RCEP, FTA กัมพูชา-จีน ขยายตลาดส่งออกกัมพูชา

Ly Thuch ประธานคณะกรรมการแห่งชาติกัมพูชา และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน (CCFTA) ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดส่งออกของกัมพูชาให้กว้างขึ้น โดยการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆด้าน ซึ่งรวมถึงการแข่งขันทางภูมิศาสตร์ การเมือง สงครามการค้า และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนพหุภาคี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการค้าเสรี จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122325/rcep-cambodia-china-fta-give-cambodia-larger-exporting-markets/

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขาย คาร์บอนเครดิต

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขายคาร์บอนเครดิต โดยมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 11.6 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2016-2020 ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้ขายโครงการคาร์บอนเครดิตจำนวน 3 โครงการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแก้วเซมา ในจังหวัดมณฑลคีรี, โครงการ REDD+ ณ อุทยานแห่งชาติกระวานใต้ ในจังหวัดเกาะกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรยลังใน จังหวัดสตึงแตรง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนทั่วโลกยกตัวอย่างเช่น บริษัท Disney และ Gucci โดยมีจุดมุ่งหวังที่จะสร้างสันติภาพ เสถียรภาพทางการเมือง และการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน รวมไปถึงเพื่อการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเพียงกัมพูชาและอินโดนีเซียที่มีการขายคาร์บอนเครดิตให้กับตลาดโลก

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501122664/cambodia-successfully-sells-carbon-credits-in-global-voluntary-carbon-market/

ACLEDA Bank ออกสินเชื่อเพื่อการเกษตรแล้วกว่า 1.21 พันล้านดอลลาร์

ธนาคาร ACLEDA กล่าวว่า ได้ทำการปล่อยสินเชื่อจำนวนมูลค่ารวมกว่า 1.21 พันล้านดอลลาร์ ให้กับภาคการเกษตร คิดเป็นกว่าร้อยละ 20.75 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ด้าน In Channy ประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ACLEDA Bank Plc กล่าวว่า กัมพูชาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการจ้างแรงงาน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501119196/acleda-bank-loans-out-1-21bil-to-boost-agriculture/

กัมพูชาส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 22% ในช่วง H1

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่ารวม 111.35 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยหากคิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 สู่มูลค่า 421.33 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลกัมพูชามีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นการส่งออกภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับเกาหลี โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งจะยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากกัมพูชาร้อยละ 95.6 ในขณะที่กัมพูชาจะยกเลิกการเก็บภาษีร้อยละ 93.8 ของสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาได้แก่สินค้าเกษตร อาทิเช่น ยาง ผลไม้ และแป้ง ในขณะที่กัมพูชาเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้เป็นสำคัญ ซึ่งในปี 2021 กัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่ารวมกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 341 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501119197/cambodia-exports-to-south-korea-up-22-h1/

อาเซียน-จีนลุยอัปเกรด “เอฟทีเอ” เดินหน้าขยายการค้าและลงทุน อำนวยความสะดวกลดอุปสรรค

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เป็นประธานฝ่ายอาเซียนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA-JC) ครั้งที่ 15 และการประชุม Special การประชุมครั้งนี้ได้ติดตามการดำเนินการตามความตกลงของคณะทำงานย่อยในเรื่องต่างๆ เช่น คณะทำงานด้านมาตรฐาน ด้านการลงทุน ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงหารือแนวปฏิบัติของสมาชิกให้ทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น และบรรเทาปัญหาที่เกิดจากอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะจากจีน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2455178

เจ้าหน้าที่ IMF มองเวียดนามถูกทางในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ

สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) อ้างผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเวียดนามมาถูกทางในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คุณ Era Dabla-Norris หัวหน้านโยบายเศรษฐกิจการเงินขององค์กร IMF ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่าหนึ่งในความท้าทายสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คือความแตกต่างของเศรษฐกิจ ธุรกิจ ภาคส่วนและแรงงาน โดยการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับศักยภาพ รวมถึงนโยบายเพื่อสร้างความมั่นใจในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ที่มา : https://www.zawya.com/en/world/china-and-asia-pacific/vietnam-on-right-track-in-pushing-economic-reform-imf-official-hcaaps13

“อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม” ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

สำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) ของเวียดนาม เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามายังภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม มูลค่า 252 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของเงินทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ไหลเข้าไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามรายงานของสำนักงาน ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน เวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ จำนวน 34,898 โครงการ ด้วยมูลค่า 426.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของโลก อาทิ Samsung, LG, Canon, Honda และ Toyota สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-process-manufacturing-attractive-to-foreign-investors/234399.vnp

สามเดือนครึ่ง ค้าชายแดนผ่านด่านทิกิ พุ่งขึ้น 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย สามเดือนครึ่งที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. ถึง 15 ก.ค.2565) การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาผ่านด่านชายแดนทิกิ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 644.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 213.755 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 430.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยชายแดนทิกิมีการค้าขายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในบรรดาชายแดนไทย-เมียนมา รองจากด่านเมียวดี ซึ่งการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากเขตตะนาวศรีมีส่วนทำให้การค้าผ่านชายแดนทิกิเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญไปยังไทย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ, ผลิตภัณฑ์ประมง, ถ่านหิน, ดีบุกเข้มข้น (SN 71.58%), มะพร้าว (สดและแห้ง), ถั่ว, ข้าวโพด, และหน่อไม้ ส่วนการนำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน, สินค้าอุตสาหกรรมดิบ เช่น ซีเมนต์และปุ๋ย และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/border-trade-through-hteekhee-post-rises-by-213-mln-in-three-and-a-half-months/

สหรัฐฯ ประกาศมอบเงิน 8.5 ล้านดอลลาร์ ให้ดำเนินโครงการเคลียร์ระเบิดในแขวงเชียงขวาง สปป.ลาว

สหรัฐอเมริกา ประกาศช่วยเหลือมอบเงินมูลค่า 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมแล้วเป็นระยะเวลา 12 เดือน ให้กับองค์กร Mine Advisory Group (MAG) เพื่อดำเนินโครงการเคลียร์กับระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) สำรวจและศึกษาความเสี่ยงทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ระเบิดในแขวงเชียงขวาง (Xieng Khouang) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการทำลายกับระเบิกที่ยังไม่ระเบิดยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านและชนบท โดยงานขององค์กร MAG ที่ดำเนินการเคียร์พื้นที่และให้การศึกษาถึงความเสี่ยงด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ จะทำให้ช่วยลดจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับระเบิด รวมถึงการจัดหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมทางการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของสปป.ลาว อีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten142_USprovides.php

ชาวสวนเมืองปะลัค เขตตะนาวศรี เล็งปลูกบุก เป็นพืชผสมผสาน เพื่อสร้างกำไร

กรมวิชาการเกษตรเมืองปะลัค รายงานว่า ผลกำไรบวกกับความต้องการจากต่างประเทศกระตุ้นให้ชาวสวนในเมืองปะลัค อำเภอปะลอ เขตตะนาวศรี หันมาปลูกบุก (มันเทศช้าง) ภายใต้ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานกันมากขึ้น จากที่แต่ก่อนไม่เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศมากนัก อย่างไรก็ตาม ความต้องการจากต่างประเทศที่มากขึ้นส่งผลให้ราคาพุ่งตามไปด้วย เมียนมา เริ่มเพาะปลูกบุกเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วในรัฐคะฉิ่น รัฐชิน รัฐฉาน รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง และเขตพะโค การปลูกบุกเริ่มขึ้นในเขตตะนาวศรีในปีงบประมาณ 2563-2564 ปัจจุบันได้เริ่มมีการปลูกแซมในสวนยางพารากันบ้างแล้ว ขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านจัตต่อเอเคอร์ โดยราคาในประเทศอยู่ที่ 1,800-2,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ซึ่งต้องใช้เงินทุนมากในการเพาะปลูก แต่กำไรค่อนข้างสูง ทั้งนี้การทำไร่ปลูกบุกพบได้ทั่วไปในอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากการบริโภคในท้องถิ่นแล้ว เมียนมายังจัดส่งบุกแห้งและผงบุกไปยังจีน ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย บังคลาเทศ และมาเลเซีย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/growers-eye-konjac-for-mixed-cropping-in-palauk-as-it-raises-profitability/#article-title