‘ประยุทธ์’ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ย้ำร่วมมือด้านวัคซีน-สิ่งแวดล้อม-พัฒนาดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาฯ ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน เข้าร่วมด้วย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงความสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนที่มีความสำคัญมากขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิด AOIP และเห็นว่าการก้าวผ่านศตวรรษที่ 21 ต้องร่วมมือกันเพื่อสู้กับโควิด-19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกัน และการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งหวังที่จะได้ร่วมกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป ตลอดจนยืนยันที่จะมีความช่วยเหลือให้กับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อสนับสนุนอาเซียนให้ Build Back Better ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเสนอแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-สหรัฐฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความร่วมมือในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 2.การให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว เพื่อก้าวไปสู่ “Next Normal” อย่างยั่งยืน และ 3.การพัฒนาด้านดิจิทัล

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/politics/news_6698213

เปิดประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อมเสวนารับมือโควิด

การประชุมสุดยอดครั้งที่ 38 และ 39 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เปิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม โดยมีการอภิปรายเน้นไปที่ความพยายามร่วมกันในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติและในการส่งเสริมพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา และสังเกตบทบาทสำคัญของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ แต่ประเด็นที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้อยู่ในเรื่องของการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ บรรดาผู้นำได้หารือถึงความพยายามร่วมกันในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ พวกเขาสังเกตเห็นการจัดตั้งศูนย์สุขภาพและกองทุนรับมือ Covid-19 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญในภายภาคหน้าต่อระบบสาธารณสุขในประเทศที่อ่อนแอและระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean_210_21.php

ธปท. เผยนักวิเคราะห์ยังหั่น GDP ไทยปีนี้โตเหลือ 0.6% แม้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4 ห่วงโควิดกลับมาระบาดรุนแรง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 โดยผลสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 0.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.3% แต่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว สะท้อนจากการคาดการณ์ว่าทุกเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจะขยายตัวเล็กน้อย จากแรงสนับสนุนทั้งนโยบายด้านการคลังและการเงิน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว

ที่มา : https://thestandard.co/gdp-growth-of-thailand-this-year-to-0-6per/

เศรษฐกิจเวียดนาม ตามแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากกำลังซื้อที่ตกต่ำจากผลกระทบของโควิด-19 โดยทางดร. Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2% ราคาอาหารปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้ง เมื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างสมบูรณ์ ราคาอาหารจะปรับตัวลดลงอีกครั้ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประชาชนลดลงและเมื่อกำลังซื้อต่ำ ราคาดังกล่าวจะไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ ดร. Pham The Anh มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าดัชนี CPI ที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่จากการได้รับผลกระทบของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/national-economy-under-inflationary-pressure-900562.vov

ยอดค้าเวียดนามกับเอเชีย ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 313 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เอเชียคงเป็นคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม ตามตัวเลขสถิติของกรมศุลกากรเวียดนามการค้า พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมกันทั้งสิ้น 313 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบ่งเป็นการส่งออก 115.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% และการนำเข้า 197.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.7% เวียดนามขาดดุลการค้ามากกว่า 82 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปยังตลาดภูมิภาค ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ สินค้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องจักรและอะไหล่ เป็นต้น โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในเอเชีย มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 119.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียนและญี่ปุ่น 56.39, 50.97 และ 30.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-trade-with-asia-reaches-over-us313-billion-in-nine-months-900573.vov

“ราคาข้าวในประเทศดิ่ง” จากการบริโภคที่หดตัวลง

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เผย ราคาข้าวทั้งคุณภาพสูงและช้าวคุณภาพต่ำในประเทศลดลงเล็กน้อย ในตอนนี้ ข้าวหอม “Pearl Paw San” ราคาอยู่ที่ 47,000 จัตต่อถุง ลดลงเหลือ 46,000 จัตต่อ ในทำนองเดียวกัน ราคาข้าว. “Kyarpyan” อยู่ในช่วง 49,000-50,000 จัตต่อถุง ขยับลดลงเหลือ 47,500-48,000 จัตต่อถุง ในทำนองเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ราคาข้าวคุณภาพต่ำตั้งไว้ที่ 26,500 จัตต่อถุง แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 25,000 จัตต่อถุง ข้าวอายุ 90 วัน ซื้อขายกันในราคา 31,000 จัตต่อถุง แต่ตอนนี้มีราคาเพียง 30,000 วอนต่อถุงเท่านั้น โดย MRF ให้ข้อมูลว่าราคาข้าวที่ลดลงน่าจะเกิดจากความต้องการบริโภคข้าวในประเทศที่ลดน้อยลง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/domestic-rice-price-falls-slightly/#article-title

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลในปีหน้า

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกเพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการลงทุนสาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพของประเทศ ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นส่วนหนึ่งของการลดปริมาณเงินกู้จากต่างประเทศลง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศมากกว่า เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการลงทุนสาธารณะประมาณ 35 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ชลประทาน โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งกระทรวงระบุเสริมว่าการออกพันธบัตรถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ รวมถึงในปัจจุบันปริมาณหนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50958999/cambodia-plans-the-inaugural-issuance-of-300-million-sovereign-bonds-of-300-million-next-year/

รมว.พาณิชย์กัมพูชาร่วมลงนาม FTA กับเกาหลีใต้

กัมพูชาและเกาหลีใต้ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะลดภาษีนำเข้าระหว่างกันมากกว่าร้อยละ 90 ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งตกลงกันในขั้นต้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่า กัมพูชาจะยกเลิกภาษีสินค้าร้อยละ 93.8 และเกาหลีใต้จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีร้อยละ 95.6 ของสินค้านำเข้าจากกัมพูชา โดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าวเสริมว่า FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา ซึ่งตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 คิดเป็นมูลค่า 259.1 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 461.4 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้ โดยปีที่แล้วปริมาณการค้าทวิภาคีลดลงร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่ารวม 885 ล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50959287/commerce-minister-signs-free-trade-agreement-with-south-korea/

รัฐบาลจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าให้ผู้นำรัฐ

รัฐบาลจะซื้อยานพาหนะไฟฟ้าให้แก่ผู้นำระดับสูงของรัฐภายในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดการนำเข้าเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตราย การแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินด้วยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รัฐบาลเชื่อว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับยานพาหนะของรัฐได้อย่างมาก อีกทั้งรัฐบาลสปป.ลาวมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนการใช้งานในสปป.ลาวเป็น 1%ภายในปี 2568 และมากกว่า 30% ภายในปี 2573 การดำเนินนโยบายดังกล่าวตอกย้ำความตั้งใจของรัฐบาลในการลดการนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ประหยัดน้ำมันและส่งเสริมการใช้ไฟฟ้า ตลอดจนลดแรงกดดันต่อรัฐบาลในการหาสกุลเงินต่างประเทศที่จำเป็นในการนำเข้าเชื้อเพลิง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_to_buy_209.php

รัฐบาลกัมพูชา อนุมัติร่างกรอบงบประมาณปี 2022

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติร่างกรอบงบประมาณประจำปี 2022 ภายใต้กรอบวงเงิน 8.013 พันล้านดอลลาร์ ส่วนด้านกรอบรายรับของประเทศตั้งไว้ที่ประมาณ 5.771 พันล้านดอลลาร์ โดยร่างกฎหมายงบประมาณได้รับการอนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธาน โดยรายจ่ายที่อนุมัติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปี 2021 หรือเท่ากับร้อยละ 26.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และรายรับของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 หรือคิดเป็นร้อยละ 17.7 ของ GDP โดยรัฐบาลยังได้กำหนดสิทธิไถ่ถอนเงินพิเศษ (SDRs) ไว้ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐบาลสามารถลงนามในการกู้ยืมเงินนำมาบริหารประเทศ จากจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไทย เกาหลีใต้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ธนาคารโลก และจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลยังได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.8 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.4 ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50958209/government-approves-budget-bill-for-2022/