การค้าของกัมพูชากับ 20 คู่ค้าหลักทะลุ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปี

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 กัมพูชามียอดการค้ารวมกับคู่ค้าหลัก 20 อันดับแรกสูงถึง 3.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 จากปีก่อน โดยการส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 สู่มูลค่ารวม 1.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านจีนยังคงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าการค้ารวม 9.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 แม้การส่งออกไปยังจีนจะลดลงร้อยละ 7.9 แต่การนำเข้าจากจีนกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 31.2 สู่มูลค่า 8.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับสอง มูลค่าการค้า 5.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ซึ่งการส่งออกไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ด้านเวียดนามอยู่ในอันดับสาม มีมูลค่าการค้า 4.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 และไทยมีการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 คิดเป็นมูลค่า 2.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับห้าด้วยมูลค่าการค้า 1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501716434/cambodias-trade-with-top-20-partners-surpasses-30b-in-h1/

สวนทุเรียน 112 แห่ง ของกัมพูชาได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน

กัมพูชาได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก General Administration of Customs of China (GACC) ให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนได้โดยตรง หลังจากมีการลงนามในพิธีสารเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก GACC ได้ประเมินและอนุมัติการขึ้นทะเบียนฟาร์มทุเรียน 112 แห่ง และโรงบรรจุ 30 แห่ง ที่เป็นไปตามมาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) ข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืช และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารของจีน ด้านกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ได้เร่งรัดให้เจ้าของฟาร์มและโรงบรรจุที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารอย่างเคร่งครัด รวมถึงการปลอดจากสารอันตราย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีต้องห้าม นอกจากนี้ กระทรวงยังเรียกร้องให้ฟาร์มและโรงบรรจุอื่นๆ ที่ต้องการส่งออกทุเรียนยื่นขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อประเมินผลโดยเร็ว

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501712773/112-cambodian-farms-get-green-light-to-export-fresh-durian-to-china/

‘เวียดนาม’ เปิดงบรายรับจากการนำเข้า-ส่งออก ช่วงครึ่งปีแรก โต 10%

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่างบประมาณรายรับจากการนำเข้าและส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 222.75 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 54.2% ของงบประมาณเป้าหมายประจำปี และขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ทั้งนี้ จากตัวเลขการค้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ประเมินมูลค่าไว้ที่ 431.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16% โดยคาดการณ์ว่าการส่งออก อยู่ที่ 219.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.2% ในขณะที่การนำเข้า ประมาณการณ์ไว้ที่ 212.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.9% ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 7.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ กรมศุลกากร รายงานว่าการลักลอบขนของ การฉ้อโกงการค้า การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมาย การปลอมแปลง และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงมีความรุนแรง โดยส่วนใหญ่พบตามเส้นทางชายแดน และบริเวณชายฝั่ง ซึ่งสินค้าที่มีการละเมิดและเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ได้แก่ ปิโตรเลียม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์นม ยา เครื่องสำอาง ยาสูบ ยาเสพติด ทองคำ และสินค้าที่ติดฉลากเท็จว่ามีต้นทางมาจากเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/state-budget-revenue-from-import-export-rises-over-10-in-h1-post322156.vnp

ส่งออกกุ้งทะลุ 1,200 เมตริกตันในปีงบประมาณ 2568-2569

สถิติกรมประมงเมียนมา ระบุว่า เมียนมาส่งออกกุ้ง 1,273.933 เมตริกตันในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568-2569 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งสร้างรายได้ 3.666 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2567-2568 ที่ผ่านมา (1 เมษายน 2567-31 มีนาคม 2568) เมียนมามมีการส่งออกกุ้งทางทะเล ทั้งหมด 1,115.953 เมตริกตัน มูลค่า 2.812 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผ่านทางชายแดน 157.98 เมตริกตัน มูลค่า 0.854 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผลิตภัณฑ์ประมงของเมียนมาถูกส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงญี่ปุ่น บังกลาเทศ จีน และไทย ผ่านช่องทางการค้าทางทะเลและชายแดน

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/shrimp-exports-top-1200mt-in-fy2025-26/#article-title

‘เวียดนาม’ ทำลายสถิติส่งออกกาแฟ 4.7 พันล้านดอลลาร์ หนุนความต้องการตลาดสหรัฐ – ยุโรป

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกกาแฟในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดส่งออกหลัก เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และหากพิจารณาเฉพาะในเดือน พ.ค. 2568 พบว่าการส่งออกกาแฟ มีปริมาณราว 149,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 60.5% และเพิ่มขึ้นเกือบ 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกในช่วง ม.ค. – พ.ค. จะหดตัวเล็กน้อย 0.6% แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ 63.2%

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีการนำเข้ากาแฟมากกว่า 367,000 ตัน มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 54,310 ตัน มูลค่า 299 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกกาแฟของเวียดนาม ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระดับโลก และราคากาแฟที่มีทิศทางลดลง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/coffee-exports-hit-record-on-eu-us-demand-post320946.vnp

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรก ยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ พุ่ง 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอของเวียดนาม อยู่ที่ 17.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้า 10.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าประมาณ 6.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นาย Truong Van Cam รองประธานและเลขาธิการของ VITAS กล่าวว่าถึงแม้จะมีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เช่น อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก อย่างไรก็ดี ธุรกิจแห่งแห่งยังคงสามารถรักษาระดับการผลิตให้มีเสถียรภาพได้ รวมถึงปรับปรุงการผลิต เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-garment-textile-exports-top-17-billion-usd-in-five-months-post320689.vnp

กัมพูชาส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม RCEP โตเกือบ 8% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 3,616 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 9,311 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 18.8 ทำให้มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 12,927 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65.6 ของเป้าหมายการค้าระหว่างประเทศในปี 2025 ด้าน Penn Sovicheat ระบุว่าการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม RCEP ที่มีการขยายตัว เป็นผลมาจากอัตราภาษีศูนย์หรือบางรายการสินค้ามีอัตราภาษีที่ต่ำมาก ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกและนำเข้า โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดหลักสำหรับสินค้าและบริการของกัมพูชา สำหรับเป้าหมายการส่งออกกัมพูชาคาดว่าการส่งออกจะโตร้อยละ 9.4-18 ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 2.0-3.8

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501696874/kingdoms-exports-to-rcep-up-nearly-8-in-first-4-months/

อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของเมียนมาในปีงบประมาณ 2024-2025

ตามข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ในปีงบประมาณ 2024-2025 (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึง 31 มีนาคม) อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของเมียนมา โดยมีปริมาณมากกว่า 605,000 ตัน รองลงมาคือ จีน เป็นผู้นำเข้าข้าวของเมียนมารายใหญ่เป็นอันดับสอง โดยนำเข้ากว่า 516,000 ตัน รองลงมาคือเบลเยียม 355,000 ตัน ฟิลิปปินส์ 134,000 ตัน บังกลาเทศ 105,000 ตัน เซเนกัล 96,600 ตัน โกตดิวัวร์ 60,800 ตัน โปแลนด์ 57,200 ตัน สเปน 48,600 ตัน โมซัมบิก 44,200 ตัน แคเมอรูน 27,100 ตัน อังกฤษ 22,800 ตัน เนเธอร์แลนด์ 20,000 ตัน โตโก 17,000 ตัน และอิตาลี 16,100 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สถิติของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ระบุว่าการส่งออกข้าวและข้าวหักของเมียนมาพุ่งสูงถึง 2.48 ล้านตันในปีงบประมาณ 2024-2025 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าประมาณ 1.129 พันล้านดอลลาร์ จากเป้าหมายของสหพันธ์ที่จะส่งออกข้าวให้ได้ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2024-2025 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังทำงานร่วมกับสหพันธ์ต่างๆ หอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออกรายเดือนและอำนวยความสะดวกในการส่งออก

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/indonesia-tops-myanmars-rice-import-chart-for-fy2024-25/#article-title

‘ภาษีทรัมป์’ ฉุดผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์เวียดนาม แข่งขันกับเวลา 90 วัน

พอล หยาง รองประธานของโรงงานที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามให้กับบริษัทชั้นนำ เช่น Williams-Sonoma และ Crate & Barrel Holdings ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าชาวอเมริกันให้ทำการจัดส่งเร็วขึ้นในช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก่อนที่ได้รับความเสี่ยงจากการจัดเก็บภาษีสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะพุ่งสูงเกินควร สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสุดท้ายในการสร้างรายได้จากฐานลูกค้าที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจเวียดนาม 400 พันล้านดอง หรือประมาณ 525 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเวียดนามไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก่อนที่สหรัฐฯ จะระงับเก็บภาษีสิ้นสุดลง

ที่มา : https://www.straitstimes.com/business/economy/us-china-trade-war-threatens-to-crush-vietnams-manufacturing-economy

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เกือบ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2024

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานว่าในปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า และอุปกรณ์เดินทาง มูลค่ารวม 1.39 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปีก่อน โดยแบ่งเป็นการส่งออกเสื้อผ้ามูลค่า 9.79 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 สินค้ากลุ่มสิ่งทอมูลค่า 499 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 สินค้ากลุ่มรองเท้ามูลค่า 1.68 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และอุปกรณ์เพื่อการเดินทางมูลค่า 1.95 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 ด้าน Hoe EeKhor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ AMRO ระบุว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์เดินทางยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชา โดยการเติบโตในปี 2024 มาจากความต้องการสินค้าบริโภคที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มดังกล่าวรวมประมาณ 1,538 แห่ง และก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 913,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501627508/cambodias-exports-of-garments-textiles-shoes-travel-goods-hit-nearly-14-bln-in-2024/