GDP เวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY คาดครึ่งหลังของปีจะโตชะลอจากผลภาษี reciprocal 20%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

​เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

  • การส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 18.0%YoY โดยหลัก ๆ คือ การเร่งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนสิ้นสุดช่วงระงับภาษี 90 วัน และก่อนทราบผลว่าเวียดนามได้ดีลจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี reciprocal 20% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 46% (รูปที่ 3)
  • การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 20.1%YoY จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติ Long Thanh และทางหลวงเชื่อมเวียดนามเหนือ-ใต้ (North-South Expressway)
  • ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 10.3%YoY สะท้อนการเร่งการผลิตเพื่อตอบโจทย์การส่งออกและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการผลิตที่เร่งตัวขึ้นอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์.

ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจเวียดนามคาดเติบโตที่ 6.7% โดยจะโตชะลอลงในครึ่งหลังของปีจากครึ่งแรกที่เติบโต 7.52%YoY ซึ่งมีปัจจัยฉุดดังนี้

  • การส่งออกชะลอตัวจากการที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ภาษี reciprocal 20% โดยมองว่าการส่งออกเวียดนามจะชะลอตัวลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คาดหดตัวลง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้สต๊อกสินค้าเอาไว้แล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ ยังประเด็นเกี่ยวกับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม (transshipped goods) ที่จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 40% ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึง 29% ของการส่งออกรวม
  • การเกินดุลการค้าลดลงจากการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ รวมทั้งการเซ็น MOU ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 2-3 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลการค้าของเวียดนามในภาพรวม

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่

  • ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศบรรลุความตกลงกับเวียดนาม ค่าเงินดองก็อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์มาที่ระดับ 26,195 ดองต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เป็นเพราะดีลนี้ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากการเกินดุลการค้าที่ลดลง นอกจากนี้ เวียดนามยังเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • ปัญหาเสียในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยสัดส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 78% ณ เดือน มี.ค. 2567 และยังไม่มีการประกาศข้อมูลสัดส่วน NPL ในปีนี้ ทั้งนี้ หนี้เสียในระบบธนาคารเวียดนามมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2565

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Reciprocal-EBR4170-FB-07-07-2025.aspx

‘เวียดนาม’ เปิดงบรายรับจากการนำเข้า-ส่งออก ช่วงครึ่งปีแรก โต 10%

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่างบประมาณรายรับจากการนำเข้าและส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 222.75 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 54.2% ของงบประมาณเป้าหมายประจำปี และขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ทั้งนี้ จากตัวเลขการค้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ประเมินมูลค่าไว้ที่ 431.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16% โดยคาดการณ์ว่าการส่งออก อยู่ที่ 219.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.2% ในขณะที่การนำเข้า ประมาณการณ์ไว้ที่ 212.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.9% ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 7.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ กรมศุลกากร รายงานว่าการลักลอบขนของ การฉ้อโกงการค้า การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมาย การปลอมแปลง และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงมีความรุนแรง โดยส่วนใหญ่พบตามเส้นทางชายแดน และบริเวณชายฝั่ง ซึ่งสินค้าที่มีการละเมิดและเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ได้แก่ ปิโตรเลียม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์นม ยา เครื่องสำอาง ยาสูบ ยาเสพติด ทองคำ และสินค้าที่ติดฉลากเท็จว่ามีต้นทางมาจากเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/state-budget-revenue-from-import-export-rises-over-10-in-h1-post322156.vnp

‘เวียดนาม’ เผย GDP ไตรมาส 2 โตแรง รับอานิสงค์ส่งออกพุ่ง ปิดดีลเจรจาสหรัฐฯ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2568 ขยายตัว 7.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขยายตัวดีขึ้นจาก 6.93% ในไตรมาสแรก ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ทั้งปีที่ 8% โดยจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีทิศทางในเชิงบวกและอยู่ในระดับใกล้เคียงที่ตั้งเป้าไว้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการขยายตัว 18% มูลค่ากว่า 116.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าเวียดนามหลายรายการในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี

ที่มา : https://news.tuoitre.vn/vietnam-q2-gdp-growth-quickens-on-strong-exports-us-trade-deal-brightens-outlook-10325070510514147.htm

กัมพูชาแสวงหาการสนับสนุน MSMEs ในงาน China SME Fair

Nhim Khemara ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MISTI) ของกัมพูชา ได้เรียกร้องให้มีการร่วมมือระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ทั่วเอเชีย โดยเน้นย้ำถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของกัมพูชา และเสนอแนวคิดริเริ่มร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุม 20th China International SME Fair (CISMEF) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้านำเข้าและส่งออกของจีน ที่กว่างโจว ตรงกับวัน MSMEs แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 9 Khemara กล่าวว่า MSMEs มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจ้างงานที่มีคุณค่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จากแถลงการณ์ของ MISTI ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการต่างๆ เช่น Regional MSME Innovation Exchange และ Cambodia-China MSME Value Chain Program เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันเทคโนโลยี การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501710827/kingdom-seeks-support-for-msmes-at-china-sme-fair/

ผู้ค้าผลไม้ไทยเผชิญความยากลำบากจากการที่กัมพูชาประกาศแบน

ผู้ส่งออกผลไม้ของประเทศไทย รวมถึงผู้ค้า และเกษตรกรกำลังเผชิญกับแรงกดดัน หลังจากที่กัมพูชาประกาศห้ามการนำเข้าผลไม้ เนื่องมาจากความตึงเครียดบริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศ การแบนซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ค้าผลไม้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผลไม้ไทยที่ออกผลผลิตสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชี้ว่าตลาดผลไม้ของทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างมากผ่านการค้า การแปรรูป และการผลิตร่วมกัน Sinu Keeler ผู้ส่งออกผลไม้ไทยให้ความเห็นว่า แม้กัมพูชาจะไม่ใช่ผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด แต่เป็นตลาดที่สร้างผลกำไรได้สูงเนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ การแบนครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อผลกำไรอย่างรุนแรง และการเปลี่ยนตลาดส่งออกในทันทีเป็นไปไม่ได้ ทำให้เกษตรกรต้องระบายผลผลิตสู่ตลาดภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาตกต่ำลง Ritu Ahluwalia จาก Flora Capital กล่าวเสริมว่าการปิดด่านส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดภายในประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน ลำไย และเงาะ

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501710825/thai-fruit-traders-face-heat-over-cambodias-ban/

‘ดัชนี PMI’ ภาคการผลิตเวียดนามลดลง หลังคำสั่งซื้อส่งออกหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 2 ปี

ตามรายงานของเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global)  เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลดลงเหลือ 48.9 เดือนมิถุนายน จากระดับ 49.8 เดือนพฤษภาคม นับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของเวียดนาม เผชิญกับภาวะอุปสงค์ที่ลดลง โดยสะท้อนมาจากยอดคำสั่งซื้อส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทาย แต่ภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเล็กน้อย และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าในเดือนมิถุนายน ความต้องการจากต่างประเทศของผู้ผลิตในเวียดนามชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น การส่งออกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อใหม่โดยรวมลดลงตามไปด้วย นำไปสู่การปรับลดการจ้างงานและการจัดซื้อของภาคธุรกิจ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1720691/pmi-declines-amid-sharpest-drop-in-export-orders-in-over-two-years.html

‘ทรัมป์’ บรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามหลายรายการ โดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกา 20% และสินค้าขนส่งจากประเทศที่สามผ่านเวียดนาม จะจัดเก็บภาษีนำเข้า 40% อย่างไรก็ดี เวียดนามประกาศนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราภาษี 0% ทั้งนี้ ทรัมป์ กล่าวในโซเชียลมีเดีย “Truth Social” หลังจากพูดคุยกับนายโต ลัม (To Lam) ผู้นำสูงสุดของเวียดนาม ว่ายังมีการหารือในเรื่องข้อตกลงการขนส่งใหม่ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่สินค้าที่ผลิตจากจีน และสินค้าเหล่านั้นส่วนใหญ่ติดป้าย “ผลิตในเวียดนาม” ในขณะที่ผู้นำสูงสุดของเวียดนาม เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยอมรับเวียดนามว่าเป็นเศรษฐกิจระบบตลาด (Market Economy) พร้อมกับยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังเวียดนาม

ที่มา : https://www.thedailystar.net/business/global-economy/news/trump-announces-us-trade-deal-vietnam-3931391