IMF คาดเศรษฐกิจ สปป.ลาว ปีนี้โตเฉลี่ยร้อยละ 4

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ถึงอย่างไรในรายงานของ IMF ช่วงเดือนเมษายน ได้ระบุว่าการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางและการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาครวมถึง สปป.ลาว กลับมาขยายตัว โดยหนึ่งในความท้าทายหลักสำหรับ สปป.ลาว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันที่กำลังสร้างผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคใน สปป.ลาว จะขึ้นไปแตะที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ในปีนี้ ถือเป็นอัตราสูงสุดที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียเกิดใหม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laoeconomy73.php

เลือกตั้งดัน GDP ไทย

จากข้อมูลธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 3.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เติบโตร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  หรือ IMF  ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  สิงคโปร์ และไทย

อย่างไรก็ตาม มีการจับตาปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะช่วยดันเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าช่วงการจัดกิจกรรมหาเสียงเต็มรูปแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง จะมีเม็ดเงินสะพัดทุกกิจกรรมลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระดับรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยดันจีดีพีไทยให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว 1-1.5% และคาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3-4% ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : https://siamrath.co.th/c/437831

ภาคการค้าและการท่องเที่ยว ยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของภาคการค้าและการท่องเที่ยวกัมพูชาต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ Economic Outlook for Southeast Asia, China and India 2023: Reviving Tourism Post-Pandemic ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยภาคการค้าถือเป็นส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นส่วนสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารและสินค้าของกัมพูชา ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นแรงขับเคลื่อนด้านการบริการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับพหุภาคี, ภูมิภาค, อนุภูมิภาค และทวิภาคี เพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศ ขณะที่ OECD ได้ระบุว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.3 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในปี 2022 โดยความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501269119/trade-and-tourism-sector-important-for-economic-growth/

ธนาคารโลกปรับแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาค หลังจีนเปิดประเทศ

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึง สปป.ลาว คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องคอยติดตามสถานการณ์ต่างๆ อาทิเช่น การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจโลก, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 5.1 ในปี 2023 จากการขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2022 ขณะที่ สปป.ลาว คาดว่าจะฟื้นตัวในเชิงบวกหลังจากทางการได้เปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง รวมถึงได้มีการเปิดเส้นทางเดินรถไฟระหว่างประเทศสาย สปป.ลาว-จีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten66_World_y23.php

กระทรวงฯ ชี้เวียดนามเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2566

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเวียดนามเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% ในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกส่งสัญญาชะลอตัว 3.32% ลดลงจาก 5.92% ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ตลอดจนการส่งออกหดตัว 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ทั้งนี้ สถานการณ์โลกยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-faces-challenge-meeting-2023-growth-target-planning-ministry-3393391

รัฐบาลกัมพูชาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ภาษี ฉบับใหม่

รัฐบาลกัมพูชาได้อนุมัติร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีฉบับใหม่ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและยกระดับภาคธุรกิจของกัมพูชา รวมถึงเพิ่มสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เอื้ออำนวย ลดช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษี โดยการอนุมัติดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เป็นประธาน ซึ่งร่างกฎหมายภาษีอากรฉบับใหม่ ประกอบด้วยตัวบทกฎหมาย 20 บท 255 มาตรา นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจกัมพูชาในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขณะที่กรมภาษีอากร (GDT) ได้รายงานการจัดเก็บภาษีในช่วงปี 2022 ที่มูลค่ารวม 3.45 พันล้านดอลลาร์ เกินเป้าหมายประจำปีถึง 2.81 พันล้านดอลลาร์ ที่ร้อยละ 22.54 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 สำหรับเป้าหมายในปี 2023 ทางการกัมพูชาตั้งเป้าจัดเก็บภาษีให้ได้ 3.57 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501266503/government-approves-new-draft-law-on-taxation/

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชายังคงขยายตัว แม้หลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มหดตัว

ธนาคารโลก (World Bank: WB) ระบุว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษ และมีความผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 ภูมิภาคนี้เริ่มมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงผลิตภาพขยายตัวเพียงเล็กน้อย แม้จะเปิดกว้างสำหรับภาคการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต ผลที่ตามมาคือ การเติบโตของผลิตภาพในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลายแห่งปรับตัวลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ถึงอย่างไรภาคอุตสาหกรรมของทั้งกัมพูชาและเวียดนามกลับมีการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดย WB คาดการณ์ GDP ของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265854/cambodia-is-regional-exception-to-falling-trend-in-manufacturing/

NBC กำหนดนโยบายทางการเงิน หวังลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ในระบบ

ภาคธนาคารถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายและรอบคอบเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง NBC ยังได้พยายามเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่าน เพื่อที่จะลดระดับความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียล (KHR) ที่เป็นสกุลเงินท้องถิ่น หลังจากการทบทวนเสถียรภาพทางการเงินปี 2021 ของ NBC ซึ่งปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของกัมพูชามีการใช้เงินดอลลาร์มากกว่าร้อยละ 80 จนส่งผลทำให้เกิดข้อจำกัดต่อบทบาทของ NBC ในการควบคุมปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ขณะที่ปัจจุบัน NBC ได้กำหนดกฎระเบียบที่มุ่งส่งเสริมทางด้านสินเชื่อโดยอ้างอิงสกุลเงินเรียล เพื่อผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศปล่อยสินเชื่อด้วยสกุลเงินเรียลอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263299/riel-based-deposits-and-lending-help-nbcs-de-dollarisation-efforts-2/

การล่มสลายของแบงก์ SVB ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม

Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนเพื่อการลงทุน VinaCapital กล่าวว่าการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (Silicon Valley Bank: SVB) จะไม่สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเวียดนาม และยังไม่พบความเสี่ยงจากเหตุการณ์ข้างต้นที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรหรือความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารในเวียดนาม ทั้งนี้ ธนาคารเวียดนามส่วนใหญ่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอยู่งบแสดงฐานะการเงิน และราคาพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 15% ตั้งแต่กลางปี ​​2564 และอัตราผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม อยู่ที่ราว 6% ของสินทรัพย์รวมของธนาคาร

นอกจากนี้ การล่มสลายของธนาคาร SVB ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 20% ของ GDP

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1500329/silicon-valley-bank-collapse-not-to-impact-vn-vinacapital.html

‘ภาวะเงินเฟ้อ’ กดดันประเทศในเอเชีย ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น

รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ฉบับใหม่ ระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงสปป.ลาว ผลักดันให้มีการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่แย่ลง ทั้งนี้ สปป.ลาว มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในเอเชีย และคนจำนวนมากมีรายได้ที่ต่ำ ทำให้ต้องหันไปซื้อสิ้นค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

อีกทั้ง สำนักงานสถิติของสปป.ลาว เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อ ในเดือน ก.พ.2566 เพิ่มขึ้น 41.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ 40.3% การปรับเพิ่มขึ้นของราคาในครั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (49.3%) ในขณะเดียวกัน แขวงคำม่วน มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของประเทศ (49.82%) รองลงมาแขวงเวียงจันทน์และแขวงหลวงพระบาง เป็นต้น

ที่มา : https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Inflation48.php