กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม RCEP ขยายตัว 24%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงครึ่งแรกของปี มีมูลค่ารวมกว่า 4.07 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศที่กัมพูชาส่งออกสามอันดับแรกภายใต้ RCEP ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ เวียดนามที่มูลค่า 1.43 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 22, จีน 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นที่มูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สำหรับ RCEP ประกอบด้วย 15 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก และ 15 รัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และคู่ค้าอีก 5 แห่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328587/cambodias-export-to-rcep-nations-rises-by-24-yoy-in-h1-2023/

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัว 6.5%

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยมีมูลค่ารวมมากกว่า 527 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สำหรับไทยมีมูลค่าการค้ากับกัมพูชามากเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ที่มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วงปลายปี 2022 นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวไว้ในการประชุมกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาว่า กัมพูชาและไทยวางแผนที่จะมีมูลค่าการค้ารวมกันถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 ด้านสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ เสื้อผ้า สินค้าเกษตร อัญมณีและวัตถุดิบ ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และการก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328681/cambodias-exports-to-thailand-up-6-5-in-h1/ 

CGCC ค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในกัมพูชา รวมกว่า 130 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ ประเทศกัมพูชา (CGCC) ได้สนับสนุนธุรกิจในกัมพูชามากกว่า 1,566 แห่ง ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจวงเงินรวมกว่า 132.74 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ โดย CGCC กล่าวเสริมว่า ยอดสินเชื่อค้ำประกันคงค้างทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ 105 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดรวมของยอดค้ำประกันคงค้างอยู่ที่ 75 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSME) จำนวน 1,432 ราย และธุรกิจขนาดใหญ่ 134 รายในกัมพูชา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน การลงทุน และการขยายธุรกิจ เป็นสำคัญ ด้าน Mey Vann รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างผู้ประกอบการและปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินในกัมพูชา โดยอำนวยความสะดวกในการกระจายสินเชื่อไปยังภาคธุรกิจต่างๆ ควบคู่ไปกับนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับการพัฒนาจากกลไลดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501327208/cgcc-provides-130m-credit-guarantees-to-over-1500-businesses/

ADB คาดการท่องเที่ยวกัมพูชากลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงกัมพูชาที่สถานการณ์เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งได้รายงานไว้ใน Asian Development Outlook (ADO) ประจำเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยได้ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 5.5 ในปีนี้ และขยายตัวร้อยละ 6 ในปีหน้า จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่แข็งแกร่งมากขึ้น สำหรับแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ขณะภาคการเกษตรของกัมพูชาที่ถือเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตช้าลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในปีนี้ และร้อยละ 7.8 ในปีหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501327000/tourism-recovery-in-full-swing-says-adb/

ในช่วงครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ในขณะที่การนำเข้าจากเวียดนามของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้เวียดนามรั้งอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ สำหรับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของกัมพูชา ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยในช่วงเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่ารวมมากกว่า 105 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 สำหรับสินค้าหลักที่กัมพูชาส่งออกไปยังเวียดนาม ได้แก่ สินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง ฯลฯ) ในขณะที่สินค้าที่เวียดนามนำเข้าไปยังกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง น้ำมัน ผัก ผลไม้ ปุ๋ย และเครื่องจักร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501326900/cambodias-exports-to-vietnam-reach-more-than-1-4-billion-in-h1/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 24% ในช่วงครึ่งแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่าแตะ 4.07 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากมูลค่ารวม 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ค.) ซึ่งประเทศส่งออกสำคัญสามอันดับแรกของกัมพูชาภายใต้ RCEP ได้แก่ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปยังเวียดนามรวมเกือบ 1.43 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ขณะที่การส่งออกไปยังจีนมีมูลค่ารวม 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากกัมพูชามูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1 ด้วยการเติบโตทางด้านการส่งออกนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มประเทศ RCEP ถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา ด้วยเหตุผลดังกล่าวยังเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางมาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501326651/cambodias-export-to-rcep-countries-up-24-percent-in-h1/

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

กัมพูชาวางแผนยกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรร่วมกับกานา

Florence Buerki Akonor เอกอัครราชทูตกานา ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่มาเลเซีย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กัมพูชา ณ สำนักงานกระทรวงฯ โดยทั้งสองได้หารือร่วมกันในหลายหัวข้อ รวมถึงวิธีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในหลายภาคส่วน ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ มียินดีเป็นอย่างมากที่ได้โอกาสในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกานาและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 22.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปริมาณรวม 3.9 ล้านตัน อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 ประเทศ วางแผนที่จะจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MoU) เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยในระยะแรกจำเป็นต้องหารือร่วมกันในการกลยุทธ์ด้านการเกษตร อีกทั้งยังต้องพิจารณาด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนระหว่างกันเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325555/cambodia-looks-to-enhance-agriculture-exports-with-ghana/

กัมพูชาสร้าง QR Code ชำระเงิน “Bakong-UPI” หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน

กัมพูชาหวังใช้ KHQR ระหว่างเครือข่ายของ Bakong และเครือข่าย QR Code ของ UnionPay International (UPI) ในการช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังกัมพูชามากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และ UnionPay International (UPI) ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามพรมแดน ภายใต้ความร่วมมือนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในกัมพูชาผ่าน KHQR และชาวกัมพูชาสามารถชำระเงินในรูปแบบเดียวกันในประเทศจีนได้สร้างความสะดวกเป็นอย่างมากในการชำระเงิน โดยทางการกัมพูชาตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 106,875 คนในปี 2022 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเยือนยังกัมพูชาในปีนี้ราว 5 ล้านคน สำหรับการเปิดให้ทำธุรกรรมการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนผ่าน KHQR ระหว่างกัมพูชาและจีนมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปี 2023 ขณะที่ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้แล้วระหว่างไทย รวมถึงพร้อมที่จะขยายการดำเนินงานของระบบการชำระเงินบน Bakong blockchain ไปยังเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ จีน และอินเดีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325944/bakong-upi-cross-border-qr-code-payment-cooperation-to-attract-more-chinese-tourists/

FDI ในกัมพูชาพุ่งแตะ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 พุ่งแตะ 4.58 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีนคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาครอบคลุมภาคส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ภาคการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต เกษตรกรรม และภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 31.6 ของการลงทุนทั้งหมด ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการแห่งรัฐและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รายงานเสริมว่า ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ของกัมพูชา จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด FDI ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324951/cambodia-fdi-registered-capital-at-45-billion/