ราคาข้าวโพดเมียนมา พุ่งขึ้นกว่า 1,100 จัตต่อ viss

รายงานของสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา เผยข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ราคาข้าวโพดเลี้ยงเลี้ยงสัตว์ดีดตัวขึ้น 1,100 จัตต่อ viss เป็นผลมาจากค่าเงินจัตที่อ่อนตัวและความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดต่างประเทศอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ นาย U Aye Chan Aung ประธานสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลว่า มีบริษัทจำนวน 112 แห่ง ได้อนุญาติให้ทำการส่งออกไปต่างประเทศได้ ในปีงบประมาณ 2563-2564  เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังไทย ที่เหลือไปจีน อินเดีย และเวียดนาม ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหลักๆ ของเมียนมาอยู่ในรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น กะยา และกะเหรี่ยง และมัณฑะเลย์ สะกาย และมะกเว โดยมีผลผลิตตข้าวโพดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5-3 ล้านตันทุกปี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-prices-bounce-back-over-k1100-per-viss/#article-title

“เวียดนาม” เผย 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่พุ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการจดทะเบียนธุรกิจในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่จำนวน 125,800 ราย เพิ่มขึ้น 34% มีทุนจดทะเบียนมูลค่ารวมกันมากกว่า 1.37 พันล้านดอง เพิ่มขึ้น 6% และแรงงานจำนวน 835,000 คน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทีบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ในเดือน ต.ค. มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่จำนวน 13,000 ราย เพิ่มขึ้น 13.6% มีทุนจดทะเบียนรวม 106.9 ล้านล้านดอง หดตัว 21.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

ทั้งนี้ นางเหงียน ถิ เฮือง  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ทางกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดหาวัตถุดิบและเชื้อเพลิง เพื่อรองรับกับความต้องการของภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมโครงการอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1351251/newly-established-firms-up-in-10-months.html

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ต่ำสุดรอบ 13 เดือน

ตามรายงานของ S&P Global เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด ลดลงจากระดับ 52.5 จุด ในเดือน ก.ย. ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี PMI ในเดือน ต.ค. ชะลอตัวนั้นเป็นผลมาจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในเวียดนาม ทั้งด้านคำสั่งซื้อใหม่และการส่งออก ตลอดจนความกังวลต่อภาวะอุปสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การสต็อกสินค้าที่สั่งซื้อและสินค้าสำเร็จรูปลดลงในเดือน ต.ค.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/pmi-growth-at-13-month-low/

‘รถไฟจีน-ลาว’ โอกาสไทยได้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศ

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) อ้างตามรายงานจาก “Thaiger” เปิดเผยว่าหากทางการจีนอนุญาตให้เดินทางขาออกได้ ชาวจีนจำนวนอย่างน้อย 3 ล้านคนจะเดินทางผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ขณะที่นายกสมาคมโรงแรมและร้านอาหารลาว กล่าวกับสำนักข่าวเวียงจันทน์ไทมส์ว่าภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังสปป.ลาวและประเทศอาเซียน ซึ่งจะเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ตลอดจนเร่งปรับปรุงการบริการโรงแรมและร้านอาหาร เพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่าไทยต้องคว้าโอกาสจากการที่สปป.ลาวเปิดรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากสปป.ลาวอาจไม่สามารถรองรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกและที่พัก นอกจากนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ด้วย (ไทย สปป.ลาวและมาเลเซีย)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Thailand214.php

ข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-เกาหลีใต้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค.

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้ประกาศว่าข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการครบรอบ 10 ปีความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการเปิดตัวหนังสือว่าด้วยกรอบการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ซึ่งข้อตกลง FTA ดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงในระดับทวิภาคีฉบับที่สองของกัมพูชาจากก่อนหน้านี้ที่ได้ลงนามร่วมกับจีนในช่วงต้นปี โดยทั้งสองประเทศหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันหลักในการส่งเสริมภาคการค้าและการลงทุนระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน และจะช่วยเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ในปัจจุบันแตะมูลค่า 818 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179178/cambodia-korea-free-trade-agreement-to-enter-into-force-in-december/

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 11% ในช่วง 9 เดือน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานว่ามูลค่าการค้าของกัมพูชากับกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าแตะ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งประเทศคู่ค้ารายสำคัญ 5 อันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ได้แก่ จีน เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์และโฆษกรัฐบาล Penn Sovicheat กล่าวว่า RCEP ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกัมพูชาและในภูมิภาค

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179149/cambodias-trade-with-rcep-countries-up-11-pct-in-9-months-ministry/

“เด็กรุ่นใหม่เวียดนาม” ไลฟ์สดขายของ สร้างรายได้มหาศาล

นีลเส็นไอคิว (Nielsen IQ) เผยข้อมูลจากรายงานพบว่าเทรนด์การจับจ่ายซื้อของผ่านการรับชมคอนเทนต์ กำลังเติบโตสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่ม ‘Omni Shopper’ นิยมซื้อของออนไลน์และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในประเทศเอเชีย การซื้อของแบบ ‘Omni Shopping’ สูงถึง 79% เนื่องจากผู้บริโภคมีความคุ้นเคยในการซื้อของออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคเวียดนามที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว มีสัดส่วนราว 57% ของกลุ่มผู้บริโภคทั้งหมด โดยตามข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่าการซื้อของออนไลน์ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2564 สูงถึง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) เปิดเผยว่าผู้คนที่ทำอาชีพนักสร้างคอนเทนต์ในเวียดนาม มีจำนวนประมาณ 200,000 ราย และราว 1,000 รายที่สามารถทำรายได้เกินกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หลายคนยังมีรายได้หลายร้อยล้านดองต่อเดือน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-youth-earn-big-from-live-shopping-post981246.vov

“เวียดนาม” เผยอัตราว่างงาน 2.3%

นาย Dao Ngoc Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเวียดนาม ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคมเวียดนาม เปิดเผยว่าผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 51.9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 68.7% อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน ไม่นับแรงงานนอกระบบ ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 2.3% โดยเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้การว่างงานในประเทศจึงอยู่ในระดับต่ำ แรงงานชาวเวียดนามในปัจจุบันมีส่วนสำคัญต่อธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ​วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์และโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตว่าตลาดแรงงานในประเทศยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงและแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ทำสัญญาจ้างงาน ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแบบจำลองของโครงการฝึกอบรมทักษะที่มีอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อยกระดับศักยภาพทั้งด้านการศึกษาและทักษะการทำงาน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-unemployment-rate-reported-at-2-3/

เดือนต.ค. 65 ส่งออกข้าวเมียนมา พุ่งขึ้น 20.58% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2565 เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 136,205 ตัน เพิ่มขึ้น 20.58 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จีนยังคงเป็นนำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คือมียอดการนำเข้าถึง 51,086 ตันหรือร้อยละ 37.5 ของยอดทั้งหมดของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2565-2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกข้าวไปยังจีน ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป อินโดนีเซีย บังคลาเทศ มาเลเซีย ศรีลังกา ประเทศในแอฟริกา และประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ในด้านเกษตรกรรม เมียนมาปลูกข้าวปลูกมากที่สุด รองลงมาคือถั่ว และถั่วพัลส์

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20221102/9de5ba59f4694ae79754c6e16980c946/c.html

สปป.ลาว-เกาหลีใต้ ตกลงเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

สปป.ลาว และเกาหลีใต้ตกลงที่จะเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตก๊าซชีวภาพ 500,000 ลิตรต่อวัน หรือเท่ากับ 12.5 ล้านลิตรต่อเดือน ในระยะแรกจะเน้นไปที่น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกระดับพรีเมียม และตามด้วยเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในการลงนามนำโดย Mr. Sysangkhom Khotnhotha ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทเชื้อเพลิงแห่งรัฐของ สปป.ลาว ร่วมกับ CEO ของ GAIA Petro Co., Ltd. และหน่วยงานอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยโครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้าน Dongphosy อำเภอ Hadxaifong ในเวียงจันทน์ประเทศ สปป.ลาว ซึ่ง บริษัท GAIA Petro Co., Ltd. ถือหุ้นร้อยละ 55 , บริษัท เชื้อเพลิงแห่งรัฐ สปป.ลาว ร้อยละ 22.5 และอีกร้อยละ 22.5 ถือครองโดยนักลงทุนในท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten213_Laosonly.php