“ไทย” เดินหน้าเป็นเจ้าภาพอาเซียน จัดโต๊ะคุยรัฐบาลเมียนมา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ส่งคำเชิญไปยังนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา เพื่อเป็นหัวหอกในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ในวันที่ 18-19 มิ.ย. ทั้งนี้ จากการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ระบุว่ากระบวนการการเจรจาจะเป็นไปตามข้อเสนอแนะจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว และได้เน้นย้ำถึงบทบาทของฉันทามติ 5 ข้อ”ของอาเซียนที่ต้องปฏิบัติตามและมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน คือ ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยต้องเจรจาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/national-politics/thailand-host-asean-delegates-myanmar-discussion

นักท่องเที่ยว ไทย-เวียดนาม ยังคงเป็นกลุ่มสำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยวกัมพูชา

หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชาเปิดเผยว่านักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของกัมพูชา โดยในช่วงไตรมาสแรกมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมายังกัมพูชากว่า 570,000 คน นักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม 285,000 คน และนักท่องเที่ยวชาวจีน 184,000 คน ซึ่งหากนับรวมกับนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นๆ จะมีปริมาณนักท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 1.72 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 600 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้าน Thong Khon รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคาดว่าจะมีเที่ยวบินตรงจากจีนมายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น อีกทั้งทางการกัมพูชากำลังเร่งพัฒนาสนามบินใหม่สองแห่งที่มีระยะทางห่างจากเสียมราฐประมาณ 50 กม. ซึ่งมีกำหนดเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 และแห่งที่สองห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 20 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2024 ด้วยเหตุผลข้างต้นคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมายังกัมพูชาอย่างน้อย 4 ล้านคนในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501309801/asean-neighbours-thailand-and-vietnam-the-largest-groups-of-tourists-entering-cambodia/

พาณิชย์แนะค้าปลีกไทยเจาะตลาดเวียดนามทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ถึงโอกาสในการขยายตลาดการค้าปลีกของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม และการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการขยายโอกาสทางการขายเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคของเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโต

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพสูงและคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 และจะมีสัดส่วน 59% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ในประเทศทั้งหมดทำให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม ผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศต่างปรับเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและปรับปรุงเพื่อการส่งออก รวมทั้งมีการลงทุนในอีคอมเมิร์ซเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่มีกว่า 50% ของประชากรประมาณ 100 ล้านคน

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/397177/

ไทยใช้เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ขนส่งทุเรียนไปยังฉงชิ่งภายใน 88 ชั่วโมง

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทุเรียนและผลไม้ประเภทต่างๆ ประมาณกว่า 500 ตัน รายงานโดยบริษัทขนส่ง China Railway Materials เมื่อวันวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งลักษณะการขนส่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 28 ตู้ ส่งตรงไปยังศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟ Xiaonanya ของฉงชิ่ง ใช้เวลาการขนส่งภายใน 88 ชั่วโมง นับเป็นการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงสวนผลไม้กับตลาดค้าปลีกในฉงชิ่ง ขณะที่ Deng Haoji ผู้จัดการจาก บริษัท Chongqing Hongjiu Fruit กล่าวว่า การขนส่งดังกล่าวลดระยะเวลาด้านการขนส่งลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งในอดีต โดยทางการ สปป.ลาว ยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ตามรายงานของกรมศุลกากร (GAC) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.59 ล้านล้านหยวน (3.6 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรก คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Direct_y23.php

นายกฯ พอใจ เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย พ.ค. เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำที่สุดในอาเซียน

วันที่ 14 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศไทย พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลายและต่ำที่สุดในอาเซียน โดยล่าสุดข้อมูลกระทรวงพาณิชย์รายงานระบุดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล เม.ย. 2566) โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7-2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/politic/2701703

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

กัมพูชา-ไทย เปิดตัว QR code โอนจ่ายข้ามพรมแดน เฟส 2

กัมพูชาและไทยเปิดตัวระบบชำระเงิน QR code ข้ามพรมแดน ผ่านระบบธนาคาร เป็นระยะที่ 2 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงกระตุ้นภาคการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างพิธีเปิดตัวระบบการชำระเงินนำโดย Chea Chanto ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในเฟสแรกของโครงการได้เปิดตัวในปี 2020 สำหรับการทำธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชาในปี 2021 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 415.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 102 พันล้านดอลลาร์) โดยจำนวนบัญชี e-Wallet ที่ลงทะเบียนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 19.5 ล้านบัญชี และจำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 708 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านครั้ง แสดงถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีในการชำระเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501303481/cambodia-thailand-launch-cross-border-qr-payment-phase-ii/

พลังงานเผยช่วง 4 ด.ใช้น้ำมัน/วันเพิ่ม 3.1%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รอบ 4 เดือน ของปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 158.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.1 และคาดว่าในครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – เมษายน ของน้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 74.63 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 3.4 เนื่องจากเดือนเมษายน 2565 มีการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วสูงเนื่องจากการคลายความกังวลของประชาชนจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COIVD-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.89 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 92.4 ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.18 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.3 การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 ในส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาณการนำเข้ารวม เฉลี่ยอยู่ที่ 1,098,731 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ปริมาณส่งออกรวม อยู่ที่ 151,539 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 2.6 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,164 ล้านบาท/เดือน ขณะที่ การคาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2566 คาดว่า น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 น้ำมันกลุ่มดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 น้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 โดยการคาดการณ์ของกรมสอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2566 ทุกชนิดจะกลับมาใกล้เคียงกับในปี 2562 ยกเว้นน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เนื่องจากหลายประเทศยังคงมาตรการจำกัดการเดินทาง ประกอบกับสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_563394/

เงินเฟ้อ พ.ค. อ่อนแรงรอบ 21 เดือน ขึ้นแค่ 0.53% พณ.กางปัจจัยกดเงินเฟ้อต่ำต่อ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 สูงขึ้น 0.53% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลดลง 0.71% จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และดัชนีต่ำสุดรอบ 21 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2564 นายวิชานัน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาสินค้าหมวดอาหารสดชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปีนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก และหากเทียบอัตราเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ อิงตัวเลขเดือนเมษายน 2566 พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ และเทียบทั่วโลก 136 ประเทศ ไทยต่ำในอันดับ 14 นายวิชานันกล่าวต่อว่า สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 1.55% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลบ 0.06% จากเดือนเมษายนปีนี้ที่สูงขึ้น 1.66% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก 2566 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูง 2.96% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานสูง 1.98%

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4015097

ด่านชายแดนมุต่อง “เมียนมา-ไทย” ดันส่งออกผลไม้พุ่งทะยาน เดือน พ.ค.

ตามรายงานระบุว่าผลไม้ที่จะส่งออกไปยังอำเภอมะริด เขตตะนาวศรี ผ่านด่านมุต่อง (Mawtaung) บริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย ในเดือน พ.ค. นับว่าเป็นการส่งออกผลไม้ครั้งใหญ่ที่สุดของเมียนมา โดยผลไม้ที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ชมพู่ ส้ม สละ ขนุน และแก้วมังกร ราคาปัจจุบันของชมพู่กิโลกรัมละ 19.44 บาท ส้มกิโลกรัมละ 9.69 บาท สละกิโลกรัมละ 6.45 บาท และแก้วมังกร 6.81 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ค่ายด่านมุต่องได้กำหนดว่าต้องนำเข้าผลไม้ 24 ตัน นับตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พ.ค.

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailands-mawtaung-border-exports-most-fruits-in-may/#article-title