คาดค้าชายแดนไทยปี’64 ฝ่าวิกฤตเติบโตกว่า 28% ตลาดจีนตอนใต้ขึ้นแท่นอันดับ 1 เป็นครั้งแรก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สถานการณ์ส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีภาพสดใสขึ้นเป็นลำดับ ด้วยอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในปีก่อน กำลังซื้อและราคาพลังงานปรับสูงขึ้นทำให้ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 38 (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 682,184 ล้านบาท นำโดยตลาดการค้าผ่านแดนที่นับวันยิ่งมีความน่าสนใจด้านกำลังซื้อและความต้องการสินค้าที่หลากหลายจากสิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนามและอื่นๆ เติบโตร้อยละ 61.1 (YoY) แตกต่างจากตลาดที่มีพรมแดนติดกับไทยทั้งมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาที่สินค้าไทยทำตลาดได้จำกัดขยายตัวร้อยละ 22.2 (YoY)

การส่งออกหลังจากนี้น่าจะเติบโตได้ด้วยแรงส่งจากส่งออกไปยังตลาดประเทศที่ 3 โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนตอนใต้ล่าสุดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 มีแรงผลักดันจากการการขนส่งผลไม้ทางถนนไปยังจีนได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าผลไม้อย่างจริงจัง เนื่องจากทางการจีนคุมเข้มในการตรวจสอบผลไม้บริเวณด่านชายแดนในด้านมาตรฐานการปลูกที่ดี GAP (Good Agricultural Practice) การคัดแยกและบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) การควบคุมปริมาณสารปนเปื้อน และตรวจสอบสิ่งเจือปนที่ติดมากับผลไม้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วงที่เหลือของปีอาจเติบโตช้าลงด้วยผลของฐานที่ต่ำเริ่มหายไป ประกอบกับเศรษฐกิจในหลายประเทศมีสัญญาณพื้นตัวจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะตลาดจีนตอนใต้มีสัญญาณบวกมากกว่าประเทศอื่นๆ จึงเป็นตลาดที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมตลอดปี 2564 ทำให้คาดว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 28 แตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 980,000 ล้านบาท ในกรณีดีถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเป็นลำดับ กำลังซื้อของคู่ค้าฟื้นตัวเร่งขึ้น อีกทั้งการส่งออกผลไม้ไปจีนในช่วงที่เหลือของปีเป็นไปอย่างราบรื่นมีโอกาสที่มูลค่าส่งออกจะขยายตัวถึงร้อยละ 33 แตะมูลค่าที่ 1,020,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มูลค่าการส่งออกชายแดนเร่งตัวเกินดว่า 1,000,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไป ตลาดจีนตอนใต้จะยิ่งทวีความสำคัญในฐานะตลาดส่งออกชายแดนอันดับ 1 ของไทย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกที่แซงหน้ามาเลเซียได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 2564 ซึ่งการเปิดดำเนินการของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-สปป.ลาวในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ เสมือนเป็นการยกระดับการขนส่งระหว่างนครเวียงจันทน์-แขวงหลวงพระบาง-แขวงหลวงน้ำทา-นครคุนหมิง อันเป็นเส้นทางการขนส่งทางบกผ่านหุบเขาสูงชันที่ยากลำบากสายหนึ่งให้ผลิกโฉมไปเป็นเส้นทางที่ขนส่งได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เป็นทางเลือกในการส่งออกไปยังมณฑลหยุนหนานได้เพิ่มเติมจากเดิมที่การส่งออกไปยังมณฑลหยุนหนานมักจะใช้เส้นทางสาย R3A เห็นหลัก ดังนั้น มีโอกาสที่การส่งออกไปมณฑลหยุนหนานจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกไปยังจีนตอนใต้เติบโตสูงขึ้นในระยะข้างหน้า จากปกติการเติบโตหลักมาจากการส่งออกไปยังปลายทางเขตปกครองตนเองกว่างซีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82 ของการส่งออกชายแดนไทยไปยังไปจีนตอนใต้​​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Border-Trade-z3271.aspx

ส่องจังหวะการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอาเซียน หลังจากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในการปรับลดขนาดมาตรการ QE

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

สถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายลงโดยเฉพาะในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและเติบโตเหนือระดับก่อนโควิด ตลาดแรงงานที่เริ่มกลับสู่ระดับปกติมากขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีสัญญาณเร่งตัวเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตลาดการเงินโลกรวมทั้งตลาดการเงินของอาเซียนอีกครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณพิจารณาถึงการปรับลดขนาดของมาตรการ QE ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้และนำไปสู่คาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้นนโยบายสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2565

 

ในทำนองเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปก็ได้ส่งสัญญาณที่จะลดขนาด QE ลงในการประชุมรอบล่าสุดที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เป็นธนาคารกลางแรกๆ ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินเดือนสิงหาคม 2564  จากหลังเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 2.6% ในเดือนสิงหาคม 2564 อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ตลอดจน การปรับขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่เป็นผลจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนทะลุระดับ 100% ของจีดีพีเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ธนาคารกลางยุโรป ตลอดจน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ อาจเป็นภาพสะท้อนถึงทิศทางของคลื่นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินที่กำลังเข้าใกล้เศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเทศสิงคโปร์น่าจะเป็นผู้นำของเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน-6 ที่เริ่มปรับท่าทีการดำเนินโนยายการเงินให้เข้มงวดขึ้นผ่านการปรับความชันของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2565 หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและขนาดเศรษฐกิจกลับไปสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้วเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนฟิลิปปินส์คงจะเป็นประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันในการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นรายต่อไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การไหลออกของเงินทุน ตามมาด้วยเศรษฐกิจเวียดนามที่คงมีปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินหลังจากที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตตามระดับศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจตลอดจนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เวียดนามอาจถูกจัดในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน

 

ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียคงเลือกจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเฟดเนื่องจากตลาดการเงินของอินโดนีเซียและมาเลเซียมีระดับของการพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติที่ค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศกลับมาฟื้นตัวเหนือระดับก่อนโควิดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไทยคาดว่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน-6 อย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องอาศัยการดำเนินโยบายการเงินผ่อนคลายที่นานกว่าประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/QE-z3269.aspx

ผลกระทบช่วงการ LOCKDOWN กรกฎาคม -สิงหาคม 2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบช่วงการ Lockdown กรกฎาคม -สิงหาคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 284 ราย และกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนจำนวน 1,164 ราย ผลการศึกษา ดังนี้

1. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 74.16 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 77.32 มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับไม่เพียงพอ ร้อยละ 48.22% และมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 46.50 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 61.24 โดยมีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.08 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 64.2 ด้านมุมมองต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในจังหวัด พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 50.00 ส่วนรูปแบบการจ้างงานในจังหวัด ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.31 เป็นการจ้างงานไม่เต็มเวลา/ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง หลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนตุลาคม ร้อยละ 32.63 ส่วนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.40 เติบโตน้อยกว่า 0.0 และมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.09 เติบโตน้อยกว่า 0.0 เช่นกัน ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด ควรกำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดาเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

2. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชน พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 72.7 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 59.2 ด้านมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 33.5% โดยมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.6 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.1 มีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.4 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 44.7 ด้านรูปแบบการจ้างงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ยังทำงานเป็นปกติ ส่วนมุมมองหลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 42.5 ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่ เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID 19 ให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

7 หุ้น โรงไฟฟ้าใหญ่ไทย กำลังเติบโตในเวียดนาม

โดย Maratronman I Wealthy Thai

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประชากรที่เพิ่มตัวขึ้นปีละหลายล้านคน รวมถึงประชากรกำลังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศทยอยการลงทุนเข้ามาในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวียดนามเองนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรังสรรค์โครงสร้างพื้นฐานประเทศไว้รองรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อแบบไม่ชะงัก แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามก็ไม่หวั่นตั้งเป้าปี 64 จีดีพีจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.5% จากในปี 63 ที่โตแบบสะดุด

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโต และอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองคงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 80,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

โดยแหล่งพลังงานหลักยังคงเป็นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งและพลังงานลมก็คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานในปี 2021-2030 ยังอยู่ในระดับสูง จาก 8.6 % ในปี 2021-2025 และ 7.2 % ในปี 2026-2030 แผนพัฒนาพลังงานของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานสูงสุด 138,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 และ 302,000 เมกะวัตต์ ในปี 2045

เมื่อเห็นแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามแบบนี้แล้ว นักลงทุนคงจะพอเดากันได้แล้วใช่มั้ยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่ไหนบ้าง ถ้าเดาไม่ออก งั้น Wealthy Thai จะเล่าให้ฟัง มีบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุน มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

4.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

5.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER

7.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL

ที่มา : https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/1496

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

EIC CLMV Outlook Q3/2021

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2021 สร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV แม้ว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวได้สูงอาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้บางส่วน

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การระบาดของ COVID-19 ใน CLMV ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงและสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางอยู่เดิมก่อนแล้ว โดยการควบคุมการระบาดระลอกปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถควบคุมการระบาดในรอบก่อนหน้าได้ดี แต่ในครั้งนี้ การระบาดของเวียดนามกลับอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศมาตรการ lockdown เข้มงวด เช่นเดียวกับเมียนมาที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่บุคลากรทางการแพทย์กลับไม่เพียงพอจากความไม่สงบทางการเมือง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในกัมพูชาและสปป.ลาว ก็มีสูงกว่ารอบก่อนหน้า แต่ยังมีจำนวนต่ำกว่าอีกสองประเทศข้างต้น

สำหรับอุปสงค์ภายนอก ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV ยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การส่งออกจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างที่อาจทำให้มีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ และอาจกลายเป็นปัจจัยฉุดภาคการส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2021 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในระยะต่อไป ได้แก่

1) มาตรการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาได้

2) ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการคลังและการเงินที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3) ปัจจัยความเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความไม่สงบทางการเมืองของเมียนมา และความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะของสปป. ลาว

กัมพูชา

+ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้แข็งแกร่งและความสำเร็จในการกระจายการส่งออกไปยังหลายสินค้ามากขึ้น (export diversification)

+มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการฉีดวัคซีนที่ดำเนินการได้ย่างรวดเร็วและสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

มาตรการ lockdown ที่เพิ่มความเข็มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าจะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังซบเซาจะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

สปป.ลาว

+การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่และการเปิดตัวใช้รถไฟจีน-สปป.ลาว ในเดือนธันวาคม

+การส่งออกที่ขยายตัวสูงจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

การยกระดับมาตรการ lockdown และการปิดพรมแดนอย่างเข็มงวดจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

เสถียรภาพการคลังที่น่ากังวล จากภาระหนี้สาธารณะในรูปเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินกีบอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ

เมียนมา

การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้เมียนมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีจำกัด

การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืน โดยมวลชนจะส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

การหยุดชะงักของระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะพื้นฐาน ได้แก่ การขนส่ง ระบบอินเทอร์เน็ต และการให้บริการของธนาคาร

ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง

เวียดนาม

+ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง

+ FDI ที่ลงทุนในเวียดนามยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า และจำนวนแรงงานที่มีมาก รวมถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ

เวียดนามเผชิญความยากลำบากในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน และส่งผลรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ความเสี่ยงการหยุดชะงักของอุปทานเนื่องจากปิดโรงงานที่ขยายระยะเวลาออกไปยังประเด็นที่ต้องจับตามอง

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7761

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 2/2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้เปิดเผย ‘ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ’ ในไทย (Foreign Business Confidence Index: FBCI) และผลสำรวจความเห็น ‘ดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทย’ ประจำไตรมาส 2/64 ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 (พ.ค.- ก.ค.2564) ซึ่งสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 35 ประเทศ จำนวน 70 ราย ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2564 โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.7 ลดลงจาก 33.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นระดับต่ำสุดนับจากเริ่มต้นสำรวจ

ด้านปัญหาทางธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญอยู่พบว่า อันดับแรกคือ คำสั่งซื้อที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ซบเซา (23.54%) รองลงมาคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา (18.31%) และผู้บริหารและพนักงานเข้าไม่ถึงวัคซีน (12.33%)

ส่วนการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติยังพบด้วยว่า 70% คิดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตติดลบ 42.50% มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐน้อย และ 35.70% ไม่เชื่อมั่นเลย 57% มองว่ามาตรการของรัฐบาลในเวลานี้ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา และ 27% ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงใด โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าอย่างเร็วที่สุดคือไตรมาสแรกของปีหน้า

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤตโควิดสู่มาตรการเศรษฐกิจไทย

โดย วิจัยกรุงศรี I ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มีนาคม 2564) อยู่ที่ 1.8% (สิงหาคม 2564)

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

จากวิกฤตโควิดที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้

วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิดในประเทศต่างๆ พบว่า

  • มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้านเพื่อควบคุมการระบาด
  • มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2564-2568

ที่มา : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Covid19-Response-Policy-2021