คาดกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

กัมพูชาคาดส่งออกข้าวสารไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น หลังสหภาพยุโรปเพิกถอนภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชา โดยในปี 2016 สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวจากประเทศกัมพูชาสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกข้าวสารกัมพูชา และค่อยๆ ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ราวร้อยละ 20 ในปีที่แล้ว ซึ่งประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กลุ่มเครือข่ายโรงสีข้าวและบริษัทผู้ส่งออก คาดว่าการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้  หลังจากได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) ตั้งแต่ในวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานด้านข้าวสนับสนุนให้สมาชิกและเกษตรกรกัมพูชา ผลิตข้าวหอมและข้าวคุณภาพสูง เพื่อรองรับการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป หลังได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องจ่าย 198 ดอลลาร์ต่อเมตริกตันในปีแรก 170 ดอลลาร์และ 142 ดอลลาร์ต่อเมตริกตันในปีที่สองและสามตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009997/milled-rice-export-to-eu-expected-to-increase/

กัมพูชารายงานถึงโครงการลงทุนมูลค่ารวม 1.716 พันล้านดอลลาร์

หลังจากทางการกัมพูชากำหนดกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งจูงใจสำคัญอย่างนึงให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา รวมถึงปัจจุบันกัมพูชาได้เข้าร่วมกลุ่ม RCEP และได้ทำการลงนามข้อตกลงการค้า FTA ร่วมกับจีน ตลอดจนได้รับสิทธิพิเศษ EBA จากสหภาพยุโรป และ GSP จากสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา พบว่าปัจจุบันมีโครงการลงทุนนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 107 โครงการ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 ลดลง 34 โครงการเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการลงทุนทั้งหมดมีมูลค่า 1.716 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 72.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในประเทศประมาณ 89,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501004396/investment-projects-worth-1-716-billion-registered-in-january-november/

EU ลงทุนในภาคการเกษตรกัมพูชาเพิ่ม 17 ล้านดอลลาร์

ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (EIB) ได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจำนวน 17.4 ล้านดอลลาร์ จากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อลงทุนในโครงการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในกัมพูชา โดย EIB จะลงทุนผ่านโครงการสินทรัพย์ที่ยั่งยืนสำหรับตลาดการเกษตร ธุรกิจและการค้า (SAAMBAT) ซึ่ง SAAMBAT ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของครอบครัวชาวกัมพูชาในชนบท จำนวน 200,000 ครอบครัว และถือเป็นส่วนช่วยภาคธุรกิจในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรอบด้านและเป็นการรับประกันการจัดหาวัตถุดิบด้านการเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานเชื่อถือได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นอีกราว 4,500 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD), EIB และรัฐบาลกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50947058/europe-invests-another-17-million-to-modernise-the-kingdoms-agriculture/

สปป.ลาวส่งออกข้าว 50 ตันแรกไปยังสหภาพยุโรป

สปป.ลาวส่งออกข้าว 50 ตัน ไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่า 29,000 เหรียญสหรัฐ การจัดส่งข้าวพันธุ์ทาดอกคำ-8 (TDK8) ครั้งแรกถูกจำหน่ายให้กับเบลเยียมโดยบริษัท Champahom Trading Import-Export Sole Co., Ltd. การขายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวเพื่อการพาณิชย์ภายใต้กระทรวงเกษตรและป่าไม้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยได้รับเงินทุนจากธนาคารโลก ดร.บุญวง คำบุนเฮือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ กล่าวกับเวียงจันทน์ไทมส์ “รัฐบาลสปป.ลาวมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวเป็น 3,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ผู้ซื้อชาวยุโรปจำนวนมากต้องการซื้อข้าวจากลาวเนื่องจากการทำเกษตรกรรมปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักสำหรับเกษตรกรในการผลิตข้าวคือมาตรฐานที่เข้มงวดตามที่ประเทศในสหภาพยุโรปกำหนด”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_exports_194.php

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลุยหารือฟื้นเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนก.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ผ่านการประชุมทางไกล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยการประชุมร่วมกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน การหารือเกี่ยวกับการเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยจะจัดประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นพ้องที่จัดประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นขึ้น

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/118394

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าปี 73 ก้าวเป็นศูนย์กลางอาหารทะเลแปรรูป

ภายในปี 2573 ตลาดอาหารทะเลแปรรูปของเวียดนาม จะมีมูลค่าสูงถึง 40-45 ล้านล้านดอง (1.75-1.97 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ส่งผลให้ยอดการส่งออกอาหารทะเลอยู่ที่ 14-16 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมาจากแผนยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลปี 64-73 ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการผลิตที่มีความทันสมัยและยั่งยืน ตลอดจนตอบสนองกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ อีกทั้ง เพื่อเป็นไปตามแผนดังกล่าว กำลังการผลิตอาหารทะเลแปรรูปจะขยายเฉลี่ย 6% ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจะมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารทะเลของเวียดนาม อยู่ที่ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-aims-to-become-worlds-seafood-processing-hub-by-2030-318398.html

“เวียดนาม” ส่งออกไปอียูพุ่ง 15.5%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่ามูลค่าจากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 22.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, รองเท้า, เครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้า, อาหารทะเล, กระเป๋าถือและกระเป๋าสตางค์ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าของเวียดนามจากสหภาพยุโรป อยู่ที่ 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนามที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เวียดนามได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-sees-155-percent-rise-in-exports-in-eu-market/205702.vnp

สหภาพยุโรปให้คำมั่นสัญญา 42.9 ล้านยูโรเพื่อจัดการกับผลกระทบของ Covid-19 ต่อการศึกษาและโภชนาการ

สหภาพยุโรป (EU) จะให้เงิน 42.9 ล้านยูโรแก่สปป.ลาว เพื่อจัดการกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่มีต่อการศึกษาและโภชนาการ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป เข้าเยี่ยมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Mr Bounchom Oubonpaseuth เพื่อแจ้งให้เขาทราบถึงผลในเชิงบวกของการประเมินโครงการสนับสนุนงบประมาณการศึกษาและโภชนาการของสหภาพยุโรป เงินทุนดังกล่าวจะจัดสรรเงิน 26.4 ล้านยูโร (318 พันล้านกีบ) สำหรับโครงการสนับสนุนงบประมาณการศึกษาและ 16.4 ล้านยูโร (197 พันล้านกีบ) สำหรับการสนับสนุนงบประมาณด้านโภชนาการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ สปป. ลาว” การสนับสนุนนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการขาดดุลงบประมาณหรือภาระผูกพันทางการเงินแต่เป็นการช่วยให้รัฐบาลรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และความต้องการของนักเรียนและประชากรที่อ่อนแอของสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_EU142.php

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

เวียดนามได้รับอนุมัติให้ส่งออกอาหารที่ทำมาจากแมลงไปยังสหภาพยุโรป

กฎระเบียนคณะกรรมกรรมาธิการยุโรป “2021/171” เผยเวียดนามได้ให้หลักฐานและใบรับรองต่อกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อให้ได้รับการอนุมัติทำการส่งออกแมลงไปยังตลาดยุโรปได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ โดยก่อนหน้านั้นประเทศเวียดนาม แคนาดา  สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้และไทย ได้รับการอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากแมลงได้ ในแง่อีกมุมหนึ่งอาหารที่ทำมาจากแมลงได้รับการขนามว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต นอกจากนี้ กฎระเบียบของสหภาพยุโรปถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเวียดนามในอนาคต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-authorised-to-export-insectbased-food-to-eu/197735.vnp