“เมียนมา” เผยเดือน พ.ค. ส่งออกน้ำผึ้งทะลุ 330 ตัน

ตามรายงานของ Livestock Breeding and Veterinary Department (LBVD) ระบุว่าในเดือน พ.ค. ของปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมาประสบความสำเร็จครั้งใหญ่จากการส่งออกน้ำผึ้งไปยังต่างประเทศกว่า 300 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากการส่งออกน้ำผึ้งไปยังตลาดต่างประเทศนั้น ประเทศไทยนำเข้าน้ำผึ้งจากเมียนมา 140.7 ตัน, ญี่ปุ่น 176 ตัน และเกาหลีใต้ 20 ตัน ทั้งนี้ ธุรกิจการเลี้ยงผึ้งในเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตสะกาย เขตมัณฑะเลย์ เขตมาเกวและรัฐฉาน โดยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้หลายชนิด ได้แก่ น้ำผึ้งงา น้ำผึ้งพุทรา น้ำผึ้งไนเจอร์ น้ำผึ้งดอกทานตะวัน น้ำผึ้งลิ้นจี่ และน้ำผึ้งดอกไม้ นอกจากนี้ น้ำผึ้งของเมียนมายังเป็นยาแผนโบราณและทำรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-honey-exports-exceed-330-tonnes-in-may/#article-title

แรงงานสัญชาติ สปป.ลาว เดินทางทำงานยังเกาหลีใต้มากขึ้น

รัฐบาล สปป.ลาว คาดส่งแรงงานไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เพื่อทำงานในภาคเกษตรและประมง โดยหวังว่าแรงงานจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในภาคการเกษตรของเกาหลี เพื่อให้สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลในการส่งเสริมภาคการเกษตร ซึ่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมร่วมกับจังหวัด Gyeongsangnam-do ของเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนแรงงานภาคเกษตร โดยสิ่งนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการผลิตทางการเกษตรใน สปป.ลาว ซึ่งทางการ สปป.ลาว ตั้งเป้าส่งแรงงาน 1,500-2,000 คน ไปทำงานยังเกาหลีในแต่ละปีภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว โดยปัจจุบันทางการ สปป.ลาว รายงานว่ามีแรงงาน สปป.ลาว เดินทางไปทำงานยังเกาหลีอย่างน้อย 2,800 คน ด้วยการทำสัญญาระยะสั้นระหว่างปี 2022-2023 จนถึงขณะนี้ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้แรงงานตามฤดูกาลกับ 28 เมืองในเกาหลีใต้ ซึ่งแรงงานทำงานเป็นเวลา 90 วัน หรือ 5 เดือน ในภาคเกษตรกรรมและการประมง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten117_More_y23.php

นายกฯ ฮุนเซน เรียกร้องเร่งศึกษาแหล่งน้ำมันดิบใต้ก้นทะเลกัมพูชา

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวว่า กัมพูชามีแหล่งน้ำมันที่มีศักยภาพใต้ก้นทะเลที่รอการสำรวจและการลงทุน ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีเปิดโรงงานบำบัดน้ำ Bakheng ในกรุงพนมเปญ โดยสนับสนุนให้ทำการศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำมันใต้ก้นทะเลกัมพูชา เพื่อมองหาโอกาสในการลงทุน ซึ่งหวังว่าในอนาคตกัมพูชาอาจมีการลงทุนในอุตสาหกรรทการผลิตน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันอยู่ใต้พื้นที่โตนเลสาบที่ยังไม่ได้ศึกษาและสำรวจ ในอดีตกัมพูชาเคยมีการผลิตน้ำมันครั้งแรกดำเนินการโดย บริษัท KrisEnergy เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2020 และบริษัทได้ยื่นฟ้องล้มละลายประมาณหกเดือนหลังจากดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2021 ส่งผลทำให้บริษัทต้องปิดกิจการลง แต่ในปัจจุบันกระทรวงและบริษัทพลังงานสัญชาติแคนาดา ได้ร่วมพูดคุยและหารือเกี่ยวกับการศึกษาร่วมกันเพื่อเริ่มต้นการทำงานใหม่ โดยอุปกรณ์ที่มีอยู่จะกลับมาทำงานในบล็อกน้ำมันในไม่ช้า ขณะที่การนำเข้าน้ำมันและก๊าซของกัมพูชาอยู่ที่ 1.15 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2020 เป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501310756/pm-calls-for-study-on-cambodias-untapped-oil-reserves/

คาดความช่วยเหลือและการลงทุนของจีน มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของกัมพูชา

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเมื่อไม่นานว่า ความช่วยเหลือและการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของจีน มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกัมพูชา โดยรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่าด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งปัจจุบันจีนเข้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ และเสียมราฐ-นครวัด สนามบินนานาชาติและอื่น ๆ ในขณะที่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ได้เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311086/chinas-aid-investment-greatly-contribute-to-cambodias-development/

สตาร์ทอัพไทยผงาดเวทีโลกขึ้นอันดับ4อาเซียนและอันดับที่ 52 ของโลก

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย จนเห็นผลจากการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก (Global Startup Ecosystem Index 2023) ประจำปี 2566 ไทยที่ 4 อาเซียน และขยับสูงขึ้นกว่าปีก่อนเป็นอันดับที่ 52 ของโลก โดยได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลก ได้จัดอันดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมือง ที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2560 ทั้งนี้ StartupBlink ระบุว่า ประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้นตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา ผ่านการปฏิรูป รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยไทยไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad เข้ามาด้วย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาครัฐให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพมากขึ้น ในฐานะหัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงมีนโยบายดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในไทย ผ่านโครงการ Elite Visa Smart Visa และ Long-Term Residents Visa รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สามารถดึงดูดและช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อการลงทุนจากต่างชาติได้

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/456242

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ศุลกากรแหลมฉบังเก็บภาษีครึ่งปีทะลุเป้ากว่า 172,028 ล้านบาท

นายประสิทธิ์ ดีจงเจริญ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงผลประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น ทั้งนี้ จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวมส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ 8 เดือนของปีงบฯ 66 (ต.ค.65 – พ.ค.66) ของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สามารถจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 172,028.777 ล้านบาท โดยจัดเก็บเป็นอากรศุลกากร ค่าธรรมเนียมและรายได้เบ็ดเตล็ดรวม 35,069.377 ล้านบาท และจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่นๆ (ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย) รวม 136,959.399 ล้านบาท

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230619142059049

“พาณิชย์” แนะผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดเวียดนาม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะนำผู้ค้าปลีกไทยที่ลงทุนในตลาดเวียดนามให้ความสำคัญกับการกระบวนการผลิตสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและฉลากเขียว อีกทั้งแนะนำให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจช่องทางโซเชียลมีเดียในเวียดนาม อาทิเช่น การขายสินค้าบน Facebook Live และ TikTok ซึ่งจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคชาวเวียดนามได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายการค้าไปยังตลาดเวียดนาม เนื่องจากใช้ต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการเปิดร้านค้าจริง และยังช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ ทำให้ธุรกิจที่ต้องการเข้าตลาดออนไลน์ในเวียดนาม จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซในประเทศเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thai-retailers-advised-to-effectively-exploit-vietnamese-market/254883.vnp

“ผู้เชี่ยวชาญ” ชี้เวียดนามมียอดการชำระเงินผ่านธนาคารสูงถึง 40 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน

คุณฝั่ม แอง ต๋วน (Pham Anh Tuan,) ผู้อำนวยการฝ่ายระบบการชำระเงินของธนาคารแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าการชำระเงินแบบไร้เงินสดในเวียดนามเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สังเกตได้จากมูลค่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารเฉลี่ย 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนามได้ตั้งเป้าว่าบัญชีทั้งประเทศกว่าครึ่งหนึ่งของระบบการเงินจะหันมาใช้วิธีการชำระเงินแบบไร้เงินสดทั้งหมดภายในปี 2568 โดยจัดความสำคัญมาที่การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินให้ครอบคลุม เข้าถึงได้และมีความปลอดภัย เพื่อให้การชำระเงินแบบดิจิทัลเป็นรูปแบบการทำธุรกรรมที่ต้องการสำหรับทุกคน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/average-payments-via-banks-reach-40-billion-usd-a-day-insider/254892.vnp

“เมียนมา” ทำรายได้จากการส่งออกถั่วพัลส์ ทะลุ 240 ล้านดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา เปิดเผยว่าเมียนมาทำสถิติส่งออกถั่วพัลส์มากกว่า 310,000 ตัน และสร้างรายได้มากกว่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 โดยรายงานระบุว่า การขนส่งถั่วพัลส์ปริมาณข้างต้นแบ่งเป็นผ่านเส้นทางทางทะเลมากกว่า 280,816.8 ตัน คิดเป็นมูลค่า 212.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเส้นทางการค้าผ่านช่องทางอื่นๆ 29,756.2 ตัน ทั้งนี้ ตลาดอินเดียมีความต้องการถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อการบริโภคในประเทศ อีกทั้งจากการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างเมียนมา-อินเดีย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ทำให้อินเดียมีแนวโน้มว่าจะนำเข้าถั่วเขียวผิวดำเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน จากเมียนมา เป็นระยะเวลา 5 ปี ในปีงบประมาณ 2568-2569 โดยข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อโควต้ารายปีที่กำหนดไว้ของอินเดีย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-240-mln-in-export-of-pulses-within-two-months/#article-title

โรงงานปูนซีเมนต์ในอุดมไซ สปป.ลาว ตั้งเป้าผลิต 2 ล้านตันต่อปี

โรงงานปูนซีเมนต์ Oudomxay Jiangge ในจังหวัดอุดมไซ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์รายใหญ่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านกีบ ภายใต้อุปกรณ์การผลิตและเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัยระดับโลก โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2017 บริษัท Guizhou Jiangge Cement Co., Ltd. เริ่มเข้าลงทุนด้วยการซื้อกิจการโรงงานปูนซีเมนต์ในอุดมไซและโรงงานปูนซีเมนต์ในหลวงพระบาง ซึ่งบริษัทยังได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการสำคัญอย่าง Belt and Road Initiative ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้านนาย Lin Peiliang ประธาน บริษัท Oudomxay Jiangge Cement กล่าวเสริมว่าบริษัทไม่เพียงแต่จะมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้นำด้านการผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของ สปป.ลาว แต่ยังมุ่งส่งออกไปยังประเทศจีน ไทย และเวียดนาม ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten116_Oudomxay.php