ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 มีมูลค่ากว่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1 เพิ่ม 8.6% มีสัดส่วน 86.5% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว เติบโตได้ดี ส่วนสินค้ามาแรงนม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม ระบุปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ยกเลิกเก็บภาษีนมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยแล้ว เหลือแค่ 4 ประเทศที่ยังเก็บอยู่

ที่มา : https://www.agrinewsthai.com/domestic-animal/61399

“พาณิชย์” เผยสถิติใช้สิทธิ FTA ส่งออกเดือน ม.ค. อาเซียนแชมป์ RCEP พุ่ง 1,039%

กรมการค้าต่างประเทศเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ เดือน ม.ค. 66 มีมูลค่า 5,399.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.13% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 71.79% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-อินเดีย ส่วน RCEP ใช้สิทธิเพิ่ม 1,039%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000030822

“เวียดนาม” ตั้งเป้าจำนวนธุรกิจ 1.5 ล้านแห่งในปี 2568

รัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาประเทศ โดยตั้งเป้าว่ามีจำนวนธุรกิจ 1.5 ล้านแห่งในปี 2568 และกว่าครึ่งหนึ่งของกิจการในประเทศเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนามได้นำนโยบายในการส่งเสริมการดำเนินกิจการของธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐาน เขตเศรษฐกิจและเขตอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าของภาคเอกชน คาดว่ามีสัดส่วน 55% ของ GDP ในปี 2568 และปรับตัวสูงขึ้น 60-65% ในปี 2573 อย่างไรก็ดี ธุรกิจส่วนใหญ่ 95%  หรือประมาณ 1 ล้านแห่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-plans-to-have-15-million-businesses-in-2025-post1011250.vov

“OECD” คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ขยายตัว 6.6%

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไปยังภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สิ่งทอและรองเท้า รวมถึงได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ ทางองค์การ OECD มองว่าเวียดนามยังคงเป็นประเทศชั้นนำที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดจาก 5 อันดับแรกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ตามรายงาน ระบุว่าหลังสิ้นสุดโครงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เวียดนามที่จะหันไปแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวตามไปด้วย ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ เวียดนามควรติดตามทิศทางและแนวโน้มของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-grow-by-66-this-year-oecd-post1011080.vov

“เมียนมา” เผยสัปดาห์ที่ 2 ของ มี.ค. ส่งออกข้าว 3 หมื่นตัน มูลค่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค. เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหัก (Broken Rice) ไปยังตลาดต่างประเทศ ด้วยปริมาณมากกว่า 33,250 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13.289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งแต่วันที่ 11-17 มี.ค. เมียนมาส่งออกข้าวทางเรือไปยังประเทศในเอเชีย 10,090 ตัน และส่งออกข้าวมากกว่า 9,000 ตันไปยังกลุ่มประเทศยุโรป ตลอดจนส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ จีนและมาเลเซีย ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ เมียนมาส่งออกข้าวหักไปยังช่องทางการค้าชายแดนและทางทะเล มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.673 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-30000-tonnes-of-rice-worth-us13-mln-exported-in-march-2nd-week/

นายกฯ สปป.ลาว เล็งดึงเม็ดเงินลงทุนเพิ่มจากจีน

นายกฯ สปป.ลาว ได้ร้องขอความร่วมมือจากผู้นำมณฑลยูนนาน ในการส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น โดยกล่าวขึ้นในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ซึ่งคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว เนื่องจากมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงโค-กระบือ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีน ซึ่งในปี 2021 มีบริษัทจีนกว่า 300 แห่ง แสดงความสนใจที่จะลงทุนในภาคการเกษตรและป่าไม้ใน สปป.ลาว โดยคาดว่าเงินลงทุนรวมจะสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ จากปัจจัยสนับสนุนในด้านต่างๆ ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศ จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2018-2022 มีมูลค่ารวมถึง 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.63 ต่อปี ในแง่ของการลงทุนระหว่างประเทศจีนก็ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ด้วยมูลค่าการลงทุนของจีนในเขตสัมปทานและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมูลค่าถึง 13.67 พันล้านดอลลาร์ กระจายอยู่ใน 921 โครงการ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten64_PM_y23.php

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชายังคงขยายตัว แม้หลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มหดตัว

ธนาคารโลก (World Bank: WB) ระบุว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษ และมีความผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 ภูมิภาคนี้เริ่มมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงผลิตภาพขยายตัวเพียงเล็กน้อย แม้จะเปิดกว้างสำหรับภาคการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต ผลที่ตามมาคือ การเติบโตของผลิตภาพในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลายแห่งปรับตัวลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ถึงอย่างไรภาคอุตสาหกรรมของทั้งกัมพูชาและเวียดนามกลับมีการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดย WB คาดการณ์ GDP ของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265854/cambodia-is-regional-exception-to-falling-trend-in-manufacturing/

กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 520 เมกะวัตต์ หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกริดไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลของ Phay Siphan รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 1 ใน 5 โครงการ เป็นการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Russey Chrum Kandal ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Veay Thmar Kambot ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง ขณะที่อีก 4 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์ โครงการถัดมา 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตที่ 60 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังและในจังหวัดสวายเรียง และโครงการสุดท้ายมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ ในจังหวัดไพรแวง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265922/five-renewable-energy-investment-projects-with-installed-power-generating-capacity-of-520-mw-approved/