“เมียนมา” อนุญาตส่งออกเครื่องประดับเพชร

กระทรวงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ ภายใต้รัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยว่าอนุญาตให้ทำการส่งออกเครื่องประดับเพชรไปยังต่างประเทศได้ ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ ห้ามให้มีการส่งออกเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเพชร แต่ปัจจุบันรัฐบาลทหารเมียนมาอนุญาตให้ส่งออกเครื่องประดับเพชรได้แล้ว โดยผู้ค้าเพชรรายหนึ่งกล่าวว่าหลังจากเมียนมาอนุญาตให้ส่งออกเครื่องประดับเพชรไปยังต่างประเทศได้ ส่งผลให้ผู้ค้าสามารถทำการค้าขายได้มากขึ้น เพราะสามารถนำเครื่องประดับเพชรที่ทำมาจากทองนำมาขายได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จากการประกาศของกระทรวงฯ ยังมีข้อห้ามส่งออเพชรเจียระไน นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนคำนิยามของคำว่า ‘เพชร’ เปลี่ยนมาเป็น ‘เพชรหยาบและเจียระไน ซึ่งยังไม่ได้ทำเป็นเครื่องประดับ’

ที่มา : https://mizzima.com/article/myanmar-diamond-jewelry-export-allowed

กัมพูชาได้รับการอนุมัติในการส่งออกพริกไทยไปยังจีน

สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุมัติข้อเสนอการส่งออกพริกไทยของกัมพูชาไปยังจีน โดยได้อนุมัติโรงงานผลิตพริกไทยในกัมพูชา 7 แห่ง รวมถึงฟาร์มพริกไทยที่ได้จดทะเบียนในการเพาะปลูก 28 แห่ง สำหรับการส่งออกพริกไทยไปยังจีน ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยในประเทศคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการอนุมัติในครั้งนี้ โดยจะช่วยเพิ่มการผลิตและการกระจายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งพริกไทยถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง เนื่องจากเป็นเครื่องเทศชนิดแรกของกัมพูชาที่ได้รับการอนุมัติให้ส่งออกโดยตรงไปยังจีนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่ได้ระบุว่าการส่งออกสินค้าครั้งแรกจากกัมพูชาจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยตั้งแต่ต้นปี 2022 กัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 6,000 เฮกตาร์ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยปีละ 20,000 ถึง 30,000 ตัน ขณะที่รายงานระบุว่ากัมพูชาส่งออกพริกไทยไปยังต่างประเทศจำนวนกว่า 822,654 ตัน ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ด้านสมาพันธ์พริกไทยและเครื่องเทศกัมพูชา กล่าวว่า ราคาพริกไทยในปัจจุบันอยู่ระหว่าง 3,000-3,500 ดอลลาร์ต่อตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501290261/cambodian-pepper-gets-china-approval-for-direct-exports/

Q1 กัมพูชา ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม RCEP ขยายตัวร้อยละ 16

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.89 พันล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ขยายตัวร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งประเทศส่งออกสามอันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่ม RCEP ได้แก่ เวียดนาม ที่มูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์, ไทย มูลค่า 958 ล้านดอลลาร์ และจีน มูลค่า 328 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชาส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนที่มูลค่ารวม 2.53 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงไทยที่มูลค่า 957 ล้านดอลลาร์ และ เวียดนามที่มูลค่า 440 ล้านดอลลาร์ โดยข้อตกลง RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ร่วมกับ 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)  ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่าสูงถึง 6.34 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501290262/cambodia-q1-exports-to-rcep-countries-up-16/

ม.ค.-เม.ย. การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลง 25.17%

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลงร้อยละ 25.17 ที่มูลค่ารวม 2.149 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 7,234.123 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ตามการรายงานล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) แสดงถึงการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยในเดือนเมษายนการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลงถึงร้อยละ 32.65 คิดเป็นมูลค่า 494.924 ล้านดอลลาร์ เทียบกับการส่งออกในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ 735.35 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (ผ้าถัก) ปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 31.8 คิดเป็นมูลค่า 347.692 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 510.021 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (ไม่ถักแบบนิตติ้ง) ลดลงร้อยละ 8 ที่มูลค่า 147.232 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501289922/cambodias-apparel-exports-down-25-17-to-2-149-billion-in-jan-apr-2023/

“เมียนมา” เผยเดือน เม.ย. ส่งออกข้าวลดลง 47,888 ตัน

กลุ่มสหพันธ์ข้าวของเมียนมา (MRF) เปิดเผยว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาในเดือน เม.ย. 2566 ลดลงเหลือ 47,888 ตัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 144,034.86 ตัน โดยมาเลเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในเดือน เม.ย. ด้วยปริมาณ 8,050 ตัน ขณะที่เบลเยียมเป็นผู้นำเข้าข้าวหัก (Broken Rice) มากที่สุดจากเมียนมา มีปริมาณการนำเข้าสูงถึง 15,725 ตัน ทั้งนี้ เมียนมาทำรายได้จากการส่งออกข้าวและปลายข้าว อยู่ที่ 853,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นปริมาณการส่งออกมากกว่า 2.2 ล้านตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 นอกจากนี้ ข้าวเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในเมียนมา รองลงมาถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses)

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2023/05/10/myanmar039s-rice-exports-decline-to-47888-tonnes-in-april

เมษายน สปป.ลาว ขาดดุลการค้าแตะ 17 ล้านดอลลาร์

สปป.ลาว ขาดดุลการค้า 17 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเมษายน โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวรวมอยู่ที่ 947 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกแตะ 465 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้ารวมอยู่ที่ประมาณ 482 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่ ทองคำผสมและทองคำแท่ง, เกลือ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษ สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล, ยานพาหนะทางบก และอุปกรณ์เครื่องจักรกล เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten88_laostrade_y23.php

ส.อ.ท. คาดส่งออกอาหารโต 1.5 ล้านล้านบาท จากความต้องการทั่วโลกสูงขึ้น

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยหลังหารือร่วมกับภาคเอกชน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากปีที่ผ่านมา และเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ ความต้องการของทั่วโลกที่สูงขึ้น จากการเปิดประเทศหลังโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหาร ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร ทำให้หลายประเทศสำรอง อาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะอาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย เมื่อจีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการซีโร่ โควิด ทำให้ปริมาณการค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้า ที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นรากฐานและเป็นซอฟต์เพาเวอร์ หากได้รับการสนับสนุน จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนฐานราก ช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงได้ “ไตรมาส 1 ปีนี้พบว่า ไทยส่งออกอาหารได้ 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 37%, ข้าว เพิ่มขึ้น 29%, ไก่ เพิ่มขึ้น 14%, ผลไม้สด เพิ่มขึ้น 59% แต่ยังมีสินค้าที่หดตัว เพราะวัตถุดิบลดลง ราคาสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และคาดว่าไตรมาส 2 การส่งออกจะหดตัว และกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง”

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/feature/2692913

Q1 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ แตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 2,499 ล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยสำนักงานสำมะโนสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์ ลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 10.9 โดยในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมสูงถึง 856 ล้านดอลลาร์ สำหรับการนำเข้าของกัมพูชา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 22 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ โดยสิทธิพิเศษดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณามอบสิทธิพิเศษอีกครั้ง ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501286675/cambodias-q1-export-to-us-tops-2-5-billion/

ความต้องการเครื่องแต่งกายของกัมพูชา ในญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.201 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.68 จากปีก่อน ขณะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 มูลค่าการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นพุ่งแตะ 334.145 ล้านดอลลาร์ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการสินค้าประเภทดังกล่าวของญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรการส่งออก เคหะสิ่งทอ (Home Textile) ไปยังญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มลดลง ซึ่งในปี 2022 ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือมูลค่ารวม 17.327 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลเชิงลึกของ Fibre2Fashion ด้วยเครื่องมือ TexPro

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285723/japans-demand-for-cambodian-apparel-grows-home-textiles-lose-ground/

ยอดการค้าระหว่างกัมพูชา-ญี่ปุ่น แตะ 1.948 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 65

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าเทียบเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์แห่งใหม่ที่ท่าเริอน้ำลึกสีหนุวิลล์ (PAS) และงานครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกัมพูชา-ญี่ปุ่น รวมถึงครบรอบ 137 ปี วันแรงงานสากลแห่งชาติ ที่เมืองสีหนุวิลล์ ในขณะเดียวกันได้มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.173 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หวังว่าการส่งออกของประเทศไปยังญี่ปุ่นนั้น จะได้รับการส่งเสริมจากนายอุเอโนะ อัตสึชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501282910/bilateral-trade-between-cambodia-and-japan-worth-1-948-billion-in-2022/