‘เวียดนาม’ โชว์ 9 เดือนแรก ลงทุนต่างประเทศ พุ่ง 4.6%

หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามลงทุนในต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 416.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และจากเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว เงินลงทุนที่ธุรกิจจดทะเบียน มีมูลค่ากว่า 244.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยจำนวนโครงการใหม่ 84 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 70.5% ของมูลค่าเงินลงทุนจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนชาวเวียดนามส่วนใหญ่ลงทุนในภาคการค้าส่งค้าปลีก ด้วยมูลค่าเงินลงทุนราว 150.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  รองลงมาภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม

ในขณะที่แคนาดาเป็นแหล่งลงทุนสำคัญที่สุดของนักลงทุนชาวเวียดนาม รองลงมาสิงคโปร์ สปป.ลาว และคิวบา

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-overseas-investment-up-46-during-nine-months/268894.vnp

‘เวียดนาม’ ทำรายได้จากการส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามทำสถิติส่งออกข้าวสูงสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 6.61 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.1% และ 40.4% ตามลำดับ โดยเฉพาะเดือน ก.ย. เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ปริมาณ 8 แสนตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยที่ 618 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นราคาส่งออกข้าวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวทะลุ 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 40.3% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด รองลงมาจีนและอินโดนีเซีย 13.5% และ 12.4% ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594890/viet-nam-s-rice-exports-revenue-surges-to-new-record.html

‘เมียนมา’ เผยราคาอ้อยพุ่งตามความต้องการของตลาดในประเทศ

จากคำประกาศของโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง กล่าวว่าได้เข้าซื้ออ้อย 1 ตันในราคา 120,000 จ๊าตต่อวิสส์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. และยังซื้ออ้อยต่อวัน อยู่ที่ 6,500 ตัน หรือ 7,000 ตัน นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลยังส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกอ้อมมากขึ้น เนื่องจากโรงงานมีแผนที่จะขยายพื้นที่มากกว่า 2 ยูนิต โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตน้ำตาล ด้วยกำลังการผลิต 7,500 ตันต่อวันในปีการเงิน 2567-2568 และเพิ่มกำลังการผลิต 12,000 ตันต่อวันในปีการเงิน 2568-2569 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลในตลาดโลก เดือน ก.ค. อยู่ที่ 650 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปรับตัวลดลง 700 ดอลลาร์สหรัฐในเดือน มิ.ย.

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sugarcane-price-set-to-rise-as-local-demand-surge/#article-title

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดนโยบายใหม่ หลังพบ ADB หวังจัดการปัญหาหนี้สาธารณะ

รัฐบาล สปป.ลาว ร่วมเจรจานโยบายระดับสูงเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างการจัดการหนี้สาธารณะในประเทศ สปป.ลาว ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกระทรวงการคลัง โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดการหนี้สาธารณะด้วยการเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะเข้ากับนโยบายการคลัง และการเงิน ร่วมกับการจัดทำมาตรการเฉพาะของรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ด้านนาย Soulivath ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามสถานการณ์หนี้สาธารณะ รวมถึงประเมินความเสี่ยงทางการคลังต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะ เพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_196_Govt_y23.php

“จีน” ยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของกัมพูชา

นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้ว 191 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 41 โครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นเม็ดเงินลงทุนของจีนในกัมพูชามากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นการลงทุนจากนักลงทุนในท้องถิ่นชาวกัมพูชาอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 12 โดยในเดือนกันยายน CDC อนุมัติโครงการใหม่ 27 โครงการด้วยเงินลงทุนรวม 1.6 พันล้านดอลลาร์ สร้างโอกาสในการจ้างานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการลงทุนเกี่ยวกับระบบการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า ผลิตเหล็ก และภาคส่วนอื่นๆ ด้านกัมพูชากำลังเร่งจัดทำกลยุทธ์เพื่อหวังดึงดูดนักลงทุนชาวจีนผ่านการเข้าร่วมโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373387/china-remains-largest-investor-in-cambodia/

สายการบินหลายแห่งทั่วโลก ประกาศเพิ่มเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชา

สายการบินซึ่งให้บริการในกัมพูชา ได้ยื่นคำขอเพิ่มตารางเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชา เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลท่องเที่ยวหรือวันหยุดภาคฤดูร้อน ด้านบริษัทผู้ให้บริการจำเป็นต้องยื่นคำขอในการเพิ่มตารางเที่ยวบินทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการจัดสรรการจราจรในบริเวณสนามบิน กล่าวโดย Chea Aun เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ (SSCA) ซึ่งรัฐบาลกัมพูชายังได้ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น เวียดนาม และไทย รวมถึงยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว อย่างการพัฒนาระบบการชำระเงินด้วย QR-code “kHQR” และโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซึ่งมาเยือนกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373260/airlines-to-increase-flights-to-cambodia-by-year-end/

“ไทยเบฟ”ยึดกัมพูชา ฐานผลิตอาเซียน ดัน BeerCo เข้าตลาดหุ้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยเบฟให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน จึงขับเคลื่อนกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ พร้อมกับดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2567 (ต.ค. 66-ก.ย.67) บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ในการเดินหน้าธุรกิจเพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน+9 ซึ่งปัจจุบันก้าวกระโดดไปทำตลาดในหลายประเทศ ภายใต้กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH) ใน 3 Pillars ได้แก่ Balanced Market Diversification, Extensive Product Portfolio และ Fulfill New Consumer Needs แบ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ในกัมพูชาและลาว 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตใหญ่รองรับตลาด CLMV และยังคอนเน็คสู่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่ง และทำให้ไทยเบฟมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าในอนาคต ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในประเทศไทยทั้งด้านโลจิสติกและความยั่งยืน ฯลฯ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/marketing/577997

‘เวียดนาม’ ดึงดูดบริษัทยุโรป

จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย ‘Vietnam Trade and Industry Review’ ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เพื่อหารือถึงการเชื่อมโยงกับบริษัทยุโรป และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนาย Phan Minh Thong ประธานคณะกรรมการบริหารของ Phuc Sinh Group กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ได้สร้างโอกาสอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ บริษัทนอกสหภาพยุโรปที่ลงทุนในเวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง เมื่อทำการส่งออกจากเวียดนามไปยังยุโรป

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attractive-to-european-firms-seminar/269243.vnp

‘S&P Global’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วสุด อีก 5 ปีข้างหน้า

จากรายงานของ S&P Global Market Intelligence เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ระบุว่าการเติบโตระยะกลางของเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า มีปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลายประการที่จะช่วยให้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย โดยเวียดนามยังคงได้รับประโยชน์จากต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำ และด้วยแรงงานที่มีจำนวนมาก มีการศึกษาที่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่น่าสนใจของบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ แนวโน้มของรายจ่ายการลงทุนมีทิศทางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีความแข็งแกร่ง รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-among-fastest-growing-emerging-asian-markets-in-next-five-years-sp-global-post130134.html

‘เมียนมา’ โกยรายได้ส่งออกถั่วพัลส์ ครึ่งแรกปีนี้ ทะลุ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์มากกว่า 860,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย.-ก.ย.) โดยแบ่งออกเป็นผ่านการค้าทางทะเลและผ่านชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำรายได้ราว 603.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 111.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักของถั่วพัลส์ ประกอบไปด้วยอินเดีย จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอินเดียที่มีความต้องการถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมาจำนวนมาก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-various-pulses-exports-bag-us715-mln-in-h1/#article-title