กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/

Q1 FDI กัมพูชาขยายตัวกว่า 9% คิดเป็นมูลค่ากว่า 45.8 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปีมีมูลค่าแตะ 45.8 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแหล่งเงินทุนหลักมาจากจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ด้าน NBC กล่าวเสริมว่า การไหลเข้าของการลงทุนส่วนใหญ่ไหลไปยังภาคส่วนหลักๆ ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมทางด้านการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของ FDI สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324528/fdi-in-cambodia-increases-by-9-percent-in-q1-to-45-8-billion/

บริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนยังกัมพูชากินสัดส่วนเกือบ 65%

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้ประกาศอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 113 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบร้อยละ 65 มาจากนักลงทุนสัญชาติจีน ขณะที่มาจากนักลงทุนท้องถิ่นประมาณร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนในช่วงแรกของปี ตามมาด้วยเวียดนามร้อยละ 6.64, เซเชลส์ร้อยละ 3.31, ไทยร้อยละ 1.77, สาธารณรัฐเกาหลีร้อยละ 1.70, ซามัวร้อยละ 0.60, สหรัฐอเมริการ้อยละ 0.49, สิงคโปร์ร้อยละ 0.18 และสวีเดนร้อยละ 0.07 โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่นกว่า 122,000 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมคิดกว่า 102 โครงการ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการเกษตร 7 โครงการ ภาคการท่องเที่ยว 3 โครงการ และ โครงสร้างพื้นฐาน 1 โครงการ ด้าน Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์ของ Royal Academy of Cambodia (RAC) กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงดึงดูดการลงทุนของกัมพูชา ได้แก่ ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในกรอบการลงทุนทางกฎหมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324792/china-strengthens-investment-in-cambodia-with-nearly-65-percent-share/

ครึ่งปีแรก การค้าระหว่างประเทศกัมพูชาแตะ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 2.369 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวม 1.146 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 22.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.223 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกัมพูชา โดยทำการนำเข้าสินค้าจากกัมพูชามูลค่ารวม 4.23 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยเวียดนามที่มูลค่า 1.42 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 สำหรับคู่ค้าหลักอื่นๆ ของกัมพูชาได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501322261/international-trade-tops-23-billion-in-h1/

‘เวียดนาม’ กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาและเวียดนาม ทำรายได้สูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมูลค่าการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่มีสัดส่วนราว 50% ของเม็ดเงินรวมระหว่างกัมพูชาและประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ จากการเติบโตของการส่งออกกัมพูชาไปยังเวียดนามนั้น ได้รับแรงหนุนมาจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์และมันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากเวียดนาม ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เชื้อเพลิงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-becomes-largest-asean-trading-partner-of-cambodia-media-2163621.html

FSA อนุมัติหลักการประกาศร่างการลงทุนกองทุนรวมในกัมพูชา

Council of Non-Bank Financial Services Authority (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศเพื่ออนุญาตให้นักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนรวมภายในตลอดหลักทรัพย์กัมพูชาได้ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวได้รับการอนุมัติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 ก.ค.) โดยมี Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวง MEF เป็นประธาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FSA รวมทั้ง Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ Securities and Exchange Regulator (SERC) ของประเทศกัมพูชา ซึ่งร่างดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนสำหรับการออกหน่วยลงทุน รวมถึงการดำเนินการของผู้บริหารกองทุนรวม เพื่อเป็นการรับรองกรอบความรับผิดชอบและความโปร่งใส ตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการกฎหมายและข้อบังคับ อีกทั้ง FSA ยังอนุมัติคำขอของบริษัทต่างชาติอย่าง บริษัท Binance KH Co. Ltd. สำหรับการวางแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน FinTech Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำร่อง แต่ถึงอย่างไร FSA จำเป็นต้องเตรียมการและออกประกาศอื่นเพิ่มเติม เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321301/fsa-approves-draft-scheme-proclamation/

กระทรวงฯ พร้อมหนุน SMEs เพื่อความยั่งยืน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา ถือมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MISTI) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ SMEs ด้วยหลักการของความยั่งยืนให้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ IBeeC ซึ่งได้หารือกันในระหว่างการประชุม Sustainable Business Forum ที่จัดโดย Oxfam and Young Entrepreneurs Association of Cambodia (YEAC) เพื่อเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ร่วมกับภาคองค์กรพัฒนาเอกชนจะสามารถช่วยให้ SME/MSMEs ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ในขณะเดียวกัน Credit Guarantee Corporation of Cambodia (CGCC) พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการโดยในช่วงที่ผ่านมาองค์กรได้ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้วมูลค่ากว่า 113.6 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ กระจายไปยังภาคธุรกิจต่างๆ เกือบ 1,300 แห่ง ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321304/ministry-urges-smes-to-embrace-sustainability-inclusiveness/

ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐในกัมพูชา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 98%

ณ วันที่ 30 มิ.ย. Sin Chanserivutha เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา ระบุว่า การก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้ในเดือน ต.ค. นี้ แล้วเสร็จแล้วร้อยละ 98 โดยสนามบินแห่งใหม่นี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Siem Reap Angkor International Airport” และมีชื่อรหัสว่า VDSA (รหัส ICAO) และ SAI (รหัส IATA) ซึ่งถือเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งขนาดใหญ่ของกัมพูชาที่ใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณกว่า 880 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 โครงการสนามบินดังกล่าวตั้งอยู่ในชุมชน Tayek เขต Sot Nikum ห่างจากเมืองเสียมราฐประมาณ 51 กม. และห่างจากนครวัด 40 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320870/siem-reap-new-international-airport-construction-98-complete/

จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

หลังจากการลงนามในข้อตกลงกัมพูชา-จีน (CCFTA) เมื่อเดือนตุลาคม 2020 และเริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีน และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยปริมาณการค้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างปี 2017-2021 เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 25.44 พันล้านดอลลาร์ เป็น 48.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับศักยภาพในการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดในภูมิภาคยังมีจำกัด ซึ่งยังคงต้องบูรณาการอย่างต่อเนื่องในส่วนของห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาค ถึงอย่างไร แม้กัมพูชาจะได้รับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จีนและกัมพูชาก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายด้านปริมาณการค้าทวิภาคีได้เกินเป้าหมายที่ 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2022 จีนก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมของกัมพูชาไปยังจีน 1.24 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320543/china-remains-the-largest-export-market-for-cambodia/

คาดการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจ จีน-กัมพูชา ดันเศรษฐกิจโต

หลังจากการร่วมทุนกันระหว่างภาคธุรกิจจีนและกัมพูชา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชา รวมถึงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ที่ปัจจุบัน มีขนาดกว้างถึง 11.13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกว่า 175 แห่ง ภายใต้โครงการความร่วมมือ Belt and Road Initiative โดยนับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 139 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 เป็นเกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดธุรกิจจากประเทศเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมได้เปิดคลินิกสุขภาพ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันโปลีเทคนิคมิตรภาพพระสีหนุกัมพูชา-จีน และสถาบันธุรกิจและเทคโนโลยีสีหนุวิลล์-จีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการสารสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501319228/chinese-cambodian-joint-venture-changes-lives-for-the-better/