ข้อตกลง ‘UKVFTA’ กระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ

นาย Tran Quoc Khanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยในงานจัดสัมมนาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่าด้วยเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหราชอาณาจักร (UKVFTA) ถือเป็นทางด่วนทางการค้าที่ช่วยกระตุ้นการค้าระดับทวิภาคี ถึงแม้ว่าผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าเสรีอยู่ในช่วงการแพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศสูงถึง 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการส่งออกของเวียดนามไปยังสหราชอาณาจักร ขยายตัว 16% ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวจะเปิดโอกาสมากขึ้นสำหรับทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการประสานความร่วมมือและพึ่งพาความแข็งแกร่งของกันและกัน ส่งผลให้มูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ คุณ Nguyen Thu Trang ผู้อำนวยการศูนย์ WTO กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรี “UKVFTA” ดีกว่าข้อตกลงอื่นๆ เนื่องจากมีกรอบระยะเวลาเตรียมการถึง 5 เดือน สำหรับบริษัทเวียดนามในการปรับตัวให้เข้ากับกฎการค้าใหม่

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1165295/ukvfta-boosts-bilateral-trade.html

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ บีบให้เวียดนามค้นหาซัพพลายเออร์ปุ๋ยรายอื่นทดแทน

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เวียดนามต้องค้นหาซัพพลายเออร์ปุ๋ยรายอื่น เพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและราคาที่สูงขึ้น กระทรวงเกษตรและพัฒนาบท (MARD) เปิดเผยว่าความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดปุ๋ยในประเทศ ซึ่งประสบปัญหากับการขาดแคลนทางด้านอุปทานและราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น เหตุจากการได้รับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการหยุดชะงักห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกปุ๋ยที่มีต้นทุนต่ำที่สุดรายใหญ่ของโลก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตฯ ของรัสเซียประกาศให้ผู้ผลิตปุ๋ยของประเทศทำการหยุดการส่งออกชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ ราคาปุ๋ยทำสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปี ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิต ทำให้ผลักดันราคาปุ๋ยให้สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ที่มา : https://vir.com.vn/russia-ukraine-conflict-forces-vietnam-to-look-for-alternative-fertiliser-suppliers-91979.html

ราคาถั่วชิกพีพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าในปีนี้

ผู้ค้าถั่วในมัณฑะเลย์ เผยความต้องการราคาถั่วชิกพีมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพุ่งไปอยู่ที่ 132,000 จัตต่อถุง จาก 80,000 จัตต่อถุง ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ชื่นชอบการบริโภคถั่วชิกพีเพราะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และรสชาติที่เข้มข้น แกงที่ทำจากถั่วชิกพีเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ความต้องการในประเทศที่สูงขึ้นกระตุ้นให้โรงงานในมัณฑะเลย์เร่งเปิดดำเนินการ สามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้อีกด้วย ด้านการส่งออกตลาดหลัก คือ อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี เป็นต้น ทั้งนี้พื้นที่การเพาะปลูกถั่วชิกพีทั่วประเทศอยู่ที่ 890,000 เอเคอร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ซะไกง์ อิรวดี และเนปิดอว์ การเพาะปลูกจะอยู่ในช่วงเดือนต.ค.และพ.ย.และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนม.ค.ถึงเม.ย. ของแต่ละปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/chickpea-prices-rise-to-double-this-year/

ทางรถไฟสายเวียงจันทน์-หวุงอ่าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน

การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมเมืองเวียงจันทน์กับท่าเรือหวุงอ่างในจังหวัดห่าติ๋งตอนกลางของเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางรถไฟดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเส้นทางที่รัฐบาลสปป.ลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาซึ่งจะช่วยให้สปป.ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลสามารถเข้าถึงท่าเรือน้ำลึกเพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งอีกทางได้ โครงการรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lao Logistics Link ซึ่ง PetroTrade เป็นบริษัทในเครือของ PTL Holding Company Limited ได้รับไฟเขียวให้ร่วมมือกับรัฐบาลสปป.ลาวและเวียดนามเพื่อพัฒนา นอกจากเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสปป.ลาวและเวียดนามแล้ว ทางรถไฟจะเชื่อมต่อตลาดขนส่งสินค้าของไทยและเมียนมาร์โดยตรงกับท่าเรือหวุงอ่าง ซึ่งสปป.ลาวถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 60 ของโครงการและที่เหลือเป็นของรัฐบาลเวียดนาม ท่าเรือนี้อยู่ในตำแหน่งที่ดีเพื่อใช้เป็นประตูระหว่างเวียดนามตอนกลาง สปป.ลาวกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในการเชื่อมการค้ากัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Work53.php

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมส่งเสริมการค้าทวิภาคี

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามในการฟื้นฟูวิกฤตหลังวิกฤตโควิด-19 และความคืบหน้าของการตอบสนองของอาเซียนต่อวิกฤตโควิด-19 ไปจนถึงการส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างกัน โดยกัมพูชาและสิงคโปร์ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ในด้านการลงทุนของสิงคโปร์ในกัมพูชาระหว่างปี 1994-2020 มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.29 พันล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์นำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น รวมไปถึงพริกไทย น้ำตาลปี๊บ มะม่วง และข้าวสาร เป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักร อาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ อัญมณี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042016/cambodia-singapore-to-further-boost-bilateral-trade/

กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 512 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี

กรมสรรพากรกัมพูชา รายงานการจัดเก็บภาษีในช่วง 2 เดือนแรกของปี มูลค่ารวมอยู่ที่ 512 ล้านดอลลาร์ (2,074.66 พันล้านเรียล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน ก.พ. เพียงเดือนเดียว กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีในหมวดภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.18 ที่มูลค่า 190.15 พันล้านเรียล ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 252.78 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 ส่วนภาษีพิเศษเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 105.67 พันล้านเรียล หรือคิดเป็นร้อยละ 17.19 ภาษีเงินเดือนอยู่ที่ 98.42 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.17 และภาษีในการโอนอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 63.23 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้น 16.98

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042010/tax-collection-rises-22-to-512-million-in-two-months/

เอดีบีชี้โควิด-19 ทำอาเซียนยากจนที่สุดปี 64

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) เผยแพร่รายงาน“การฟื้นตัวจากโรคระบาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในที่ประชุมเชิงสัมมนาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADS) วันนี้ (16 มี.ค.65) ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคน อยู่ในความยากจนที่สุดในปี 2564 ขณะที่การจ้างงานในปีดังกล่าวหายไปถึง 9.3 ล้านอัตรา เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เอดีบี ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอนอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2565 ลดลง 0.8% ขณะที่คาดการณ์ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้ยังคงต่ำกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิด-19 ระบาดมากกว่า 10% โดยในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะ แรงงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนในโลกดิจิทัล ซึ่งเอดีบี ระบุด้วยว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะสดใสขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย การฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่ภูมิภาคนี้ยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบต่างๆ ที่รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/993991

ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ CLMV ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3233119

‘บลจ. VinaCapital’ ปรับลดประมาณการ GDP เวียดนาม โต 6.5% ในปีนี้

VinaCapital หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในเวียดนาม ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวที่ 6.5% หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1%

คุณ Michael Kokalan หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบลจ. VinaCapital กล่าวว่าความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้สร้างผลกระทบต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศและกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรดีความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเวียดนามเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ คือราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อของเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1-2%

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างกระทันหัน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเวียดนาม (VND) อ่อนค่าลง 1-2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/vinacapital-lowers-vietnam-s-estimated-gdp-rate-to-6-5-this-year-822837.html

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ โจทย์ที่ท้าทายของผู้ส่งออกเวียดนาม

นาย เหวียน จิ ฮิว (Nguyen Tri Hieu) นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่ารัสเซียมีความต้องการสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร อาหารทะเลและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากได้รับผลกระทบทางลบด้านอุปทานจากความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ถึงแม้ว่าผู้ส่งออกเวียดนามจะหยุดส่งสินค้าไปยังรัสเซีย แต่ก็ยังมีตลาดทางเลือกที่ช่วยลดความเสียหาย เพราะกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าที่สำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ CPTPP และ EVFTA อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเวียดนามในระยะสั้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำการค้าในตลาดรัสเซียและยูเครนเป็นตลาดหลัก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1164951/russia-ukraine-conflict-represents-a-challenge-for-exporters.html