การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

การเมืองเมียนมาเสี่ยงสูง กระทบโอกาสผลิตรถในประเทศระยะยาว แต่อุปสงค์ในประเทศที่ชะลออาจทำให้ส่งออกรถจากไทยปี 64 โตเพียง 2%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

หลังการยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา กระแสความกังวลของนักลงทุนได้กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งต่อสถานการณ์ความสงบในประเทศ รวมถึงทิศทางนโยบายต่างๆที่จะออกมานับจากนี้ โดยอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและข้อกฏหมายอยู่หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แม้อดีตเมียนมาจะเป็นตลาดที่น่าสนใจต่อการเข้าไปลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศ จากการที่เมียนมาเป็นตลาดที่กำลังขยายตัว และนโยบายในช่วงที่ผ่านมาก็เอื้อต่อการประกอบรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ รถยนต์เก่าที่ครองตลาดอยู่อีกกว่า 1 ล้านคันในปัจจุบันก็ถึงเวลาต้องทยอยเปลี่ยนเป็นรถคันใหม่หากมีระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว แต่จากความเสี่ยงที่สูงทางการเมืองในปัจจุบัน อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศเมียนมา และทำให้การนำเข้ายังมีความจำเป็น

่เมียนมาเผชิญกับความเสี่ยงในหลายทาง โดยเฉพาะการที่ค่ายรถอาจพิจารณาชะลอการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตจากเหตุการณ์การทางการเมืองในปัจจุบัน ขณะที่การผลิตรถยนต์ในประเทศยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมารองรับต่อตลาดรถยนต์ที่กำลังขยายตัวได้ทันนั้น รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจเดิมจากโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแม้มูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเมียนมาจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มากนักเพียง 2% – 4% หรือส่งออกได้ 86.5 ถึง 88.5 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ส่งออกได้ 84.8 ล้านดอลลาร์ฯในปีที่แล้ว

ในระยะยาว หากสถานการณ์ดีขึ้น และนักลงทุนตัดสินใจเดินหน้าลงทุนขยายโรงงานประกอบรถยนต์ในเมียนมา คู่แข่งที่รถยนต์ส่งออกจากไทยต้องเผชิญในตลาดเมียนมาอย่างแท้จริง คือ รถยนต์ที่ประกอบเองในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันเมียนมาสนับสนุนการนำเข้าชิ้นส่วน SKD เพื่อไปประกอบในประเทศ และในอนาคตมีแผนจะสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศขึ้นด้วย ซึ่งในตอนนั้นไทยอาจได้อานิสงส์จากการเป็นฐานผ​ลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อส่งออกไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในเมียนมาที่กำลังขยายตัวขึ้น แต่ในทางตรงข้าม ย่อมทำให้การนำเข้ารถยนต์ทั้งคันในอนาคตจากไทยลดลงตามไปด้วย​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/AUTO-Indus-z3189.aspx

วิเคราะห์เศรษฐกิจ เมียนมา หลังรัฐประหาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย I กรุงเทพธุรกิจ

จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล

ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านดอลลาร์ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564 การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย

ในประเด็นการค้าชายแดนคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา

ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกะทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2564 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางไม่ราบรื่น

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 ทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เองศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-)0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท

ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และยังไม่สามารถกลับเข้าไทย ประกอบกับการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ

มาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921209

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx

มองเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ โอกาสของทุนไทย

โดย SME Social Planet I ธนาคารกรุงเทพ

ความเนื้อหอมของ ‘เวียดนาม’ ในประเด็นด้านการค้าและการลงทุน จากปัจจัยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจากเดิมที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2562 จากข้อมูล World Economic Outlook, October 2019 ซึ่งเทียบได้กับราว 44 % ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปี 2563 เศรษฐกิจเวียดนามที่คาดว่าจะขยายตัวแค่ 2.91% แต่เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวนั้นกลับสวนทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ติดลบ และยิ่งไปกว่านั้นมีการประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 6.5-7 ในปี 2564 เลยทีเดียว

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก (GDP) มีการเติบโตถึง 2.91% ในปี 2020 เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่ช่วงแรก โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง อาทิ

  1. มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน
  2. เวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก
  3. เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุน

ไทยมองการลงทุนเวียดนามอย่างไร

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำ ทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 17 ฉบับ ขณะเดียวกันเวียดนามให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่นๆ

นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อมตะวีเอ็น (AMATAV) กล่าวในมุมมองของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามว่า อมตะเชื่อในการเติบโตของเวียดนาม นั่นคือเหตุผลที่อมตะอยู่ในเวียดนามมานานกว่า 26 ปี และถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

เห็นได้ว่าทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันเอกชนที่เข้มแข็ง และตัวแทนเอกชนที่เป็นแนวหน้าไปลงทุนในเวียดนาม ต่างมีความเห็นที่น่าสนใจกับการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ภายใต้การที่เอเชียจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่หลังโควิด 19 รวมทั้งประเด็นการลดข้อจำกัดในการลงทุนต่างชาติ และการจูงใจนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้หากสามารถปรับแผนให้โครงการ EEC ของไทย เป็นศูนย์กลางในการกระจายการลงทุนในภูมิภาคได้ ก็จะยิ่งเกิดเป็นประโยชน์คู่ขนาดของสองชาติได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bangkokbanksme.com/en/look-vietnam-economy-opportunities-thai-capital

เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx

เวียดนามน่าจะยังคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ แม้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (Currency Manipulation) รอบล่าสุดที่เปิดเผยในเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุให้เวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เกณฑ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการแทรกแซงค่าเงินดองของเวียดนามที่ทางสหรัฐฯ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากยอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 5.1 ต่อ GDP[1] (สูงกว่าเกณฑ์ที่ร้อยละ 2.0 ต่อ GDP) นอกเหนือจาก 2 เกณฑ์หลักซึ่งได้แก่ มูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด

ค่าเงินดองที่อ่อนค่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้การส่งออกสินค้าต่างๆ ของเวียดนามที่มีความได้เปรียบในการผลิตอยู่แล้วมีแรงดึงดูดการลงทุนมากกว่าคู่แข่งประเทศอื่น ทำให้เวียดนามสามารถผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การที่เวียดนามได้ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาเรื่องบิดเบือนค่าเงิน จะมีผลให้การดำเนินการในการแทรกแซงค่าเงินในระยะข้างหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้ง เมื่อพิจารณาโครงสร้างดุลการชำระเงินที่น่าจะอยู่ในทิศทางเกินดุลสูง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศที่สูง อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) จำเป็นต้องทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้น (Revaluation) เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะถูกสหรัฐฯ ปรับใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติม

[1] เป็นการติดตามการแทรกแซงค่าเงินในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดก่อนการรายงาน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3172-Veitnam.aspx

วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

โดย ศรัณย์ กิจวศิน I THE STANDARD

เวียดนามถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เวียดนามอาจไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเวียดนามมากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการเวียดนามจะทยอยปรับค่าเงินดองให้สูงขึ้นในช่วง 5-7% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พบว่าเวียดนามกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริง 4.2-5.2% ในปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดองจะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามส่วนมากเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น

สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ทำให้เวียดนามสูญเสียความได้เปรียบในการทำตลาดส่งออก เนื่องจากหากค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางของเวียดนามที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศถึง 54% ของการนำเข้าทั้งหมด ประกอบกับโครงสร้างการผลิตที่เอื้อให้สินค้าเวียดนามมีต้นทุนต่ำ จึงน่าจะบริหารจัดการลดส่วนแบ่งกำไรลงบางส่วนเพื่อรักษาตลาดไว้ได้ ทำให้เวียดนามจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในด้านการผลิตและส่งออกไว้ได้อีกระยะหนึ่ง

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-export-not-effecting-united-states-currency/

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283