ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาจะกลายเป็นท่าเรือระดับภูมิภาค

รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าดันท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุ ให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและท่าเรือระดับภูมิภาคภายในปี 2050 โดยความทะเยอทะยานดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ในระหว่างการพบปะกับข้าราชการ คนงาน และลูกจ้าง ณ ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ เมื่อเช้านี้ (1 พ.ค.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 138 ปี วันแรงงานสากล (1 พ.ค.) ภายใต้แนวคิด “หนึ่ง วิสาหกิจเป็นชุมชนสันติสุขหนึ่งเดียว” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสริมว่าภาคการขนส่งด้วยท่าเรือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะเพิ่มเงินลงทุนและการระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือต่อไป ด้าน Peng Ponea รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวว่า ท่าเรือสีหนุวิลล์มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตผ่านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดความยาวของท่าเรือไว้ที่ 400 เมตร ลึก 16.5 เมตร และระยะที่ 3 ขยายเป็นความยาว 430 เมตร ลึก 17.5 เมตร พร้อมรองรับอุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกในท่าเรือ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481387/sihanoukville-autonomous-port-to-be-transformed-into-regional-port-and-logistics-hub/

เศรษฐา ปิดดีล Microsoft ลงทุน DATA CENTER หนุนอุตสาหกรรม AI

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ Plenary Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Microsoft Build AI Day Event” ตอนหนึ่ง ว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันความพร้อมของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม AI และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโตในไทยอย่างเต็มที่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยพร้อมสำหรับอนาคต ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งครอบคลุมมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด รวมทั้ง รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึง นโยบายที่จะทำให้ ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) อย่างไรก็ดี รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บ็อกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยินดีที่ได้ทราบว่า ความมุ่งมั่นของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MoU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป ในตอนหนึ่งของการกล่าวเปิด นาย Satya Nadella ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft ให้คำมั่นว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะ AI ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1554508

ธนาคารโลก คาดการณ์ GDP สปป.ลาว เติบโตได้ 4% ในปีนี้

เว็บไซต์ของธนาคารโลก เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เมื่อมองไปข้างหน้าถึงปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4% โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตด้านบริการและการลงทุนในภาคพลังงานและเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่างๆ เช่น การอ่อนค่าของเงินกีบ อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความจำเป็นในการชำระหนี้ต่างประเทศที่สูง คาดว่าจะยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ ข้อแนะนำเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ธนาคารโลกได้แนะนำให้ สปป.ลาว จัดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปในด้านที่สำคัญ เช่น การจัดการหนี้ การระดมรายได้ การจัดการการลงทุนสาธารณะ เสถียรภาพของภาคการเงิน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ แม้ว่าการปฏิรูปรายได้เมื่อเร็วๆ นี้มีแนวโน้มที่ดี แต่รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/30/lao-economic-growth-remains-below-2019-levels-world-bank-report-reveals/

ธนาคารแห่ง สปป. ลาว เตือนเรื่องธนบัตรปลอมระบาด

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ออกคำเตือนประชาชนให้ระวังธนบัตรปลอม ฉบับ 50,000 กีบ ปี 2547 ในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะแขวงบ่อแก้ว โดยธนบัตรปลอมที่ทางการตรวจพบมีการระบุหมายเลขซีเรียลจากรหัส AZ 0218001 ถึง AZ 0218999 ธนบัตรปลอมพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์พิเศษ และมีลวดลายสีสันสดใสคล้ายกับธนบัตร 50,000 กีบดั้งเดิมของปี 2547 ดังนั้นก่อนที่จะรับและชำระเงินด้วยธนบัตร 50,000 กีบของปี 2547 ประชาชนควรตรวจสอบรายละเอียดของธนบัตรให้ละเอียดก่อน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งการตรวจพบธนบัตรปลอมได้ที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินมาตรการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่สร้างความโกลาหลและฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการนำเข้าธนบัตรปลอมมาในระบบการเงิน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_81_Central_y24.php

‘Digital Transformation’ กุญแจดอกสำคัญของธุรกิจเสื้อผ้าเวียดนาม

จากงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม “SaigonTex and SaigonFabric 2024” จัดโดยสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ทางด้านคุณ นาง เหงียน ถิ เตี๊ยก มาย รองเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวระหว่างการประชุมว่ารัฐบาลอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2573 มีวิสัยทัศน์ถึงปี 2578 และจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง การปรับปรุงชีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศและตอบสนองกับความต้องการของคนในประเทศ ในขณะเดียวกัน ตัวแทนของสมาคมฯ กล่าวว่าหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/digital-transformation-optimal-choice-for-vietnamese-garment-textile-firms/285158.vnp

‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศระลอกใหม่ ม.ค.-เม.ย. แตะ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าการลงทุนจากต่างประเทศในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 9.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว มีจำนวนโครงการใหม่ 966 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 7.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.8% และ 73.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 70.2% ของเงินลงทุนทั้งหมด ในขณะที่ภาคอสังหาฯ มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 22.5%

นอกจากนี้ นักลงทุนชาวสิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในเวียดนาม มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.59 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 36.4% ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาฮ่องกง 898.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/new-foreign-investments-in-jan-apr-put-at-us9-3-billion/

ชายแดนเมียวดี-แม่สอด ต้องมีใบรับรอง UID ในการเข้า/ออก

กรมตรวจคนเข้าเมืองได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม การเข้าและออกบริเวณชายแดนเมียวดี-แม่สอด ต้องใช้บัตร UID เท่านั้น โดยมาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามจำนวนบุคคลที่ข้ามชายแดนอย่างแม่นยำ และเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้คนโดยใช้บัตรประจำตัวปลอมหรือล้าสมัย อย่างไรก็ดี แผนการบังคับใช้บัตร UID สำหรับการข้ามชายแดนใช้ไม่เพียงแต่ใช้กับชายแดนประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการข้ามแดนจากประเทศจีนและอินเดียด้วย โดยที่บัตร UID คือเอกสารที่รวบรวมและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางชีวภาพของบุคคลที่อายุเกิน 10 ปี ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นใบรับรองประจำตัวประชาชนที่มีหมายเลข 10 หลัก และบริหารจัดการโดยกรมตรวจคนเข้าเมืองและประชากรที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-mae-sot-border-requires-uid-certificate-for-entry-exit/#article-title

การท่าเรือเมียนมา : เรือคอนเทนเนอร์ 52 ลำมีกำหนดเทียบท่าในเดือนพฤษภาคม

การท่าเรือเมียนมาประกาศว่า เรือคอนเทนเนอร์จำนวน 52 ลำจะเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ประกอบด้วยเรือคอนเทนเนอร์จำนวน 7 ลำดำเนินการโดยสายเรือ Maersk A/S Line, 6 ลำ โดยสายเรือ Cosco Shipping Line และ Samudera Shipping Line, 5 ลำ โดยสายเรือ MSC Line และ SITC Shipping Line, 4 ลำ โดยสายเรือ Ti2 Container Line, 3 ลำ โดยสายเรือ BLPL Shipping Line, CMA CGM ONE Line และ RCL Line และ 2 ลำโดยสายเรือ Evergreen Line, IAL Shipping Line และ PIL Line อย่างไรก็ดี การท่าเรือเมียนมาระบุว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเรือคอนเทนเนอร์เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้ง ในเดือนมกราคม มี 49 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ 53 ลำ ในเดือนมีนาคม 55 ลำ และในเดือนเมษายน 50 ลำ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanma-port-authority-52-container-vessels-scheduled-to-call-in-may/#article-title

นโยบายด้านการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา หนุนระดับการลงทุนใหม่ภายในประเทศ

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต กล่าวว่า นโยบายการลงทุนฉบับใหม่ของรัฐบาลกัมพูชาคือการรักษาการลงทุนที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการลงทุนใหม่ด้วย โดยได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) ระหว่างการประชุมกับคณะผู้แทนเศรษฐกิจนอกระบบมากกว่า 5,000 คน ณ OCIC กรุงพนมเปญ ซึ่งในอดีต กัมพูชามีแนวทางในการผลักดันภาคเอกชน องค์กร และโรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคการธนาคาร การท่องเที่ยว และการเกษตร แต่ด้วยการมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้น ทางการจึงต้องพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้อุตสาหกรรมในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501479676/cambodias-investment-policy-preserves-existing-investments-while-fostering-new-ones-peace-and-stability-are-crucial-pm-says/

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 18.4%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวมถึง 365 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังทำให้มั่นใจได้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกของกัมพูชาที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของกัมพูชาในอนาคต ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 5.8 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของกัมพูชา โดยมีมมูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 507 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาคงเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นราว 223 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและอุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องหนัง ด้านสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501479402/cambodias-exports-to-japan-rise-18-4/