‘เวียดนาม-อินโดนีเซีย’ ส่งออกเติบโตแข็งแกร่ง แม้เผชิญวิกฤตโควิด-19

ตามรายงานสถิติของกรมศุลากากรเวียดนาม ชี้ว่ายอดการส่งออกของเวียดนามไปยังอินโดนีเซียในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขของมูลค่าข้างต้นนั้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมของเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตสูง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของเวียดนามที่ขยายตัวแข็งแกร่ง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 167.3% ตามมาด้วยวัตถุดิบพลาสติก 95.1%, เหล็กและเหล็กกล้า 93.6% เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่วนใหญ่นำเข้าถ่านหินและน้ำมันพืชจากอินโดนีเซีย เป็นมูลค่า 894.12 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 24.7% ของยอดการนำเข้าทั้งหมดจากอินโดนีเซีย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/indonesia-vietnam-enjoy-robust-export-growth-despite-covid-19-threat-880054.vov

“เวียดนาม” ส่งออกไปอียูพุ่ง 15.5%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่ามูลค่าจากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 22.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, รองเท้า, เครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้า, อาหารทะเล, กระเป๋าถือและกระเป๋าสตางค์ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าของเวียดนามจากสหภาพยุโรป อยู่ที่ 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนามที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เวียดนามได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-sees-155-percent-rise-in-exports-in-eu-market/205702.vnp

กัมพูชาส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 27 แต่อุปสงค์จากจีนและเวียดนามกลับเพิ่มขึ้น

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศลดลงร้อยละ 27.3 ในช่วงเดือร ม.ค.-ก.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า การส่งออกลดลงเนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งกัมพูชาส่งออกข้าวสารเกือบ 310,000 ตัน ในช่วงเวลาดังกล่าว สร้างรายได้เกือบ 262 ล้านดอลลาร์ ภายใต้ผู้ส่งออก 58 ราย โดยจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่ทำการนำเข้าข้าวกัมพูชาในคิดเป็นเกือบ 154,000 ตัน ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามถือเป็นหนึ่งประเทศที่นำเข้าข้าวจากกัมพูชามากที่สุด ซึ่งนำเข้าข้าวมากกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 81 คิดเป็นมูลค่ากว่า 330 ล้านดอลลาร์ ส่วนทางด้านสหพันธ์ข้าวกัมพูชาได้เรียกประชุมฉุกเฉินเมื่อเดือนที่แล้ว ในการหารือเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้ส่งออกและโรงสี โดยสมาชิกกำลังพยายามหาผู้ซื้อมากขึ้นในจีนและตลาดในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาในการส่งออกข้าวไปยังยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50907302/rice-exports-plunge-27-percent-but-demand-from-china-and-vietnam-rises/

กัมพูชาอาจได้รับผลกระทบเชิงบวก หลังเวียดนามโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น

แผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดลองอันของเวียดนาม อาจมีส่วนช่วยทำให้การค้าข้ามพรมแดนของกัมพูชาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลองอันกำลังจัดตั้งศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง 6 แห่ง เพื่อช่วยส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของชุมชนท้องถิ่น โดยศูนย์ทั้งหมดเชื่อมต่อกับถนน แม่น้ำ และทะเล ที่ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการจัดส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งจังหวัดลองอันตั้งอยู่ติดกับตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชาระหว่างนครโฮจิมินห์ทางตอนเหนือและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยทั้งกัมพูชาและเวียดนามได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันการค้าระหว่างเวียดนามและกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 443 ในไตรมาสแรกของปี 2021 สู่มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และพืชผลทางการเกษตร ส่วนการส่งออกของเวียดนามมายังกัมพูชาเติบโตเกือบร้อยละ 16 คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็ก น้ำมันและก๊าซ รวมถึงเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50898290/cambodia-may-gain-from-vietnam-investing-in-better-infrastructure/

กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์มาแรง ไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่ในอาเซียน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาตลาดบรรจุภัณฑ์ในยุคโควิด-19 ของ สนค.ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย พบว่าบรรจุภัณฑ์เป็นที่ต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพราะกระแสความนิยมซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ และความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ การค้าบรรจุภัณฑ์โลกในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 110,985.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 57,813.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% และการนำเข้ามูลค่า 53,172.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% ผู้ส่งออกและนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน โดยไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2564 รวม 844.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 123.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.8% สัดส่วน 14.6% ญี่ปุ่น 122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.6% สัดส่วน 14.5% เวียดนาม 78.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.6% เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/589094

เวียดนามเผยการส่งออกอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปีนี้ ‘พุ่ง’

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนาม มีมูลค่า 523.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้า 188.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสหรัฐฯ และอินเดีย โดยเฉพาะการส่งออกของเวียดนามไปยังไทย มีมูลค่า 15.55 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนามไปยังจีน มีมูลค่า 211.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกไปยังกัมพูชาและสหรัฐฯ แตะ 122.3 และ 114.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% และ 125% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/animal-feed-exports-see-surge-in-h1/204933.vnp

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.

ตลาดส่งออกประเทศสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศปลายทางสำคัญของการส่งออกสินค้ากัมพูชาในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานในช่วงครึ่งปีแรกแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 3.019 พันล้านดอลลาร์ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯจำนวน 173 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 41 ซึ่งมูลค่าการค้าทวิภาคีปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 รวม 3.193 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 โดยการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเสื้อผ้า รวมถึงสินค้า เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้ US Generalized System of Preferences (GSP)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50897620/us-top-cambodian-export-destination-jan-june/

เมื่อไทยเริ่มไม่ใช่จุดสนใจของโลก ส่งออกไม่ดี ไม่มีเทคชั้นสูง ได้แค่รับจ้างผลิต นักลงทุนไทยยังหนี

โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research)

บทวิเคราะห์ของ KKP Research เกียรตินาคินภัทร จับสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจลดลงในหลายมิติ

มิติแรก “การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน” เช่น

  • ตลาดหุ้น ที่นักลงทุนต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง
  • นักลงทุนในไทยก็เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2021 รับเพียงในไตรมาส 1 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท

มิติที่สองคือ “การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ” เช่น

  • ในปัจจุบันต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค
  • ในขณะที่บริษัทไทยก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน

มิติที่สามคือ “การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก” ดังนี้

  • ในปี 2021 การส่งออกทั่วภูมิภาคขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว
  • แต่สัญญาณที่เราเห็นคือ การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยมีสัดส่วนของสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นและต่างชาติกำลังมีความต้องการสินค้าไทยลดน้อยลง

ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ดังต่อไปนี้ สาเหตุในชั้นแรก เกิดจากสินค้าส่งออกหลักของไทยปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ โดยสินค้าใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ สินค้าเกษตรและปิโตรเคมี

สาเหตุในชั้นที่สอง ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางเฉพาะรถยนต์

ในขณะที่ไม่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่การส่งออกในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชัดเจน

  • เมื่อเทียบกับต่างประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่น้อยกว่าภูมิภาค คือ 19%
  • เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดเท่านั้นในปี 2019 เทียบกับเวียดนามที่ 28% และเอเชียที่ 26%
  • ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพียง 2.2% ในขณะที่เอเชียโตเฉลี่ยถึง 6.6%

โครงสร้างการส่งออกที่ยังเป็นสินค้าแบบเก่า ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ที่บริษัทไทยสร้างได้ พบว่าอยู่ในสัดส่วนคงที่มาโดยตลอด สะท้อนว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทย

สาเหตุในชั้นสุดท้าย นโยบายของรัฐยังไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย IMD (World Competitiveness Index) ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 ในปี 2019 ซึ่งแม้ไทยไม่อยู่ในลำดับที่แย่มาก แต่มีอุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และส่งผลไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพัฒนาไปตามเทรนด์โลกทั้งในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศจากปัญหาการคอร์รัปชั่น การเอื้อประโยชน์พวกพ้องทำให้ไม่เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพราะไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัท ปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน  ที่แรงงานยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและท้าทายของเศรษฐกิจระยะยาว ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐในไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการปฏิรูปกฎระเบียบที่เหมาะสมพร้อมดึงดูดการลงทุน

จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันอาจกำลังผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนในอย่างน้อยสองประเด็นสำคัญ คือ

  1. เศรษฐกิจไทยในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต
  2. ดุลการค้าของไทยอาจจะเกินดุลลดลงและสร้างความเสี่ยงกับฐานะการเงินระหว่างในระยะยาว

ข้อเสนอของ KKP Research

สินค้าส่งออกไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่ความซับซ้อนของสินค้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีและสามารถต่อยอดสู่สินค้าใหม่ ๆ ได้ แนวทางการพัฒนาสินค้าของไทยยังสามารถต่อยอดจากสินค้ากลุ่มเดิมทั้งจากการเร่งให้เกิดการถ่ายโอนเทค​โนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย และการขยายการผลิตสินค้าไปในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และรัฐก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ส่งเสริม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ

  1. การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ
  2. การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด เพื่อขายสินค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ตามไทยยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
  3. โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น การขนส่ง การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีและการใช้สิทธิทางภาษีให้วางแผนและเข้าใจง่าย การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband
  4. สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้

ที่มา :

/1 บทวิเคราะห์โดย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

/2 https://brandinside.asia/turing-point-of-thai-export-kkp-research/

เวียดนามเผยยอดการส่งออกสินค้าเกษตร พุ่ง 28.2%

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เป็นมูลค่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ราคาข้าวของเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการข้าวในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น อาทิ จีนและเกาหลีใต้ ตลอดจนธุรกิจเวียดนามส่วนใหญ่เซ็นสัญญาส่งออกไปแล้วในไตรมาสที่ 2-3 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี เวียดนามได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม และข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เพื่อเจาะตลาดใหม่

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/agricultural-exports-up-28-2-pct-4309366.html

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอผ่าน SEZ แตะ 357 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า และสินค้าการเดินทาง ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) มูลค่ารวม 357.8 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 54 เขต ซึ่งการส่งออกอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี โครงการระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) และโครงการ ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 232 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนการส่งออกสิ่งทอปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 คิดเป็น 70 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกรองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทางมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 35 ล้านดอลลาร์ และ 19 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50894153/garment-exports-from-sezs-valued-at-357-million-over-first-semester/