การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมมากกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งเกือบ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศ ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.6 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เยอรมนี ไต้หวัน และแคนาดา ด้านสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน ข้าว อุปกรณ์ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ ผักและผลไม้ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยา อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงเป็นส่วนใหญ่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307770/cambodias-international-trade-recorded-at-over-19-billion-in-first-five-months/

การส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง แม้การส่งออกโดยรวมจะลดลง

กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี ที่สัดส่วนร้อยละ 43.4 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.99 พันล้านดอลลาร์ ลดลงที่ร้อยละ 23.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 5.18 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการปิดโรงงานและการสูญเสียการจ้างงานที่มีการจ้างมากถึง 850,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบุว่าการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง และการที่มีสินค้าคงคลังมากเกินไปหลังการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ที่ลดลง ตามรายงานของ Tassilo Brinzer ประธานหอการค้ายุโรปในกัมพูชา (EuroCham) ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้าร้อยละ 20-25 ในกัมพูชาปิดตัวลงส่งผลทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มโครงการร่วมกับเจ้าของโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ตกงานหลังจากการปิดโรงงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306694/cambodias-gft-woes-unabated-as-exports-decline-23/

กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีร่วมกับญี่ปุ่น

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายหน่วยงานในการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น หลังจากในช่วงปีนี้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความดังกล่าวไว้ในงานสัมมนาที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) โดยกล่าวเสริมว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะถัดไปทางการกัมพูชาคาดหวังถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นโดยตรง และกำลังเร่งศึกษา รวมถึงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306688/cambodia-eyes-free-trade-agreement-with-japan/

ในช่วง 5 เดือนแรงของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวมแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.4 จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 9.41 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง สำหรับประเทศส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (CCFTA) และเกาหลี (CKFTA) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา

ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 10,109 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 22.6 จากมูลค่ารวม 13,057 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306111/cambodia-exports-reach-9-18-billion-in-five-months/

นายกฯ ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 5.6% ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2022 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารโลกได้กล่าวเสริมในระหว่างการอัพเดทภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนพฤษภาคมว่าเศรษฐกิจของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีการฟื้นตัวหลังจากที่ทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการด้านการเดินทาง รวมถึงภาคการเกษตรที่เริ่มเห็นถึงการขยายตัวด้านการส่งออก อีกทั้งข้อตกลงความหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306466/cambodias-economy-projected-to-grow-by-5-6-pct-this-year-say-prime-minister-hun-sen/

จีนเข้าลงทุนเพาะปลูกกล้วยบนพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในกัมพูชา

บริษัท Dize Nong Ye Fazhan จำกัด ลงทุนเพาะปลูกกล้วยบนพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในจังหวัดกำปงจาม รวมถึงสร้างโรงงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์เมื่อสองปีก่อน ซึ่งสร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 1,200 ตำแหน่ง โดยปัจจุบันสวนแห่งนี้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากกล้วยไปยังจีนปีละ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง 1 ตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนัก 20 ตัน แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จากกล้วยของกัมพูชามีความต้องการในตลาดจีนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันประชากรจีนบริโภคกล้วยอยู่ที่ 600 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501305728/600-hectare-banana-orchard-mirrors-chinas-

ม.ค.-พ.ค. กัมพูชาส่งออกข้าวกว่า 2.78 แสนตัน มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านดอลลาร์

สมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวสารในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 278,184 ตัน ไปยัง 50 ประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 191.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญของการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา คิดเป็นปริมาณรวม 118,041 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.43 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา โดยชนิดของข้าวที่ได้รับความนิยมในการส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ ในขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดใหม่สำหรับข้าวสารของกัมพูชา ซึ่งมีการนำเข้าในครั้งแรกกว่า 2,575 ตัน ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับในปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 637,004 ตัน ไปยัง 59 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.2 จากปริมาณ 617,069 ตัน ในช่วงปีก่อน โดยในปีนี้ CRF ตั้งเป้าในการส่งออกข้าวสารไว้ที่ 750,000 ตัน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 18 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501305701/cambodias-rice-export-exceeds-278000-tonnes-and-nearly-200-million-in-january-may/

อุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชาขยายตัว 5.6% ในไตรมาสที่ 1

ไตรมาสที่ 1 อุตสาหกรรมประกันภัยในกัมพูชารายงานการจัดเก็บเบี้ยประกันภัยรวม 93.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากมูลค่ารวม 88.3 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยหน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยของกัมพูชา (IRC) ซึ่งเบี้ยประกันขั้นต้นของตลาดประกันภัยทั่วไปในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 42.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตอยู่ที่ 48.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และเบี้ยประกันขนาดย่อมมูลค่า 1.83 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45% ด้าน Bou Chanphirou ผู้อำนวยการใหญ่ของ IRC ได้กล่าวเสริมว่า ภาคธุรกิจประกันภัยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของภาคธุรกิจประกันภัยของกัมพูชายังคงมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเชื่อว่าภาคประกันภัยจะยังสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501303841/cambodias-insurance-industry-records-5-6-pct-growth-in-q1/

กัมพูชา-ไทย เปิดตัว QR code โอนจ่ายข้ามพรมแดน เฟส 2

กัมพูชาและไทยเปิดตัวระบบชำระเงิน QR code ข้ามพรมแดน ผ่านระบบธนาคาร เป็นระยะที่ 2 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงกระตุ้นภาคการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างพิธีเปิดตัวระบบการชำระเงินนำโดย Chea Chanto ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในเฟสแรกของโครงการได้เปิดตัวในปี 2020 สำหรับการทำธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชาในปี 2021 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 415.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 102 พันล้านดอลลาร์) โดยจำนวนบัญชี e-Wallet ที่ลงทะเบียนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 19.5 ล้านบัญชี และจำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 708 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านครั้ง แสดงถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีในการชำระเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501303481/cambodia-thailand-launch-cross-border-qr-payment-phase-ii/

นายกฯ ฮุน เซน ประเมินการถอนสิทธิพิเศษ EBA ของ EU ไม่กระทบกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคการผลิตของกัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมกับแรงงานกว่า 16,000 คน ในจังหวัดกำปงสปือเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ซึ่งก่อนหน้ากัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวเนื่องจากประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แต่ด้วยกัมพูชามีโครงสร้างรายได้ของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้วยเหตุผลที่ว่ากัมพูชาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการเมือง และสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้กัมพูชาจะต้องเสียภาษีสำหรับการส่งออกโดยปราศจากสิทธิพิเศษ EBA ไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยในปี 2020 สหภาพยุโรปได้ถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ร้อยละ 20 จากกลุ่มสมาชิก 27 ประเทศ รวมถึงกัมพูชา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (GDCE) กล่าวเสริมว่าในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มรองเท้า เสื้อผ้า และสินค้าเผื่อการเดินทาง (GFT) ขยายตัวประมาณกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกรวม 10.99 พันล้านดอลลาร์ สู่มูลค่า 12.63 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูญเสียสิทธิพิเศษ EBA ไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว โดยชดเชยด้วยการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501302667/eba-withdrawal-not-to-impact-cambodia-says-pm/