‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ปรับตัวลดลงเล็กน้อย มียอดคำสั่งซื้อใหม่ เดือน ก.ย.

รายงานของ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม เดือน ก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 49.7 จากระดับ 50.5 ในเดือน ส.ค.66 ได้ส่งสัญญาถึงภาวะถดถอยทางธุรกิจแก่ภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม ถึงแม้ว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพื้นฐานแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมทางการตลาดมีความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น แต่หากพิจารณาในภาพรวมยังเผชิญกับอุปสรรคหลากประการ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อสูง ผลผลิตและการจ้างงานลดลง ต้นทุนวัตถุดิบและราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

CPI เวียดนาม เดือน ก.ย. พุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 1.08% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้น ราคาข้าวที่สูงขึ้น ค่าก๊าซและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาตั๋วเครื่องบินพุ่ง 71.56% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-cpi-in-sept-rises-to-five-year-high/

‘ศก.เวียดนาม’ เติบโตเด่นสุดในอาเซียน ปี 2566

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวและการผ่อนคลายนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง และมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสามารถควบคุมได้ มีอัตราต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4.5% ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กล่าวชื่นชมหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนามในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงยังคงสูงขึ้นและจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการด้านกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-economy-likely-to-lead-asean-s-growth-this-year-2195780.html

ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนใน สปป.ลาว

ด้วยสถานการณ์รายได้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ของคน สปป.ลาว ไม่สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา ตามการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ

สำหรับการสำรวจของธนาคารโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของครัวเรือน กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือส่วนใหญ่ภาคครัวเรือนได้มีการเพาะปลูก รวมถึงเปลี่ยนไปกินอาหารราคาถูกลง หรือลดปริมาณในการบริโภคลง ไปจนถึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง และมากกว่าร้อยละ 14 ของเด็กวัยเรียนจำเป็นต้องพักการเรียนลง จากผลกระทบดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเริ่มผ่อนคลายลงนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 36 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ธนาคารโลกแนะนำให้เลิกใช้มาตรการลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษี รวมถึงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ปรับปรุงคุณภาพการลงทุนภาครัฐและสัมปทาน เสริมสร้างการกำกับดูแลของภาคธนาคาร ไปจนถึงทำการเจรจาหนี้ และสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนภาคเอกชนให้ง่ายขึ้น เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อลง

ที่มา : https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/09/19/food-prices-affect-families-in-lao-pdr-despite-easing-inflation

ในช่วงเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ชะลอตัวลงแตะ 25.88%

อัตราเงินเฟ้อในประเทศ สปป.ลาว ณ ช่วงเดือนสิงหาคมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 25.88 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ร้อยละ 27.8 ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.85 ต่ำกว่าในช่วงเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 37.81 ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการปรับตัวลดลงของราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าว สำหรับภาคส่วนที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในเดือนสิงหาคม ได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 0.20 ไปรษณีย์และโทรคมนาคมร้อยละ 0.57 และการศึกษาร้อยละ 0.75 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อใน สปป.ลาว มาจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังเศรษฐกิจของ สปป.ลาว รวมไปถึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-inflation-drops-to-2588-in-august/267230.vnp

ทางการ สปป.ลาว จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเดือน ต.ค.

สำนักนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว อนุมัติขึ้นค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำในประเทศจาก 67 ดอลลาร์ ขึ้นเป็น 83 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ หลังผ่านการอนุมัติจากการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนในเดือน ก.ค. แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างในภาคเอกชน แต่ในที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้กล่าวถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการที่ปัจจุบันมีเงินเดือนประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งการปรับขึ้นเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ร่วมกับเงินกีบมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของคนในประเทศ ด้าน Keovisouk Dalasane กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท 108 Jobs กล่าวเสริมว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องประเมินค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเพื่อประโยชน์ต่อสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน ภายใต้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง ซึ่งนายจ้างยังสามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/18/laos-to-increase-minimum-wage-for-workers-in-october/

เงินเฟ้อไทย ก.ค. 66 เพิ่ม 0.38% ยังต่ำสุดในอาเซียน

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 107.82 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ที่อยู่ที่ 107.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.38% ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเทียบเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน มิ.ย. 2566) พบว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในอีก 5 เดือนที่เหลือ เงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกินเดือนละ 1%

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1364174

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชาลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี แตะ 0.48%

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานถึงอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ลดลงอย่างมากเหลือร้อยละ 0.48 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา หลังจากเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.1 ในช่วงเดือนเมษายน และจากร้อยละ 0.7 ในเดือนมีนาคม แสดงให้เห็นว่าราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการ 6 ใน 10 รายการ มีการปรับตัวลดลงในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะด้านการขนส่งและร้านอาหาร ขณะที่ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่นๆ ก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมาก ที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การรักษากำลังซื้อของประชาชน เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321914/inflation-drops-lowest-to-0-48-says-nbc/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ แนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางของเวียดนามมีทิศทางที่สดใส สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยว การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการค้ายังคงซบเซา ซึ่งเป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ ถึงแม้ว่าเวียดนามจะเกินดุลการค้ามากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ว่าภาพรวมของภาคการส่งออกกลับลดลงในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-economy-set-to-rebound-in-h2-report/

“เวิลด์แบงค์” คาดเงินเฟ้อเวียดนาม มีแนวโน้มลดลงเป็นเดือนที่ 4

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยลดลงจาก 2.8% ในเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ 2.4% ในเดือน พ.ค. ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง 4.5% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่ 4.6% ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่าอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงอ่อนแอและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว การส่งออกและการนำเข้าที่หดตัวลง ในขณะที่การเบิกจ่ายการลงทุนยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ภาคเหนือของประเทศเวียดนามเริ่มประสบกับภาวะไฟดับในช่วงปลายเดือน พ.ค. ซึ่งหากไม่แก้ไขอย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลง ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/world-bank-vietnams-cpi-inflation-trends-down-for-fourth-month-post126588.html