับฟังศักยภาพของงาน CIIE รวมถึงแนวคิดการจัดงาน CIIE ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าตามนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นเวทีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับนานาประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยสู่ตลาดจีน รวมถึงเป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐผ่านการเยือนของผู้บริหารระดับสูงของไทย และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางผลักดันการค้า การลงทุนระหว่างผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนไทย-จีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/586466

2023 กัมพูชาส่งออกยางไปยังตลาดต่างประเทศมูลค่า 490.6 ล้านดอลลาร์

General Directorate of Rubber (GDR) รายงานการส่งออกยางแห้งของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศปริมาณกว่า 368,048 ตัน ในปี 2023 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.3 จากปริมาณ 372,903 ตันในปีก่อนหน้า โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชาที่มูลค่า 490.6 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 7 จากมูลค่า 527.6 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน ซึ่งส่งออกไปยังยังมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน เป็นหลัก ขณะที่การเพาะปลูกต้นยางพาราในกัมพูชามีพื้นที่ทั้งหมด 407,172 เฮกตาร์ และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว 320,184 เฮกตาร์ โดยรายงานระบุเสริมว่าการส่งออกยางที่ลดลงเป็นผลเนื่องมาจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการมีอยู่ของโรงงานผลิตยางรถยนต์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501425159/cambodia-exports-rubber-worth-490-6-million-in-2023/