เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เติบโตในการพัฒนา โครงการลงทุน

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) กำลังเติบโตจากโครงการพัฒนาและการลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเกษตร ปศุสัตว์ โรงแรม การท่องเที่ยว ย่านที่อยู่อาศัย สถานบันเทิงและขณะนี้บริษัทกว่า 500 แห่งกำลังเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้รับการพัฒนาภายใต้การดูแลของกลุ่มดอกงิ้วคำ ซึ่งได้รับสัมปทานบนที่ดิน 10,000 เฮกตาร์ โดย 3,000 เฮกตาร์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 7,000 เฮกตาร์เป็นพื้นที่คุ้มครอง เป้าหมายการพัฒนาของ GTSEZ มีสามประการ ขั้นตอนแรกคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขั้นตอนที่สองคือการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่ และขั้นตอนที่สามคือการสร้างร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการผลิตทางการเกษตร ภายใต้สัปทานสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปี กลุ่มดอกงิ้วคำผู้ถือครองสัปทานดังกล่าวเห็นพ้องกันว่าจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) ให้เป็นศูนย์กลางเมืองและศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่มาพร้อมกับโครงการลงทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเกษตร ปศุสัตว์ โรงแรม และย่านที่อยู่อาศัย พร้อมปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมกิจกรรมการค้าตามแนวชายแดนของลาว ไทย เมียนมาร์ และจีน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Golden80.php

เวียดนาม-กัมพูชา-สปป.ลาว ขอความร่วมมือกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน

หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศพื้นที่สามเหลี่ยม (กัมพูชา–สปป.ลาว–เวียดนาม) ได้ตั้งเป้าที่จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 3.3 ล้านคน ภายในปี 2025 ด้านผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) Nguyen Trung Khanh กล่าวว่าเป้าหมายของแผนคือการดึงดูดผู้เยี่ยมชมพื้นที่สามเหลี่ยม 3.3 ล้านคน ภายในปี 2025 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณสมบัติ โดยเวียดนามจะทำหน้าที่เป็นประธานในภารกิจหลัก 5 ประการ ได้แก่ ส่งเสริมการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศสู่พื้นที่ เชื่อมโยงธุรกิจและสมาคมในภูมิภาคให้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เชื่อมโยงกลุ่มนักท่องเที่ยวและรีสอร์ท เปิดตัวกิจกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค และจัดเวทีส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคประจำปี นอกจากนี้ ประเทศจะประสานงานกับ สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยว 10 อีเว้นท์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501064559/vietnam-provinces-seek-tourism-cooperation-with-four-provinces-cambodia/

กัมพูชามองหาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชาวางแผนสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ เข้ามาเปิดโชว์รูมในกัมพูชา ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้ใช้รถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น ด้าน Sun Chanthol รัฐมนตรีฯ ได้ขอให้ Patrick Murphy เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ผลิตรถยนต์ EV เข้ามาลงทุนและขยายธุรกิจยังกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีการใช้รถยนต์ EV เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ มีการลงทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 47 คัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 700 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้มีการจะทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 7 คัน ในขณะที่สถานีชาร์จ EV มีไม่กี่แห่งที่ได้ให้บริการ ในเขตพื้นที่พนมเปญและตามจังหวัดหลัก ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่า 2,226 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501064355/cambodia-seeks-us-electric-vehicle-producers-entry/

ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี 65

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ ว่าการลงนามใน MOU ครั้งนี้ เป็น มินิเอฟทีเอ (Mini FTA) ฉบับที่ 2 ที่ไทยได้มีการลงนามกับมณฑลในจีน และถือเป็นฉบับที่ 4 ที่ได้ลงนามกับคู่ค้า โดยได้ตั้งเป้าที่จะร่วมมือขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทย-กานซู่ และเพิ่มยอดการค้าในปี 2565 เป็น 1,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยมณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม”

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1001355

นายกฯ พอใจส่งออกมะม่วงไทยอันดับ 2 ในอาเซียน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย ซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนความนิยมของผลไม้ไทยซึ่งมีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมสนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี และข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาขยายช่องทางการค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมในประเทศคู่เจรจา FTA รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาเพิ่มเติมรูปแบบ ช่องทางของสินค้าในการส่งออก ทั้งในด้านการออกแบบ การแปรรูปสินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่า

ที่มา : https://tna.mcot.net/politics-930848

‘โลจิสติกส์เวียดนาม’ คุมเข้มมาตรฐานสากล

สมาคมโลจิสติกส์ธุรกิจเวียดนาม (VLA) รายงานว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเวียดนามได้รับแรงกดดันเกี่ยวกับการฝึกอบรมและยกระดับความรู้ของพนักงาน ตลอดจนการติดตามมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลครั้งล่าสุดของสมาคมฯ พบว่ากิจการส่วนใหญ่ต้องการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับการบริหารงานคุณภาพที่ทันสมัย อาทิ ISO 9001, ISO 14001, ISO 17025, HACCP และ ISO 22000 เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่เวียดนามต้องจัดตั้งระบบการจัดการคุณภาพให้ดีขึ้น และให้ครอบคลุมกับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วิธีการขนส่งและการบริโภคพลังงาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-logistics-must-keep-up-with-international-standards/227570.vnp

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ควบคุมเงินเฟ้อของเวียดนามให้อยู่ในระดับ 4% เป็นไปได้ยาก

รศ. ดร.ตรัง แถ่ง มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (NEU) เปิดเผยว่าเวียดนามมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% ในปี 2565 แต่การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 4% เป็นไปได้ยาก โดยการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อของประเทศในปีนี้ ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 45% จะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.6% และดัชนีราคาราคาผู้ผลิต (PPI) 2%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/under4percent-inflation-rate-tough-to-complete-experts/227568.vnp

งบประมาณย่อย 64-65 ส่งออกข้าวผ่านชายแดนเมียนมาซบเซาหนัก

สหพันธ์ข้าวเมียนมา เผย ยอดการส่งออกข้าวและข้าวหักผ่านชายแดนลดลงอย่างมาก โดยในปีงบประมาณย่อย(เดือนต.ค. 2564 ถึงเดือน มี.ค. 2565) เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักมากกว่า 1.4 ล้านตัน เป็นการส่งออกทางทะเลมีปริมาณกว่า 1.3 ล้านตัน ในขณะที่การส่งออกผ่านชายแดนมีเพียง 76,000 ตัน เนื่องจากมาตรการป้องกัน COVID-19 ที่เข้มงวดของจีน ที่จำกัดรถบรรทุกสินค้าบริเวณชายแดนมูเซ ซึ่งขณะนี้มีเพียงขนส่งระยะใกล้ผ่านชายแดนจินซันเฉาะ (Kyinsankyawt) เท่านั้น ทำให้ให้มีการส่งออกผ่านชายแดนเพียง 76,000 ตันเท่านั้น เมียนมาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ 13 ประเทศ ส่วนใหญ่ไปจะส่งไปยังไอวอรี่โคสต์ด้วยปริมาณมากกว่า 400,000 ตัน รองลงมาคือจีน 220,000 ตัน และฟิลิปปินส์มากกว่า 130,000 ตัน ในทำนองเดียวกัน ข้าวหักถูกส่งออกไปยัง 10 ประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นจีน 210,000 ตัน ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ 160,000 ตัน และเบลเยียม 79,000 ตัน ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2563-2564 มีการส่งออกข้าวไปตลาดต่างประเทศกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rice-exports-through-border-show-big-slump-in-past-mini-budget-period/#article-title

Tariff MOU ลงนามสำเร็จสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากเบ็ง

China Datang Overseas Investment Co., Ltd. (China Datang) และ Gulf Energy Development Public Company Limited (GULF) ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านอัตราภาษีศุลกากรสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงในสปป.ลาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บันทึกความเข้าใจเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาตลาดการขายไฟฟ้า และได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสปป.ลาว ปัจจุบันโครงการ HPP ปากเบ็ง ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำโขง ในไซยะบุรีและอุดมไซของสปป.ลาว เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ทั้งนี้ทั้ง 2 บริษัท มุ่งมั่นที่จะสร้างโครงการให้เป็น โครงการต้นแบบและโครงการสำคัญที่จะผลักดันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการก่อสร้างพลังงานไฟฟ้าควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อนำพาสปป.ลาวสู่ “แบตเตอรี่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของสปป.ลาวและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten79_TariffMOU.php

ADB สนับสนุนทางด้านสุขภาพ พลังงานสะอาด และถนนหนทางในกัมพูชา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มอบเงิน 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของกัมพูชา โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการและระบบควบคุมการป้องกันการติดเชื้อจากโควิด-19 ทั่วประเทศจำนวน 81 แห่ง ซึ่งในปีที่แล้ว ADB ได้สนับสนุนภาคเอกชนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา โดยได้ให้เงินกู้นอกภาครัฐจำนวน 4.7 ล้านดอลลาร์แก่ Prime Road Alternative Company Ltd. เพื่อพัฒนาและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 60 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกำปงชนัง โครงการนี้คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 111,000 ตันต่อปี อีกทั้ง ADB ยังได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 82.1 ล้านดอลลาร์ ให้กับกัมพูชา เพื่อปรับปรุงและก่อสร้างถนนภายในประเทศเชื่อมกันระหว่างจังหวัด เหยื่อแวง-กันดาล ระยะทางประมาณ 48 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501063773/adb-focuses-on-health-clean-energy-roads-in-cambodia/