ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนใน สปป.ลาว

ด้วยสถานการณ์รายได้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ของคน สปป.ลาว ไม่สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา ตามการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ

สำหรับการสำรวจของธนาคารโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของครัวเรือน กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือส่วนใหญ่ภาคครัวเรือนได้มีการเพาะปลูก รวมถึงเปลี่ยนไปกินอาหารราคาถูกลง หรือลดปริมาณในการบริโภคลง ไปจนถึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง และมากกว่าร้อยละ 14 ของเด็กวัยเรียนจำเป็นต้องพักการเรียนลง จากผลกระทบดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเริ่มผ่อนคลายลงนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 36 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ธนาคารโลกแนะนำให้เลิกใช้มาตรการลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษี รวมถึงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ปรับปรุงคุณภาพการลงทุนภาครัฐและสัมปทาน เสริมสร้างการกำกับดูแลของภาคธนาคาร ไปจนถึงทำการเจรจาหนี้ และสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนภาคเอกชนให้ง่ายขึ้น เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อลง

ที่มา : https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/09/19/food-prices-affect-families-in-lao-pdr-despite-easing-inflation

8 เดือนแรกของปี กัมพูชานำเข้า น้ำมันและก๊าซ มูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ปีนี้ กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซมูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคาดว่าความต้องการในการใช้ผลิตภัณณ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 จากปริมาณ 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 100% ซึ่งมีแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่มาจากไทย เวียดนาม และสิงคโปร์

ด้าน OPEC, สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ล้วนคาดการณ์ถึงการขาดดุลของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในไตรมาสหน้า เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ควบคุมอุปทานการผลิตและการส่งออกทั่วโลก โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันจ่อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันในกัมพูชาล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) อยู่ที่ 1.12 ดอลลาร์ ต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลราคาอยู่ที่ 1.15 ดอลลาร์ ต่อลิตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362703/cambodia-imports-oil-and-gas-products-worth-2-28-billion-in-the-first-eight-months-of-the-year/

AMRO ปรับการเติบโต GDP ของกัมพูชาเหลือ 5.3%

องค์กรวิจัยเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กัมพูชา ลงเหลือร้อยละ 5.3 สำหรับการประมาณการครั้งที่ 3 ภายในปี 2023 ด้วยการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชามีอัตราการเติบโตที่ช้าลง และภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จึงทำให้ AMRO ปรับลดการเติบโตของ GDP ลงเหลือร้อยละ 5.3 จากร้อยละ 5.7 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 5.9 ในเดือนเมษายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362523/amro-revises-down-cambodias-gdp-growth-to-5-3-for-2023/

กลุ่มทุนยักษ์ซาอุฯ เตรียมทุ่ม 2 แสนล้านตั้งคลังน้ำมันภาคใต้ของไทยฮับอาเซียน เทียบเท่าสิงคโปร์

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้เข้าร่วมคณะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคี และส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ในการเร่งผลักดันการค้า การลงทุน

ทั้งนี้ ทางซาอุฯ สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ของไทยโดยพร้อมลงทุน 200,000 ล้านบาท ในการตั้งศูนย์กลางในการกระจายน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นแหล่งใหม่ในการกระจายน้ำมันในภูมิภาคนี้ และจะมีขนาดใหญ่ไม่น้อยไปกว่าที่สิงคโปร์ และมีแนวโน้มที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านน้ำมัน และปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้ คาดว่าในระยะสั้นจะชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสิงคโปร์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวหากไทยรักษาลูกค้าได้ดีกว่ามีโอกาสที่จะแซงหน้าสิงคโปร์ได้ในอนาคต

ที่มา : https://thailandnews.asia/28631/

‘เวียดนาม’ ยื่นนโยบายเงินอุดหนุน 1,000 ดอลลาร์ ส่งเสริมคนซื้อรถ EV

กระทรวงคมนาคมเวียดนาม (MOT) ได้จัดทำรายงานเสนอนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานสีเขียว โดยเสนอให้มีการสนับสนุนเงินจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันได้มีการเผยแพร่เอกสารไปยัง 7 กระทรวง และสมาคมผู้ผลิตยานยนต์เวียดนาม (VAMA) รวมถึงบริษัทผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ในท้องถิ่น เพื่อขอความคิดเห็นจากนโยบายฉบับนี้ ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติ นโยบายนี้จะเป็นมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40031139

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งแห่งเอเชีย

ศาสตราจารย์ คาร์ล เทเยอร์ (Carl Thayer) นักวิชาการด้านการศึกษาในเวียดนาม ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุใดที่จะผลักดันให้เวียดนามกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย โดยเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของเวียดนามในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยอัตราการเติบโตทางการค้าเป็นตัวเลขสองหลัก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) แสดงความคิดเห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดสว่างทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าเวียดนามกลายมาเป็นดาวเด่นของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-is-a-rising-star-in-asia-professor-2187344.html

‘เมียนมา’ เตรียมชูฟรีวีซ่า VOA เหตุดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย

จากสื่อทางการของเมียนมา ‘Global New Light of Myanmar’ ได้อ้างข้อมูลจากกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมา ระบุว่าเมียนมาเตรียมที่จะเสนอวีซ่าท่องเที่ยว Visa on Arrival (VOA) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยผู้ถือวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมสถานที่ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่หวงห้าม เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเมียนมาเข้าสู่ภาวะถดถอย สาเหตุสำคัญมาจากค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ และปัญหาไฟฟ้าดับในเมืองใหญ่ ทำให้ตู้เอทีเอ็มดับ

ที่มา : https://www.travelandleisureasia.com/in/news/myanmar-to-offer-visa-on-arrival-to-chinese-and-indian-tourists/

นายกฯ สปป.ลาว ให้คำมั่น พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนโครงการ BRI

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.) นายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ของ สปป.ลาว แสดงความพร้อมในการสนับสนุนโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างใกล้ชิด โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีเปิดงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 ณ เมืองหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งกล่าวว่า สปป.ลาว พร้อมที่จะรักษาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีนและสมาชิกประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามข้อริเริ่มดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสองประเทศกำลังก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ที่เริ่มให้บริการแล้วในปัจจุบัน ส่งเสริมทั้งภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เป็นอย่างมาก

ที่มา : http://en.people.cn/n3/2023/0918/c90000-20073122.html

CAC รายงานการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังเวียดนามลดลง 16%

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบ (RCN) ปริมาณกว่า 607,000 ตัน ไปยังเวียดนาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศ 820 ล้านดอลลาร์ แต่กลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ Uon Silot ประธานสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา (CAC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาผลิต RCN ได้ประมาณ 634,000 ตัน ณ ช่วงเดือน ม.ค.–ส.ค. โดยประมาณร้อยละ 95 ถูกส่งออกไปยังเวียดนาม สำหรับราคาเฉลี่ยของ RCN ในปัจจุบันอยู่ที่ 1,658 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,900 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ของกัมพูชา เพื่อให้ผ่านมาตรฐานการส่งออก ด้านประธานสมาคม CAC ยังได้ร้องขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาตลาดในการส่งออกและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการ หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดมะม่วงพิมพานต์ของประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361913/cashew-exports-to-vietnam-decline-16-says-cac/

กัมพูชาและจีน หวังใช้ กลยุทธ์ 5 ประการ ร่วมกับยุทธศาสตร์ BRI

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ตกลงที่จะนำกลยุทธ์ 5 ประการ มาปรับใช้ ร่วมกับยุทธศาสตร์ Bridge and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นแผนหลักในการกระชับความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีน โดยคำแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าการนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาปรับใช้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและจีน ในการส่งเสริมการลงทุนและเสริมกำลังการผลิตให้แก่กัมพูชา เพื่อเปลี่ยนพระสีหนุให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความอเนกประสงค์ เป็นต้นแบบเขตอุตสาหกรรม และเกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีในกัมพูชา สำหรับยุทธศาสตร์ทั้งสองฉบับมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ปลา ข้าว ผลไม้เมืองร้อน ผัก และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงปุ๋ยและอาหารสัตว์ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นลำดับแรก ซึ่งการปรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังคาดว่าจะขยายกรอบความร่วมมือภาคพลังงานในรูปแบบต่างๆ ร่วมด้วย เพื่อการพัฒนาพลังงานสีเขียว ให้มีความยั่งยืน รวมถึงตอบสนองต่อประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361712/cambodia-china-agree-to-adopt-pentagonal-bri-strategies/