พิษปฏิวัติฉุดจีดีพีเมียนมาปี 64 ดิ่ง 10% หวั่นกระทบส่งออกไทยสูญ 9.6 หมื่นล้าน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผย 100 วันหลัง “มิน อ่อง ลาย” ปฏิวัติ ทุบจีดีพีเมียนมาปี 64 ติดลบ 10% ขณะนี้มูลค่าการส่งออกของไทยไปเมียนมา คาดว่าจะ -51.6% ถึง – 82.2% หรือมีมูลค่าลดลง 60,670 ถึง 96,590 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทย -0.8% ถึง -1.3% สำหรับ 10 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเสี่ยงที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมาก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกล เหล็ก ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เภสัชภันฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเซรามิก ทั้งนี้คาดว่า FDI ในเมียนมาปี 2564 จะ -76.1% ถึง -85.4% หรือมีมูลค่าหายไป 202,902 ล้านบาท ถึง 227,698 ล้านบาท

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-677777

สรุป ‘เศรษฐกิจไทย’ ไตรมาส1/64 GDP ขยับเป็น -2.6 จากเดิม -6.1

ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 64 และแนวโน้มปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 โดยได้แรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้เมื่อดูค่า GDP ประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนพบว่า GDP เติบโตที่สุดในอาเซียนคือ เวียดนามขยายตัวร้อยละ 4..5 โดยปัจจัยสำคัญคือนโยบายของการป้องกัน และควบคุมโรคระบาดภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้เร็วจึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อีกครั้งภายหลังต้องหยุดชะงักไปจากการระบาดโควิด-19

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939207

WTO ชมเวียดนามทำ FTA 15 ฉบับ-ลดความยากจน เหลือ 6% ดันจีดีพีโตฝ่าโควิด

สมาชิก WTO ถกทบทวนนโยบายการค้าเวียดนาม ชื่นชมเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ฝ่าโควิด ปี 63 โต 2.9% หลังเร่งเครื่องเอฟทีเอ 15 ฉบับ พร้อมลดความยากจนที่จาก 70% เหลือ 6% คาดเข้าขยับเป็นประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้วได้ ปี 2585 ด้านไทยใช้โอกาสนี้แสดงความกังวลเรื่องขั้นตอนการนำเข้ารถยนต์-การวางตลาดผลิตภัณฑ์ยา ขอยึดมั่นในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ตนมีส่วนร่วมไว้อย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-667895

พาณิชย์ เร่งเครื่องปิดดีลเอฟทีเอพร้อมลุยเจรจากรอบใหม่

รมช.พาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งปิดดีล เอฟทีเอทั้งกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าให้ไทยเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียใต้ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงเอฟทีเอ ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูง เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยสามารถดำเนินการหารือได้ทันที ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ พร้อมเปิดเจรจาเอฟทีเอ คู่ค้าใหม่ อาทิ อียู เอฟต้า และแคนาดา เพื่อหาตลาดใหม่และสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936435

ญี่ปุ่นไฟเขียวร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนการค้า RCEP ร่วมกับจีนและอาเซียน

รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติในวันนี้ให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย 15 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมถึงจีน และ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ข้อตกลง RCEP จะช่วยสร้างเขตการค้าเสรีที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), การค้าและประชากรของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับจีนและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังการให้สัตยาบันของ 6 ชาติสมาชิกอาเซียน และอีก 3 ประเทศ โดยในวันนี้ (28 เม.ย.) ข้อตกลง RCEP จะช่วยให้ประเทศที่ลงนามไม่ต้องเสียภาษีสำหรับรายการสินค้า 91% จากทั้งหมด และยังออกกฎระเบียบที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq29/3218572

ไทยพร้อมมีส่วนช่วยผลักดันให้การประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 24 เมษายน 2564 นี้ ประสบความสำเร็จ

วันนี้ (22 เมษายน 2564) เวลา 09.30 น. ณ ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทางโทรศัพท์กับ นายโจโก วิโดโด (H.E. Mr. Joko Widodo) โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และตระหนักดีว่าสถานการณ์ในเมียนมาเป็นประเด็นที่มีความท้าทายอย่างยิ่งต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ จึงไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ที่กรุงจาการ์ตาได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนพิเศษ (Special envoy) เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียชื่นชมบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางด้านต่างประเทศ และความคิดเห็นของไทยส่งผลสำคัญในการผลักดันภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาเซียนจะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลาย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/govh/3217206

บทบาท RCEP ต่อการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 สมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 8 ปี ของข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี (multilateral FTA) ฉบับล่าสุดนี้ ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 29% (25.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของ GDP โลก ครอบคลุมประชากรโลกราว 30% (2.3 พันล้านคน) และมีปริมาณการค้าสินค้าและบริการรวมกันคิดเป็น 25% (12.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของทั้งโลก  ซึ่งในการเจรจา RCEP กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมข้อตกลงการค้าทวิภาคี ASEAN Plus One  (ซึ่งแต่ละฉบับเป็น FTA ระหว่างกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ค้าหลักร่วมกัน) เข้ากับ 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

รูปที่ 1 : RCEP จะช่วยลดภาษีนำเข้าและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ระหว่างสมาชิกในภาคี โดยประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลดภาษีมากที่สุดคือญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT จะได้ผลบวกน้อยกว่าเนื่องจากมีภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

สำหรับผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ RCEP นั้น คาดได้ว่าจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV นั้น คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุจากการที่ RCEP นับเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ จึงทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายทางการค้า ทางฝั่งอาเซียนและประเทศ CLMVT นั้น เผชิญกับระดับภาษีนำเข้าภายในภูมิภาคที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากกลุ่มอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ FTA แบบทวิภาคี ASEAN Plus One กับ 5 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ภายใต้ RCEP จะส่งผลดีกับสมาชิกทุกประเทศอย่างทั่วถึง ต่างจากมาตรการลดภาษี ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ตามรายการสินค้า โดย NTB ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีต้นตอจากความแตกต่างของกฎหมายและระเบียบทางศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศในภาคี ซึ่งข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ รวมถึง RCEP มีเป้าหมายพื้นฐานที่จะลดผลกระทบจาก NTB เหล่านี้ โดยบัญญัติข้อบทใหม่ต่าง ๆ ที่กำหนดหรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้กฎหมายและระเบียบบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม

ข้อบทใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกระดับ FTA ในภูมิภาครวมกันเป็น RCEP ได้แก่ การทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยก่อนการเจรจา RCEP จะเกิดขึ้นกฎ Rules of Origin ที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น หมายความว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีเป็นสัดส่วนใหญ่จะไม่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ได้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ผลิตในไทยแต่ใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ของอาเซียนได้ แต่หลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศในภาคีจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะมีแนวโน้มช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ยังตามหลังด้านการพัฒนาอยู่ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและค่าแรงที่ต่ำกว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกหันมาจ้างผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญใน RCEP ได้แก่ ความยืดหยุ่นในข้อตกลงที่มีต่อประเทศในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา นั้น มีข้อปฏิบัติให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในปีแรก (เทียบกับ 65% สำหรับประเทศอื่น) รวมทั้งขยายเวลาเป้าหมายลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี (เทียบกับ 10 ปีสำหรับประเทศอื่น) นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับการยืดระยะเวลาปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ด่านศุลกากรออกไปอีกถึง 5 ปี อีกด้วย ข้อกำหนดเฉพาะข้างต้นจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ CLM ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้า RCEP ได้มากขึ้น โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อปรับขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานสากล แต่จำกัดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจท้องถิ่น การทยอยปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ บวกกับแรงผลักดันการปรับตัวจาก RCEP จะเป็นผลดีกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพิ่มเติมจากผลประโยชน์จากการค้าที่จะได้รับ

ท้ายที่สุดนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือประเทศไทยจะได้อะไรจาก RCEP และภาคธุรกิจไทยควรจะวางจุดยุทธศาสตร์อย่างไร ในระยะข้างหน้า หากมองจากผลประโยชน์ต่อการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนั้นไทยจัดว่าได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับข้อตกลงที่ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้ขยายตลาดส่งออกไปกว้างกว่ามากจากสัญญาการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจาก RCEP (EVFTA, CPTPP, EAEU) ซึ่งทางออกสำหรับการค้าของไทยในระยะต่อไปอาจเกิดจาก

1) การเร่งดำเนินการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

2) ประเทศไทยอาจสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน CLM ในยุคหลัง RCEP โดยธุรกิจไทยสามารถย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ และหันมาเน้นผลิตสินค้าในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากแรงงานทักษะสูงแทน ซึ่งกฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7526

ไทยพร้อมบังคับใช้ความตกลง ATISA เพิ่มโอกาสลงทุนบริการในอาเซียน

พาณิชย์ เผย ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ของอาเซียน หรือ ATISA แล้ว มีผลใช้บังคับ 5 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที  โดยความตกลง ATISA เป็นความตกลงด้านการค้าบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุนของไทยและสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบรรยากาศการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้ จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน ทั้งนี้ภายใต้ความตกลง ATISA ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE เป็นต้น

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000033580

จุรินทร์’ ลุย MINI-FTA ดันส่งออกทะลุ 4%

จุรินทร์ จัดทัพส่งออกไทยลุยทำมินิเอฟทีเอ เจาะรายเมืองรายมณฑล นำร่องมณฑลไห่หนาน ลงนามปลายเม.ย. หวังยอดส่งออกโตเกิน 4% ด้านเอกชนช่วงเอสเอ็มอีจีนลงทุนร่วมหุ้นผู้ประกอบการไทยสาขาเกษตรและประมง ติดตามได้จากรายงาน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930396

นายกฯ ประชุมคกก.ดิจิทัลนัดแรก มุ่งพัฒนาสู่ดิจิทัลไทยแลนด์-ดิจิทัลอาเซียนเต็มรูปแบบ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ โครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งวันนี้เดินหน้าไปสู่ 5G ที่ผ่านมารัฐบาลวางโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานทุกภาคส่วน นำมาสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์และดิจิทัลอาเซียนเต็มรูปแบบตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3210753