‘เวียดนาม’ เนื้อหอม คงเป็นจุดหมายปลายทางลงทุน แม้เผชิญการระบาด COVID-19

จากรายงานของสถาบันการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ เปิดเผยว่าในปี 2564 เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดและเผชิญกับปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตและห่วงโซ่อุปทานแก่ตลาดส่งออกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ในปีนี้ โดยตัวเลขการค้ายังคงเติบโตได้ดี การค้ารวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 33.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเวียดนามจะยังคงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ราว 30 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-attractive-investment-destination-report/211468.vnp

ร้านอาหารในเมืองโฮจิมินห์คักคัก เตรียมกลับมาเปิดได้อีกครั้ง

Pham Khanh Phong Lan หัวหน้าคณะกรรมการความปลอดภัยอาหารของเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่าไม่อนุญาตให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ลูกค้าอยู่นานขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน ทั้งนี้ Trần Quốc Thịn เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในเขตฟูยวน (Phu Nhuan) กล่าวว่าในช่วงไม่กี่วันผ่านมา ได้เรียกให้พนักกงานกลับมาทำงานแล้วและยุ่งกับการทำความสะอาด จัดโต๊ะและเตรียมวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม Trần Minh Vỹ เจ้าของร้านอหารแห่งหนึ่งในเขตเตินฟู้ (Tan Phu) มองว่ายังไม่มีแผนที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งและต้องการรอรายละเอียดมากขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะตัดสินใจ นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการได้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1067159/hcm-city-restaurants-busy-preparing-to-reopen.html

ส่งออกสินค้าเกษตรเมียนมา พุ่ง 132.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย 15 วันแรกของเดือนตุลาคม 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอยู่ที่ 132.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของงบประมาณย่อย (Mini Budget) ตั้งแต่ ต.ค. 2564 ถึง มี.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2563-2564  ที่ส่งออกสูงถึง 87.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นแม้จีนคู่ค้าหลักซึ่งปิดพรมแดนทั้งหมดจากการระบาดของ COVID-19 ในเมียนมา ซึ่งการระบาดกระทบต่อกลุ่มสินค้าส่งออก เช่น สินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์ แร่ ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ในภาคการส่งออก อุตสาหกรรมการเกษตรคิดเป็น 37% ของการส่งออกโดยรวม สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและข้าวหัก ถั่วและข้าวโพด ฯ ส่วนใหญ่สินค้าเกษตรส่งออกไปยังจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และศรีลังกาเป็นหลัก ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กำลังให้ความช่วยเกษตรกรในด้านต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูง การจัดหาเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการเพาะปลูก และสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/agricultural-export-tops-132-9-mln-as-of-15-oct/

อาเซียนหารือรับมือโควิดและการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวอีกครั้ง

อาเซียน หารือเรื่องการเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งและให้คำมั่นว่าจะขยายความร่วมมือในด้านต่างๆเหล่าประเทศที่เข้าร่วมการประชุมให้คำมั่นว่าจะยังคงให้ความร่วมมือในด้านที่มีความสำคัญ เช่น สาธารณสุขรวมถึง Covid-19, การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคผ่านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, การศึกษา, ความเชื่อมโยงในอาเซียน, การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศอาเซียน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร และการลดความยากจน บรรดาผู้นำยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี เสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการเชื่อมต่อ ตลอดจนการเปิดการเดินทางอีกครั้งเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean211.php

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังเกาหลีใต้ปริมาณรวมกว่า 1.2 พันตัน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาทำการส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวม 1,204 ตัน ไปยังเกาหลีใต้ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 106 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งในปี 2019 กัมพูชาส่งสินค้าทางการเกษตรปริมาณรวมกว่า 6,000 ตัน ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออก ในทางกลับกันปี 2020 กัมพูชาส่งออกสินค้าการเกษตรปริมาณเพียง 584 ตัน จากผลกระทบของการแพร่ระบาด โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ กัมพูชาทำการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยางธรรมชาติ ประมาณ 950 ตัน และมะม่วงสดประมาณ 124 ตัน รองลงมาคือน้ำตาลปี๊บ 29 ตัน และข้าวโพด 21 ตัน เป็นสำคัญ ซึ่งกัมพูชาคาดว่าจะมีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ทำการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อไม่นานมานี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50959981/cambodia-exported-1204-tonnes-of-agricultural-products-to-south-korea/

รัฐบาลกัมพูชากำหนดยกเลิกการกักตัว 30 พฤศจิกายน

ทางการกัมพูชามีความพยายามอย่างมากที่จะเปิดประเทศใหม่อีกครั้ง โดยจะเริ่มดำเนินการภายใต้โครงการ “แซนด์บ็อกซ์” ในการอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเดินทางมายังกัมพูชาได้โดยไม่ต้องกักตัว ในพื้นที่นำร่อง อาทิเช่น สีหนุวิลล์ เกาะร่อง และดาราสาครรีสอร์ท ในจังหวัดเกาะกง ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน เป็นต้นไป โดยแพ็คเกจท่องเที่ยวปลอดภัยไม่ต้องกักตัว (Quarantine Free Relaxation Package) จะนำมาใช้กับนักท่องเที่ยวที่ได้จองห้องพักอย่างน้อย 5 วัน ในสถานที่ท่องเที่ยวที่ทางการได้กำหนดไว้ จากนั้นนักท่องเที่ยวจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังที่ใดก็ได้ในประเทศ หากมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ซึ่งโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยว เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะมีส่วนช่วยในการดึงดูดนักเดินทางต่างชาติมายังกัมพูชามากขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องกักตัวอีกต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50959494/sville-sandbox-govt-to-initiate-quarantine-free-tourism-on-november-30/

‘ประยุทธ์’ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ย้ำร่วมมือด้านวัคซีน-สิ่งแวดล้อม-พัฒนาดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาฯ ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน เข้าร่วมด้วย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงความสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนที่มีความสำคัญมากขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิด AOIP และเห็นว่าการก้าวผ่านศตวรรษที่ 21 ต้องร่วมมือกันเพื่อสู้กับโควิด-19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกัน และการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งหวังที่จะได้ร่วมกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป ตลอดจนยืนยันที่จะมีความช่วยเหลือให้กับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อสนับสนุนอาเซียนให้ Build Back Better ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเสนอแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-สหรัฐฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความร่วมมือในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 2.การให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว เพื่อก้าวไปสู่ “Next Normal” อย่างยั่งยืน และ 3.การพัฒนาด้านดิจิทัล

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/politics/news_6698213

เปิดประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อมเสวนารับมือโควิด

การประชุมสุดยอดครั้งที่ 38 และ 39 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เปิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม โดยมีการอภิปรายเน้นไปที่ความพยายามร่วมกันในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติและในการส่งเสริมพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา และสังเกตบทบาทสำคัญของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ แต่ประเด็นที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้อยู่ในเรื่องของการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ บรรดาผู้นำได้หารือถึงความพยายามร่วมกันในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ พวกเขาสังเกตเห็นการจัดตั้งศูนย์สุขภาพและกองทุนรับมือ Covid-19 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญในภายภาคหน้าต่อระบบสาธารณสุขในประเทศที่อ่อนแอและระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean_210_21.php

ธปท. เผยนักวิเคราะห์ยังหั่น GDP ไทยปีนี้โตเหลือ 0.6% แม้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4 ห่วงโควิดกลับมาระบาดรุนแรง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 โดยผลสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 0.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.3% แต่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว สะท้อนจากการคาดการณ์ว่าทุกเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจะขยายตัวเล็กน้อย จากแรงสนับสนุนทั้งนโยบายด้านการคลังและการเงิน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว

ที่มา : https://thestandard.co/gdp-growth-of-thailand-this-year-to-0-6per/

เศรษฐกิจเวียดนาม ตามแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากกำลังซื้อที่ตกต่ำจากผลกระทบของโควิด-19 โดยทางดร. Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2% ราคาอาหารปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้ง เมื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างสมบูรณ์ ราคาอาหารจะปรับตัวลดลงอีกครั้ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประชาชนลดลงและเมื่อกำลังซื้อต่ำ ราคาดังกล่าวจะไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ ดร. Pham The Anh มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าดัชนี CPI ที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่จากการได้รับผลกระทบของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/national-economy-under-inflationary-pressure-900562.vov