ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

เวียดนาม-กัมพูชา วางแผนอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม Phạm Minh Chính ให้การต้อนรับ Prak Sokhonn รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เดินทางไปเยือนยังเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ โดยในปี 2022 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวเกือบร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2021 ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนเวียดนามในกัมพูชามีมากถึง 205 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 29,400 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เวียดนามถือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของกัมพูชาในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260736/vietnam-cambodia-seek-to-further-facilitate-cross-border-trade/

เดือนก.พ 66 สปป.ลาวเกินดุลการค้า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Lao Trade Portal เผย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 การค้าระหว่างประเทศของสปป.ลาว อยู่ที่ 962 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกินดุลการค้าถึง 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออก 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 457 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ มันสำปะหลัง ทองคำผสมและทองคำแท่ง แร่ทองแดง เกลือ เยื่อไม้และเศษกระดาษ ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล อุปกรณ์เครื่องจักรกล ยานพาหนะทางบก น้ำมันเบนซิน เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศส่งออกอันดับต้น ๆ ของสปป.ลาว รองลงมาคือเวียดนามและไทย ในขณะที่ประเทศต้นทางสำคัญสำหรับการนำเข้าของสปป.ลาวคือไทย จีน และเวียดนาม

ที่มา: https://english.news.cn/20230317/b95b3c13acef4d6aac062ff9a42d3bc9/c.html

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา แม้ว่าการส่งออกจะลดลงก็ตาม

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34.4 แม้ว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังต่างประเทศจะลดลงร้อยละ 20.2 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ที่มูลค่ากว่า 1.12 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2022 เวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชา ที่มูลค่า 491 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งปัจจุบันเวียดนามกินสัดส่วนการส่งออกของกัมพูชาคิดเป็นร้อยละ 15 ของการส่งออก สวนทางกันกับการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีน ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในอดีต โดยปัจจุบันครองสัดส่วนร้อยละ 6 ของการส่งออก รองจากญี่ปุ่นและไทย ซึ่งคาดว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนช่วยให้กัมพูชาขยายตลาดการส่งออกได้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501255716/us-remains-cambodias-biggest-market-despite-declining-exports/

ในช่วงเดือน ม.ค. มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว-เวียดนาม ลดลง 27.3%

มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ลดลงกว่าร้อยละ 27.3 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 99.2 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน ม.ค. แม้ข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง โดยคิดเป็นการส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังเวียดนาม มูลค่า 71.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการลดลงร้อยละ 23.8 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากเวียดนามของ สปป.ลาว อยู่ที่มูลค่า 27.8 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของ สปป.ลาว ไปยังเวียดนาม ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และปุ๋ย ซึ่งในปี 2022 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในปี 2023 สปป.ลาว และเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ประมาณร้อยละ 10-15

ที่มา : https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten47_Laovietnam_y23.php

“เวียดนาม” เผย ก.พ. 66 ยอดการค้าระหว่างประเทศ พุ่ง 72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงกลางเดือน ก.พ. 2566 ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม อยู่ที่ 72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกที่ 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ จำนวนสินค้าส่งออก 4 รายการที่ทำรายได้เกินกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอะไหล่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้า 2 รายการที่ทำรายได้เกินกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอะไหล่ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลในปี 2565 พบว่ายอดการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 730.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-trade-value-reaches-72-bln-usd-by-mid-february/248814.vnp

ในช่วงเดือน ม.ค. การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย ขยายตัวแตะ 37 ล้านดอลลาร์

ในเดือนมกราคม 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดียมีมูลค่ารวมกว่า 37 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมูลค่ารวม 22 ล้านดอลลาร์ หลังกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินเดียมีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ซึ่งเน้นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243610/cambodia-india-trade-reaches-37m-in-january/

ม.ค. 2023 การค้าระหว่างประเทศกัมพูชา หดตัว 29%

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาลดลงร้อยละ 29 ในช่วงเดือนมกราคม 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 14 ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาก็ลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 37.5 คิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชาด้วยมูลค่าการส่งออกรวม 562 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมด ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ได้ทำการนำเข้าจากจีนที่มูลค่า 891 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238161/cambodias-foreign-trade-declines-29-in-january/

“การค้าเวียดนาม-สปป.ลาว” เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2565

จากการประชุมข้อตกลงครั้งที่ 44 ของคณะกรรมการความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลลาวและรัฐบาลเวียดนาม ระบุว่ารายได้จากการค้าระหว่างเวียดนามและลาว ในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ที่ 656.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.4% โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน ก๊าซ ปุ๋ย เหล็กและเครื่องจักร เป็นต้น ในขณะที่เวียดนามนำเข้า อยู่ที่ 1.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ สำนักงานการค้าเวียดนามในลาว เปิดเผยว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมมือและประสานงานกันในการส่งเสริมการค้าตลอดทั้งปี รวมถึงจัดการประชุมความเชื่อมโยงทางการค้าทั้งสินค้าเกษตร อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤษภาคม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamlaos-trade-records-impressive-growth-in-2022/247884.vnp

กัมพูชาส่งออกโต 16% มูลค่าแตะ 22.4 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 52.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9.1 จากปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาที่มูลค่ากว่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของภาคการส่งออก เป็นผลมาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในและต่างประเทศกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง โดยทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะรักษาการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค รวมถึงยังพยายามเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานโลกให้ได้มากที่สุด สำหรับทิศทางการค้าในปีหน้า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการผลักดันการเติบโตภาคการค้า เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสผ่านการปฏิรูปเชิงลึกในทุกด้าน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ การส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชายังมีความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA กัมพูชา-เกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229569/cambodia-exports-surge-16-to-22-4b/