EuroCham Cambodia และ GMAC ลงนาม MoU สนับสนุนกัมพูชา

EuroCham Cambodia และ GMAC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าของยุโรปและแบรนด์แฟชั่นที่ได้ดำเนินการอยู่ในกัมพูชา ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองสมาคมและกลุ่มสมาชิก สู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกระหว่างสหภาพยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในหมวดสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อยู่ที่ 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งการตลาดของกัมพูชาในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.87 จากในปี 2020 ที่กัมพูชามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 13.30 ตามข้อมูลการนำเข้าจากสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสหรัฐฯ (OTEXA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045339/eurocham-cambodia-and-gmac-ink-agreement-to-better-support-european-brands-sourcing-from-cambodia/

กัมพูชา-อินโดนีเซีย ลงนาม MoU กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ในระหว่างการประชุม ASEAN Tourism Forum 2022 ที่สีหนุวิลล์ Thong Khon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา และ Sandiaga Salahudin Uno รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและนวัตกรรมของอินโดนีเซีย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อเที่ยวบินตรงระหว่างทั้งสองประเทศ ในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวระหว่างกันโดยเร็วที่สุด ซึ่งในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยังเน้นที่ 1.การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการจัดงานแสดงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ 2.แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนและจัดการสถานที่ท่องเที่ยว 3.ส่งเสริมภาคเอกชนให้ลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 4.ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ 5.ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดงานท่องเที่ยว งานประชุม และในด้านอื่นๆ และ 6. ส่งเสริมการเชื่อมต่อเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009619/cambodia-indonesia-sign-mou-to-boost-tourism-connect-direct-flights-between-the-two-countries/

กระทรวงสาธารณะ เร่งการค้าข้ามพรมแดน

รัฐบาลกำลังร่วมมือกันเพื่อให้การดำเนินงานด้านศุลกากรมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเร่งการค้าข้ามพรมแดน ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการและกลไกการประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดน MOU จัดให้มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติสำหรับข้อมูลศุลกากร (ASYCUDA) ระบบจะใช้ระบบนี้ที่จุดผ่านแดนเพื่อให้การตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าและส่งออกมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และสม่ำเสมอมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงร่วมซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานงานการรวบรวมข้อมูลและพัฒนาโปรไฟล์ความเสี่ยงแบบบูรณาการเพื่ออัปโหลดเข้าสู่ระบบ ASYCUDA ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มที่สำคัญซึ่งให้กรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชายแดนเพื่อปรับปรุงการกวาดล้างชายแดนผ่านข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO-TFA) ข้อตกลงนี้กำลังดำเนินการภายใต้กองทุน Multi-donors Trust Fund- โครงการการแข่งขันและการค้าของสปป.ลาว ซึ่งได้รับทุนจากธนาคารโลก รัฐบาลของออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministries_245_21.php

KE และ CMA ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินแก่ SMEs กัมพูชา

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ร่วมกับสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชา (CMA) ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ และ SMEs ในกัมพูชา โดย KE และ CMA ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและร่วมจัดโปรแกรม/กิจกรรม เช่น การเสนอขาย งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจและการสร้างเครือข่าย การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 43,276 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับกระทรวง โดยสร้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 435,905 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50979560/khmer-enterprise-and-cma-enter-into-partnership-to-boosting-access-to-financial-service-for-smes/

‘เวียดนาม-ญี่ปุ่น’ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและอุตสาหกรรม

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ นายโยชิโนบุ นิซากะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านการค้าและอุตสาหกรรม (MOU) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. รัฐมนตรีเวียดนามมองว่ามีโอกาสอีกมากจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมธุรกิจเวียดนามและญี่ปุ่น โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ด้วยการสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาทำการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยธุรกิจของจังหวัดวากายานมะในการเข้าถึงตลาดที่มีประชากร 100 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนราว 600 ล้านคน หรือตลาดที่ใหญ่กว่า อาทิ RCEP และ CPTPP นอกจากนี้ การลงทุนของธุรกิจของจังหวัดวากายามะ จะทำให้เวียดนามสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและทักษะความเชี่ยวชาญ ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-industry-trade-ministry-japanese-prefecture-seal-cooperation-deal-907375.vov

กัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับออสเตรเลีย ลงทุนด้านอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนสำหรับ Agri-Food Investment Desk (AFID) ที่สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานและปรับปรุงมาตรฐานในภาคการเกษตรของกัมพูชา โดยพิธีการดังกล่าวจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจากเลขาธิการ CDC และรัฐมนตรี Sok Chenda Sophea พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นโดย CDC ร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (MAFF) และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (DFAT) โดย CDC กล่าวว่า พิธีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ CDC, MAFF และ DFAT ในการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรภายใต้กรอบของโครงการห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรของกัมพูชา-ออสเตรเลีย (CAVAC) ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงความปลอดภัยทางอาหารและลดความยากจน ผ่านการสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเดือนที่แล้ว CDC อนุมัติโครงการ 376 โครงการมูลค่าเกือบ 9.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลงทุนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944283/deal-on-food-investment-signed-with-australia/

กัมพูชาร่วมกับสำนักงานสมาคมธุรกิจไทย ส่งเสริมการค้าระหว่างกัน

สมาคมสภาส่งเสริมการค้าธุรกิจกัมพูชา (CBC) และสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อร่วมมือกันในการส่งเสริมกิจกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักหลายประการ อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสารความสัมพันธ์สำหรับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการค้าและการพัฒนาตลาดร่วมกัน แลกเปลี่ยนเครือข่ายธุรกิจ สนับสนุนช่องทางการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการลงทุนระหว่างกัน และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยลดลงในช่วงหกเดือนแรกของปี โดยลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1 มาอยู่ที่มูลค่า 3.98 พันล้านดอลลาร์ จาก 4.03 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยลดลงร้อยละ 33 มาอยู่ที่ประมาณ 516 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากไทยถูกตรึงไว้ที่ 3.47 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50930585/cambodia-thai-business-councils-agree-more-trade/

กำหนดการศึกษาความเป็นไปได้ของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมใหม่

เจ้าหน้าที่จังหวัดพงสาลีได้ให้ไฟเขียวแก่กลุ่มธุรกิจจีนเพื่อดำเนินการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมแห่งใหม่ (SEZ) หากได้รับการอนุมัติ โซนจะตั้งอยู่ในเขต Nhot-ou ของจังหวัดที่ชายแดนร่วมระหว่างลาว จีน และเวียดนาม  ภายใต้ MOU นั้น นักลงทุนจะต้องเริ่มการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ภายใน 30 วันหลังจากลงนามในข้อตกลง ซึ่งมีอายุ 18 เดือน กลุ่มชาวจีนจะสำรวจพื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตรสำหรับโครงการ พื้นที่ดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตรสำหรับการบริการและการท่องเที่ยว ในขณะที่อีก 150 ตารางกิโลเมตรที่เหลือจะนำไปใช้เพื่อการเกษตรและการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจจะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Feasibility167.php

HLH ร่วมกับ CMEC พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ในกัมพูชา

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Hong Lai Huat Group Ltd (SGX: CTO) และ China Machinery Engineering Corp (HKG: 1829) หรือ CMEC ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่ Aoral Eco-City ในกัมพูชา โดย HLH และ CMEC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน (MoU) เพื่อสร้างนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) และทำงานร่วมกันเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาตามที่ผู้จัดการทั่วไปและกรรมการบริหารของ HLH ได้กล่าวไว้ โดย Aoral Eco-City เป็นโครงการ “การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศเกษตรผสมผสานขนาดใหญ่” ที่พัฒนาโดย HLH ภายในกัมพูชา ด้วยการสร้างสวนพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง CMEC จะเป็นฝ่ายกำหนดโซลูชันที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรสำหรับโครงการนี้ เมื่อเสร็จสิ้นสวนพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับ Electricite du Cambodge (EDC) ของรัฐ

ที่มา : http://khmertimeskh.com/50846094/hlh-cmec-to-co-develop-200-mw-solar-project-in-cambodia/

บริษัท จีนลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาการเกษตรในสปป.ลาว

Jiarun Agricultural Development Co. , Ltd. ของจีนและกระทรวงการวางแผนและการลงทุนสปป.ลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าและการพัฒนาการเกษตรเชิงนิเวศ ในภาคใต้ของสปป.ลาว บริษัท จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการฟื้นฟูป่าและพัฒนาการเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ 5,000 เฮกตาร์ในเขตสนามไซของแขวงอัตตะปือห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 560 กม. โครงการนี้จะสร้างงานในท้องถิ่นกว่า 50,000 ตำแหน่งซึ่งจะส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่นและมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2021-04/08/c_139866707.htm