EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี’66 ขยายตัวแกร่ง แต่ต่ำกว่าศักยภาพก่อน COVID-19

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5% สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% อีกทั้ง เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2023/02/eic-expects-stronger-clmv-economic-growth-in-2023/

ที่ประชุมรมว.ระหว่างภูมิภาคฯ ร่วมวางยุทธศาสตร์ฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดโควิด-19

รมว.ท่องเที่ยวกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ได้ร่วมหารือให้มีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในภูมิภาค ในการประชุมครั้งที่ 5 ของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพื่อร่วมกันวางแผนการท่องเที่ยวหลังการระบาดของโควิด-19 โดยประเทศสมาชิกจะเสนอสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย การจัดแคมเปญการตลาด กำหนดมาตรฐานและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย โดย 9 เดือนแรกของปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกลุ่มประเทศ CLMV มีจำนวนมากกว่า 4.7 ล้านคน โดย 2 ล้านคนเป็นนักท่องเที่ยวที่เป็นประชากรของ CLMV คิดเป็น 42.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสปป.ลาวมากกว่า 600,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในสิ้นปีนี้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten216_Region.php

สื่อยอดนิยม CLMV แตกต่างจากไทย

โดย MI Group I Marketeer

CLMV คืออีกหนึ่งเป้าหมายที่แบรนด์ไทยต้องการไป แต่การไป CLMV ความท้าทายคือการเลือกใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นสื่อที่มีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าสื่อ Traditional เพราะผู้บริโภคในแต่ละประเทศ มีพฤติกรรมในการเสพสื่อไม่เหมือนกัน

จากข้อมูลของ MI Group ทำให้เราเห็นว่าแม้เฟซบุ๊กจะเป็นโซเชียลมีเดียหลักที่คนแต่ละประเทศใน CLMV เสพ แต่ถ้ามองลึก ๆ ลงไปในสื่อโซเชียลอื่น ๆ พบว่าผู้บริโภคแต่ละประเทศเสพสื่อไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในประเทศไทยโซเชียลมีเดียยอดนิยมประกอบด้วย Facebook  64.4%, IG  11.5%, TikTok 7.6%, LINE   7.0%

  • กัมพูชา : Facebook 6%, Telegram 23.3%, Messenger 5.9% และ TikTok 3.9%
  • สปป.ลาว : Facebook5%, YouTube 13.3%, TikTik 11.6% และ Messenger 4.6%
  • เมียนมา : Facebook 73.7%, Messenger 4.8%, TikTok 4.4% และ Telegram 5%
  • เวียดนาม : Facebook 74.1%, TikTok 9.2%, Messenger 6.3% และ IG 6.0%

อ่านต่อ : https://marketeeronline.co/archives/285391

สรท.หวังส่งออกปีนี้โต 10% อานิงสงส์จากเงินบาทอ่อน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  สรท.คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ทั้งปีที่ 6-8%  โดยมีปัจจัยบวกมาจากค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (PMI) เดือนมิ.ย.ของประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น สหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น ยังทรงตัวเหนือเส้น Baseline ระหว่าง 50-60 ขณะที่จีนเริ่มฟื้นกลับมาเหนือระดับ Baseline หลังจากก่อนหน้า PMI หดตัวต่ำกว่าที่คาดสะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1. ขอให้ธปท. คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ และขอให้ธนาคารพาณิชย์ เร่งออกแคมเปญเพื่อช่วยเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการส่งออกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต  เร่งสร้างโอกาสทางการในตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เช่น CLMV รวมถึงตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1018581

ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ CLMV ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3233119

EIC CLMV Outlook Q1/2022

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเทียบกับปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 การทยอยเปิดพรมแดนตามอัตราการฉีดวัคซีนในภูมิภาคที่สูงขึ้น และภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 4.8%, สปป.ลาว 4.0%, เมียนมา 0.5% และเวียดนาม 6.5% ในปีนี้

 

ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ CLMV ได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง (สู่หลักร้อยต่อวันในทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการฉัดวัคซีนที่สูงขึ้น (กัมพูชาฉีดครบโดสแล้ว 81.8% ของประชากร, สปป.ลาว 58.7%, เมียนมา 38.4% และเวียดนาม 78.5% ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565) และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตามการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19 อย่างปลอดภัย ขณะที่ภาคการส่งออกก็กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ได้เริ่มมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว หรือลดเวลาการกักตัวลง หากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว EIC มองว่ามาตรการควบคุม COVID-19 ในเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 จะผ่อนคลายกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์จากนอกประเทศจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

อุปสงค์ภายในประเทศของเศรษฐกิจ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่จะยังเผชิญปัจจัยกดดันจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงรายประเทศ ข้อมูลจาก Google Mobility ซึ่งแสดงถึงภาวะกิจกรรมของประชากรไปร้านค้าปลีกและสถานที่นันทนาการ (Retail and Recreation) ฟื้นตัวในเกือบทุกประเทศยกเว้นเมียนมา สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การจ้างงานในกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการบริการ โดยล่าสุดอัตราการว่างงานในประเทศเวียดนามลดลงสู่ระดับ 3.6% ในไตรมาส 4 ปี 2564 จาก 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ไทยก็มีแนวโน้มเปิดรับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งเงินกลับ (Remittances) กลุ่มประเทศ CLMV สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ความเร็วในการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานะทางการคลังและสถานการณ์ภายในประเทศ โดย EIC คาดว่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีสถานะทางการคลังแข็งแรงเพียงพอ จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม ล่าสุดกัมพูชาได้ขยายเวลามาตรการสนับสนุนเงินเยียวยาครัวเรือนไปถึงเดือนกันยายน 2565 ขณะที่เวียดนามได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4% ของ GDP ซึ่งจะเบิกจ่ายในระหว่างปี 2565-2566 ขณะที่สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเผชิญข้อจำกัดทางการคลังจะไม่สามารถออกมาตรการที่เพียงพอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมียนมาซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้าที่สุดเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศและมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) จากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงมีอยู่จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 เช่น อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด COVID-19 ที่อาจปรับลดลงอย่างช้า ๆ เนื่องจากแรงงานบางกลุ่มได้ย้ายงานไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นในช่วงการระบาด และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

 

ด้านภาคต่างประเทศ EIC คาดว่าการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ ขณะที่การค้าชายแดนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดพรมแดน ภาคการส่งออกคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคลี่คลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ขณะที่อุปสงค์ต่อสินค้า CLMV ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ต่อสินค้ากลุ่ม New Normal เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูง เวียดนามคาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากปัจจัยนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเกื้อหนุนให้การส่งออกเวียดนามขยายตัวถึง 19.0%YOY ในไตรมาส 4 ปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนใหม่จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกโดยรวมคาดว่าจะชะลอลงจากปีที่แล้วตามฐานที่สูงขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจนำไปสู่การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอีกรอบได้ ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามประเทศเศรษฐกิจหลักในภูมิภาคที่ฟื้นตัวและการเปิดประเทศต้อนรับผู้เดินทางโดยไม่ต้องกักตัว RCEP จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในธุรกิจที่จะได้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากจีนภายใต้ Belt and Road Initiative ในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟสปป.ลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) ที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่เวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องจากที่ตั้งที่ติดจีน กำลังแรงงานที่มีจำนวนมากและยังอายุน้อย และสนธิสัญญาการค้าเสรีกับหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม โดยกัมพูชาได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ในปีที่ผ่านมา เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุน ขณะที่เวียดนามได้ออกสิทธิพิเศษทางภาษีชุดใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาคาดว่าจะเป็นไปได้อย่างจำกัดตามการชะงักงันในหลายภาคเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลงจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติและความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์องค์กร

 

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากลุ่มประเทศ CLMV จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในปีนี้ โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงครึ่งแรกของปี EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงซบเซาเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนและมาตรการกักตัวที่ยังคงมีอยู่ เช่น เวียดนามบังคับกักตัว 3 วัน แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือลาวที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศผ่านการจองกรุ๊ปทัวร์เท่านั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง EIC มองว่ามาตรการเหล่านี้จะผ่อนคลายขึ้นตามอัตราการฉีดวัคซีนที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลเรื่องสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ในบรรดากลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชาเป็นประเทศแรกที่เปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ขณะที่เวียดนามเตรียมจะเปิดประเทศในกลางเดือนมีนาคม โดยมีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวยังต้องกักตัวหนึ่งวันเพื่อรอผลตรวจเชื้อ ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าก่อนการระบาดอยู่มาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับ CLMV เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะยังไม่อนุญาตให้ประชากรของตนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ภายในปีนี้

 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ CLMV ที่ต้องจับตามองในปี 2565 ได้แก่

1) สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

2) อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังค่อนข้างต่ำในสปป. ลาวและเมียนมา

3) เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจ CLMV

4) ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินของเศรษฐกิจ CLMV กำลังอ่อนค่า

5) เสถียรภาพทางการคลังและการเงินในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาว และเมียนมา ที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงเทียบกับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะประเทศก็ยังคงมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมาที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างจำกัด

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่สูงขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกไทยไปยัง CLMV คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงโดยมีปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง ได้แก่ โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้สูง และการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเปิดเพิ่ม 12 ด่านในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงการเลื่อนการเปิดด่านค้าชายแดนออกไปหากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและมาตรการเปิดรับนักเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว โดยเวียดนามคาดว่าจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนจากไทยสูงสุดต่อไป ขณะที่การลงทุนในเมียนมาจะซบเซาอย่างมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเดินทางเข้าไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มคลี่คลาย หากไทยสามารถทำข้อตกลงจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ (Travel Bubbles) กับประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้โดยเฉพาะผู้เดินทางผ่านด่านชายแดน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงในการตรวจเชื้อ COVID-19 และการทำประกันการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวจาก CLMV ในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโอกาสการจ้างงานในไทยที่สูงขึ้น มาตรการกักตัวที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง และนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในไทยซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ประมาณ 2.16 ล้านคน ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวยังยืดเยื้อต่อไป อาจนำไปสู่ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ที่มา :

/1 https://www.scbeic.com/th/detail/product/8153

/2 http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256562334

EIC CLMV Outlook Q3/2021

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2021 สร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV แม้ว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวได้สูงอาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้บางส่วน

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การระบาดของ COVID-19 ใน CLMV ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงและสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางอยู่เดิมก่อนแล้ว โดยการควบคุมการระบาดระลอกปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถควบคุมการระบาดในรอบก่อนหน้าได้ดี แต่ในครั้งนี้ การระบาดของเวียดนามกลับอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศมาตรการ lockdown เข้มงวด เช่นเดียวกับเมียนมาที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่บุคลากรทางการแพทย์กลับไม่เพียงพอจากความไม่สงบทางการเมือง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในกัมพูชาและสปป.ลาว ก็มีสูงกว่ารอบก่อนหน้า แต่ยังมีจำนวนต่ำกว่าอีกสองประเทศข้างต้น

สำหรับอุปสงค์ภายนอก ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV ยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การส่งออกจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างที่อาจทำให้มีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ และอาจกลายเป็นปัจจัยฉุดภาคการส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2021 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในระยะต่อไป ได้แก่

1) มาตรการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาได้

2) ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการคลังและการเงินที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3) ปัจจัยความเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความไม่สงบทางการเมืองของเมียนมา และความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะของสปป. ลาว

กัมพูชา

+ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้แข็งแกร่งและความสำเร็จในการกระจายการส่งออกไปยังหลายสินค้ามากขึ้น (export diversification)

+มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการฉีดวัคซีนที่ดำเนินการได้ย่างรวดเร็วและสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

มาตรการ lockdown ที่เพิ่มความเข็มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าจะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังซบเซาจะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

สปป.ลาว

+การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่และการเปิดตัวใช้รถไฟจีน-สปป.ลาว ในเดือนธันวาคม

+การส่งออกที่ขยายตัวสูงจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

การยกระดับมาตรการ lockdown และการปิดพรมแดนอย่างเข็มงวดจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

เสถียรภาพการคลังที่น่ากังวล จากภาระหนี้สาธารณะในรูปเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินกีบอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ

เมียนมา

การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้เมียนมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีจำกัด

การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืน โดยมวลชนจะส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

การหยุดชะงักของระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะพื้นฐาน ได้แก่ การขนส่ง ระบบอินเทอร์เน็ต และการให้บริการของธนาคาร

ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง

เวียดนาม

+ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง

+ FDI ที่ลงทุนในเวียดนามยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า และจำนวนแรงงานที่มีมาก รวมถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ

เวียดนามเผชิญความยากลำบากในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน และส่งผลรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ความเสี่ยงการหยุดชะงักของอุปทานเนื่องจากปิดโรงงานที่ขยายระยะเวลาออกไปยังประเด็นที่ต้องจับตามอง

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7761

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

CLMV รับแรงหนุนที่แตกต่าง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104% ของ GDP   โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8% ของ GDP

ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60%​ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ในส่วนของประเทศสปป.ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ    โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ น่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนตรงมีเพียง 22% 

ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13% ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว  เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/CLMV-FB-28-06-21.aspx

บทบาทจีนใน CLMV จะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-19 ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่นอยู่

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในช่วงที่ผ่านมา บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV นับได้ว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า ผ่านยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งอิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ภายใต้ Belt and Road Initiative ซึ่งมีส่วนช่วยดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมืองที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ของจีน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่าง CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น

อนึ่ง การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังโดนซ้ำเติมจากความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกอันมีมูลเหตุจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดามาก่อน อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง (Regionalization) ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติการ หากฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน รวมถึงมีส่วนช่วยคานอิทธิพลด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ในทางอ้อม โดยความสำคัญของกลุ่ม CLMV ต่อจีนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหารเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food security) ที่ทางการจีนมุ่งเน้นภายใต้ยุทธศาสตร์ Dual Circulation นอกจากนี้ CLMV มีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี เวียดนามที่โดยพื้นฐานแล้วยังมีความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์กับจีนอยู่ซึ่งได้พยายามสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอื่นจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรกับทางสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจพยายามปรับสมดุล FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

อ่านต่อ : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-EPI-27-05-21.aspx