การผลิตรถยนต์ต่ำ ฉุดซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์เวียดนาม

ปริมาณการผลิตรถยนต์ขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 คันต่อปี สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เวียดนาม แต่มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายที่สามารถบรรลุระดับการผลิตยานยนต์ดังกล่าวได้ ผู้ผลิตยานยนต์อย่างโตโยต้า (Toyota) และฮุนได้ (Hyundai) ผ่านเกณฑ์ระดับการผลิตยานยนต์ในปี 2564 ด้วยปริมาณการผลิตยานยนต์ 64,172 และ 56,028 คัน ตามลำดับ ในขณะที่เกีย (Kia) ไม่ผ่านระดับการผลิตยานยนต์อยู่ที่ 35,181 คัน รองลงมาวินฟาสต์ (VinFast) 34,746 คัน และมิตซูบิชิ (Mitsubishi) 26,346 คัน

ทั้งนี้ คุณ Truong Thị Chí Bình ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าระดับการผลิตยานยนต์ขั้นต่ำถือเป็นความล้มเหลวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของเวียดนาม และปริมาณการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศต่ำ ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่กล้าที่จะลงทุนในสายการผลิตใหม่

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1166036/low-level-of-car-production-holds-back-vietnamese-auto-part-suppliers.html

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” ซ้อน “โควิด” กระทบธุรกิจเวียดนาม

บรรดาผู้ประกอบการเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการส่งออกไปยังประเทศรัสเซีย ยูเครนและเบลารุส ประกอบกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งและธนาคารของรัสเซียถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ (SWIFT) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งธุรกิจจำนวนมากที่ยังคงมีปัญหาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ นาย Nguyen Dang Hien ผู้อำนวยการของบริษัท Tan Quang Minh Manufacturing and Trading Company Limited (TQM) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม กล่าวว่าบริษัทอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังคงดิ้นรนกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน อาทิ คู่ค้าต่างชาติปิดค้าขายในช่วงการแพร่ระบาดและการนำเข้าวัตถุดิบใช้เวลานานกว่าแต่ก่อน ผลลัพธิดังกล่าวได้ผลักดันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่กิจการไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ukraine-conflict-covid-make-it-doublewhammy-for-vietnamese-businesses/223860.vnp

เวียดนามขยายการสนับสนุนภาคการลงทุนในสปป.ลาว

เวียดนามตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือภาคการลงทุนในสปป.ลาวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนและการลงทุน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เวียดนามจะจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ วิธีจัดการและจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐและโครงการช่วยเหลือต่างประเทศ สนับสนุนความทันสมัยของภาคการวางแผนและการลงทุนของสปป.ลาวโดยการปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมการจัดการที่ล้ำสมัย ที่จัดทำโดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศและส่งเสริมการจัดการการลงทุนสำหรับธุรกิจในแต่ละประเทศ ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันส่งเสริมวิสาหกิจที่ได้ทำข้อตกลงในการดำเนินการตามแผน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Vietnam_57_22.php

ไตรมาสแรกของปีงบฯ 64-65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป พุ่งขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำนักงานสถิติ กระทรวงการวางแผนและการเงินของเมียนมา เผย การส่งออกเสื้อผ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีงบประมาณก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่การส่งออกของไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 889.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2557

โดยสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา ได้แก่ ข้าว, ถั่ว, ข้าวโพด และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในกลุ่ม CMP (Cut–Make-Pack) ในบรรดาสินค้าส่งออกจะพบว่า เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าใน 5 ปี ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคตมากที่สุดในภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งเมียนมาจะใช้กระบวนการแบบรับจ้างผลิต ในการตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (CMP) โดยนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากต่างประเทศและนำมาตัดเย็บภายในประเทศ

ด้านสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา เผยสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งประเทศชั้นนำที่นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามมาด้วย ญี่ปุ่น, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งนี้ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/227890

EuroCham Cambodia และ GMAC ลงนาม MoU สนับสนุนกัมพูชา

EuroCham Cambodia และ GMAC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าของยุโรปและแบรนด์แฟชั่นที่ได้ดำเนินการอยู่ในกัมพูชา ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองสมาคมและกลุ่มสมาชิก สู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกระหว่างสหภาพยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในหมวดสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อยู่ที่ 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งการตลาดของกัมพูชาในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.87 จากในปี 2020 ที่กัมพูชามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 13.30 ตามข้อมูลการนำเข้าจากสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสหรัฐฯ (OTEXA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045339/eurocham-cambodia-and-gmac-ink-agreement-to-better-support-european-brands-sourcing-from-cambodia/

จีนให้คำมั่น เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากัมพูชา

จีนแสดงความมุ่งมั่นที่จะนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ จากกัมพูชามากขึ้นหลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยวางแผนนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ อาทิเช่น กล้วย มะม่วง และลำไย เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 39 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.51 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกัมพูชา โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2022 การส่งออกข้าวของกัมพูชามีมูลค่ารวมกว่า 103,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045760/china-vows-to-increase-import-of-cambodian-agricultural-products/

พาณิชย์ ฟันฉับห้ามแพลตฟอร์ม ฉวยขึ้นค่าส่งอาหาร-สินค้าออนไลน์

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีการปรับขึ้นค่าขนส่ง เนื่องจากน้ำมันราคาแพง ได้จัดประชุมกับผู้ให้แพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์และแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้, ลาซาด้า, แกร็บ ฟู้ด, ไลน์แมน, ฟู้ดแพนด้า, โรบินฮู้ด, แอร์เอเชีย ฟู้ด ทั้งนี้ กรมฯ เน้นย้ำห้ามผู้ประกอบการขึ้นค่าบริการในช่วงนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชน เนื่องจากการให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือว่ามีส่วนในวิถีชีวิตมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทั้งนี้หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากพบการกระทำความผิด ด้านราคาและปริมาณสินค้า สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/878634/

รัฐบาลสปป.ลาวทุ่มทุนกระตุ้นส่งออกสินค้าเกษตร

รัฐบาลสปป.ลาวให้คำมั่นที่จะจัดหาการลงทุนจากจีนให้มากขึ้นในภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ โดยใช้ศักยภาพของทางรถไฟลาว-จีน เป็นปัจจัยการกระตุ้นการส่งออก ปีที่แล้วบริษัทจีนมากกว่า 300 แห่งแสดงความสนใจที่จะลงทุนในภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ของสปป.ลาว โดยในอนาคตคาดว่าการลงทุนจะแตะ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากศักยภาพการส่งออกของทางรถไฟ ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างสปป.ลาวและจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะขยายความร่วมมือในด้านนี้ต่อไปตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2025 ด้านการค้าสปป.ลาวมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรมากกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กล้วย ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย แตงโม วัวและควาย โดยจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของสปป.ลาว แม้ว่าการส่งออกสินค้าโดยทางรถไฟจะถือว่าสะดวกและรวดเร็ว แต่ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางการเกษตรยังคงเป็นการขนส่งโดยรถบรรทุก ดังนั้นหากต้องการผลักดันสินค้าเกษตรไปยังสปป.ลาวการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สปป.ลาวไปถึงเป้าหมาย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_to_56.php

ธุรกิจท่องเที่ยวเมืองมะริด ส่อเจ๊งระนาว! จากราคาน้ำมันปรับพุ่งขึ้น

ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายหนึ่งของเมืองมะริด เขตตะนาวศรี ได้ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวของหมู่เกาะมะริด แทบจะหยุดชะงักลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ความกังวลจากสถานการณ์โควิด-19 สายพันธ์ Omicron และความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมา โดยค่าเรือยนต์นำเที่ยวรอบเกาะเพิ่มขึ้นจาก 100,000 จัตเป็น 150,000 จัตต่อคน โดยในหมู่เกาะมะริดมีจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เกาะสมาร์ท เกาะไบเลย์ เกาะคยาลลิก เกาะปาดัน เกาะเลย์ เกาะโดเนนยองมีน และน้ำตกดอน ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้เดินทางทางถนนเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยและการระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวบนเกาะเลย ทั้งนี้มีบริษัททัวร์ประมาณ 40 แห่งที่เปิดให้บริการในหมู่เกาะมะริด แต่ตอนนี้เหลือเพียง 10 บริษัทเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการอยู่

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/

กัมพูชารายงานถึงปริมาณการชำระเงินผ่านระบบมือถือเพิ่มขึ้น ในปี 2021

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การชำระเงินผ่านมือถือในกัมพูชาเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรายงาน FinTechs ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยรองผู้ว่าการและผู้อำนวยการด้านเทคนิคของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา กล่าวว่า ประเทศกัมพูชาได้บันทึกธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ไว้ได้ที่จำนวน 707.57 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 มูลค่าในการทำธุรกรรมรวม 113.67 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 19 ในปี 2021 ซึ่งปัจจุบัน มีสถาบันการเงิน 69 แห่งที่ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศ โดยเสริมว่าในปี 2021 มีผู้ใช้ชำระเงินทางมือถือจำนวน 13.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากจำนวน 9.56 ล้านคนในปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501044984/cambodia-mobile-payments-surge-in-2021/